28 ส.ค. 2021 เวลา 05:58 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/64 จีดีพีขยายตัว-ส่งออกสูงสุดเท่าที่เคยเก็บข้อมูลมา แต่หนี้ครัวเรือนยังพุ่ง สถานการณ์ว่างงานยังน่าห่วง
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานสภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทย ในไตรมาส 2/2564 แม้ตัวเลขจีดีพีขยายตัว และการส่งออกสินค้าจะมีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดเก็บข้อมูล
แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังขาดดุลต่อเนื่อง หนี้ครัวเรือนยังเพิ่มขึ้น และสถานการณ์การว่างงานยังน่าห่วง โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
⚫ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสนี้ขยายตัว 7.5% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 2.6% ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY)
⚫ การบริโภคภาคเอกชน กลับมาขยายตัว 4.6% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน และปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ
⚫ การอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 1.1% ชะลอลงไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.1% โดยรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการลดลง 0.4% ขณะที่รายจ่ายค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) และการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงิน เพิ่มขึ้น 0.5% และ 11.6% ตามลำดับ
⚫ การลงทุนรวม ขยายตัว 8.1% เร่งขึ้นจาก 7.3% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 9.2% ภาครัฐเพิ่มขึ้น 5.6%
⚫ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 67,761 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สูงสุดเท่าที่มีการจัดเก็บข้อมูล) ขยายตัว 36.2% (สูงที่สุดในรอบ 44 ไตรมาส) มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์นั่ง (89.1%) รถกระบะ (190.5%) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (102.2%) ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (24.6%) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (37.6%) ผลิตภัณฑ์ยาง (40.0%) ยางพารา (97.3%) และมันสำปะหลัง (48.2%) เป็นต้น
⚫ สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ปลากระป๋องและปลาแปรรูป (ลดลง 26.3%) ข้าว (ลดลง 38.8%) และน้ำตาล (ลดลง 21.7%)
⚫ การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 58,048 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.8% สอดคล้องกับระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า
⚫ ดุลการค้าเกินดุล 9.7 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.05 แสนล้านบาท ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 5.2 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.64 แสนล้านบาท
⚫ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.4% เทียบกับเฉลี่ย -0.5% ในไตรมาสแรกของปี 2564
⚫ ดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 0.3% เทียบกับการลดลง 0.04% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคากลุ่มเครื่องประกอบอาหาร กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ และกลุ่มผักและผลไม้
⚫ ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 3.7% เทียบกับการลดลง 0.8% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามราคาหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร และหมวดพลังงาน ที่เพิ่มขึ้น 9.6% และ 22.5% ตามลำดับ
⚫ การว่างงานยังอยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของ COVID-19 โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.89% คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน แบ่งเป็นผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน (ผู้จบการศึกษาใหม่) 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้น 10.04% และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 4.4 แสนคน ลดลง 8.38%
⚫ ไตรมาส 1/2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วน 90.5% ต่อ GDP
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเลื่อนและพักชำระหนี้ ที่ทำให้ยอดหนี้คงค้างไม่ลดลง รวมทั้งครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น
⚫ สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.92% เพิ่มขึ้นจาก 2.84% ในไตรมาสก่อน และด้อยลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนเริ่มมีปัญหาในการหารายได้ หรือสถานะทางการเงินเปราะบางมากขึ้น
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาดที่สำคัญ ติดตาม TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการของ workpointTODAY ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
ติดต่อโฆษณา E-mail: advertorial@workpointnews.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา