28 ส.ค. 2021 เวลา 08:29 • ท่องเที่ยว
นั่งรถไฟไปนครปฐม .. พระประโทนเจดีย์
พระประโทณเจดีย์ … เป็นเจดีย์สมัยทวารวดี มีรูปแบบเดิมเป็นทรงโอคว่ำ ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระประโทณเจดีย์ จ.นครปฐม
1
ในอดีตถือว่าเป็นมหาธาตุสำคัญที่อยู่ใจกลางเมือง ไม่ได้อยู่นอกเมืองตามการเปลี่ยนแปลงการพลวัตผู้คนดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ด้วยภูมิประเทศที่ตั้งของพระประโทณแต่เดิมเป็นศูนย์กบางของอำนาจ การบริหาร มีเมืองท่าที่สำคัญคือเมืองนครชัยศรีที่ในอดีตสันนิษฐานว่าเป็นปากอ่าวออกทะเลได้ ส่วนองค์พระปฐมเจดีย์เป็นมหาธาตุที่อยู่นอกเมือของ
จากการขุดค้น .. ได้พบวัตถุโบราณจำนวนมากที่วัดแห่งนี้ เช่น พระพุทธรูป เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น พระดินเผา รวมทั้งโลหะสำริดรูปพญาครุฑเหยียบนาค ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงใช้เป็นเครื่องหมายราชการของพระองค์
ตำนานพระประโทนเจดีย์
เรื่องท้าวสิทธิชัยพรหมเทพ … เล่าเอาไว้ว่า พื้นที่อันเป็นที่ตั้งขององค์พระประโทนเจดีย์เคยเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านพราหมณ์จากอินเดีย และมีพราหมณ์คนสำคัญที่พำนักอยู่ที่นี่คือ โทณะพราหมณ์ ผู้ที่ทำหน้าที่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าไปยังเมืองต่างๆ และได้แอบขโมยพระทันตธาตุซุกไว้ที่มวยผม จนพระอินทร์แอบมาลักไปประดิษฐานในพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ขั้นดาวดึงส์
คำว่า โทณะ มีความหมายว่า ทะนาน หรือกระป๋องทะนานที่โทณะพราหมณ์ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุ .. ครั้นเมื่อทำการแบ่งปันเรียบร้อยแล้ว ก็ได้นำทะนานทองที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย โดยได้สร้างเรือนศิลาไว้สำหรับประดิษฐานทะนานทองนี้
ต่อมา พระเจ้าศรีสิทธิชัย ผู้ครองแผ่นดินนครปฐมโบราณ ได้มาขอทะนานทองจากพรหมณ์ แต่เมื่อพวกพราหมณ์ไม่ยอมให้ พระองค์จึงใช้กำลังแย่งชิงเอามาเพื่อใช้แลกกับพระบรมสารีริกธาตุจากกษัตริย์ลังกา เพื่อนำมาประดิษฐานไว้ที่องค์พระปฐมเจดีย์
ต่อมา พระเจ้ากากะวรรณดิศ ผู้ครองเมืองละโว้ ได้ทรงสร้างเจดีย์ครอบเรือนศิลาที่เคยประดิษฐานทะนานทองของตระกูลโทณะพราหมณ์ มีชื่อเรียกว่า “โทณะเจดีย์” หรือ “พระประโทนเจดีย์” ในเวลาต่อมา
1
ตำนานธรรมศาลา เรื่อง พญากง พญาพาน … พญาพานสร้างพระประโทนเจดีย์เพื่อไถ่บาปที่ได้ทำปิตุฆาต และฆ่ายายหอมผู้เลี้ยงดูมา จึงได้สร้างโรงธรรมขนาดใหญ่ที่ตำบลธรรมศาลา และนิมนต์พระสงฆ์ทาเพื่อบำเพ็ญกุศล พระสงฆ์แนะนำให้พญาพานสร้างวัดและมหาเจดีย์ ซึ่งพญาพานเห็นด้วย และได้อุทิศโรงทานให้พระสงฆ์ใช้แสดงธรรมต่อไป
1
พระมหาธาตุกลางเมือง องค์แรกของประเทศไทย
จากแผนที่โบราณจะพบว่า บริเวณอันเป็นที่ตั้งของพระประโทนเจดีย์เป็นพื้นที่ทีมีแม่น้ำล้อมรอบ และยังมีแม่น้ำที่สามารถออกสู่ทะเลได้ … จึงอาจจะประมวลได้ว่า พื้นที่นี้เคยเป็นศูนย์กลางของเมืองและความเจริญในสมัยโบราณ มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ รวมถึงชาวตะวันตกมาตั้งแต่ครั้งอดีต ซึ่งจะมีหลักฐานจากการพบรูปปูนปั้นของบุคคลที่มีลักษณะที่แตกต่างจากคนในภูมิภาคนี้ เช่น ลักษณะของทรงผม การโพกศีรษะ เป็นต้น
ครั้งเมื่อพระมหากษัตริย์ของกรุงรัตนโกสินทร์เริ่มสนใจเมืองนครปฐม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลงรัชกาลที่ 6 ได้ทรงสร้าง “พระราชวังสนามจันทร์” … ศูนย์กลางของเมืองจึงเริ่มเปลี่ยนมาเป็นสถานที่รอบๆพระราชวังฯ และพระปฐมเจดีย์แทน
การบูรณะ
“พระประโทณเจดีย์” ... เป็นสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่ที่มีขนาดใกล้เคียงกับพระปฐมเจดีย์ (ก่อนมีสร้างเจดีย์ทรงระฆังใหญ่ครอบทับในช่วงรัชกาลที่ 4 ) มีฐานแผนผังรูปจัตุรัส กว้างยาวประมาณ 40 * 40 เมตร ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองโบราณรูปวงกลม ตามคติความเชื่อเรื่องพระมหาธาตุกลางนครของนิกายเถรวาท หรือ “คณะมหาวิหาร” เมืองอนุราธปุระ จากลังกา
1
ทั้งพระปฐมเจดีย์และพระประโทนถูกทอดทิ้งไว้หลายร้อยปี มีสภาพเป็นเนินดินทับถมรกร้าง … จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ ได้ธุดงค์ไปพบเข้า จึงกราบทูลรัชกาลที่ 3 แต่พระองค์ไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์อะไรหากจะปฏิสังขรณ์ขึ้นมา จนพระองค์ครองราชย์จึงได้บูรณะ
1
ในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จึงได้มีการรื้อฟื้นวัดพระประโทณเจดีย์ขึ้นใหม่ ได้ขุดพบโบราณวัตถุในสมัยทราวดีเป็นจำนวนมากรอบ ๆ พื้นที่ เช่น พระพุทธรูป เบ้าหลอมเครื่องประดับ รูปปูนปั้น ศีรษะบุคคล หัวยักษ์ หัวสัตว์ เศียรพระพุทธรูป ฯลฯ โบราณวัตถุเหล่านี้บางส่วนได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์
ในปี พ.ศ. 2550 กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เนินดินพระประโทณเจดีย์ ซึ่งภายหลังการขุดแต่งเนินดินทับถมออกทั้งหมด จึงรู้ว่าภายในของเนินดินพระประโทณเจดีย์โบราณนั้น เป็นฐานเจดีย์ยกเก็จ 8 กะเปาะ ทำบันไดขึ้นตรงเก็จกลางที่ยกขึ้นสูงกลางเก็จมุมทั้ง 4 ด้าน มีชุดฐาน “เวทีพันธะ – อธิษฺฐานะ” 2 ชั้น มี “บัววลัย” (Bua Valai) และขื่อปลอมคั่นเป็นองค์ประกอบ ตามรูปแบบของสถูปเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียเหนือ
พระประโทณเจดีย์ ตั้งอยู่กลางวัดเป็นเนินใหญ่ ... อยู่บนพื้นฐานสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐ โดยอิฐที่ก่อเป็นฐานรอบเนินนี้ เป็นของก่อขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพื่อกันดินพัง ไม่ใช่ของที่สร้างไว้แต่เดิม
บนยอดเนินมีพระปรางค์อยู่องค์หนึ่ง ทรวดทรงเตี้ยกว่าองค์ที่สร้างบนยอดเนินพระปฐมเจดีย์ บนพื้นฐานเป็นลานกว้างมีต้นไม้ขึ้นร่มรื่นและเดินไปได้โดยรอบ ที่เนินพระปรางค์มีบันใดสูงขึ้นไปยังองค์พระปรางค์ซึ่งอยู่บนยอดเนิน สูงจากพื้นดินประมาณ ๒๐ เมตร เมื่อขึ้นบันไดไปข้างบนสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของจังหวัดนครปฐมได้โดยรอบ
พระปรางค์ด้านบน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยพระราชเจติยาภิบาล เจ้าอาวาสคนปัจจุบัน โดยเสริมฐานของพระปรางค์ขึ้นใหม่ ทำทางขึ้นและเทปูนฉาบผนังและทำระเบียงขึ้นด้านบน รวมทั้งทำผนังด้านฐาน รื้ออิฐและเศษปูนมาถม เทปูนทำเขื่อนเป็นฐานประทักษิณขึ้นใหม่โดยรอบเนินดินพระเจดีย์โบราณ
ฐานล่างของพระปรางค์ด้านบน และใบเสมาหินทรายแดงแบบสุพรรณภูมิ อาจได้แสดงว่า ในช่วงราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ได้มีการสร้างพระเจดีย์ 8 เหลี่ยม ตามสถาปัตยกรรมแบบรัฐสุพรรณภูมิขึ้นบนยอดเนินร้างของตัวองค์สถูปเดิมที่พังทลาย
ต่อมาในช่วงอยุธยาตอนปลาย ยังได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ โดยสร้างพระปรางค์เข้าแทนที่องค์ระฆังที่อาจพังทลายลงมา โดยยังคงใช้ฐาน 8 เหลี่ยมของพระเจดีย์จากยุคสุพรรณภูมิอยู่
อนุสาวรีย์กลางแจ้ง พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้จากศิลปะของโบราณวัตถุที่ขุดได้ภายในวัดพระประโทณเจดีย์ ...
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ โดยท่านพระครูสมถกิตติคุณ (ชุ่ม) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระประโทณเจดีย์ ได้สร้างเจดีย์ขนาดเล็กองค์หนึ่งด้านหน้าเขตสังฆาวาส
.. โดยนำโบราณวัตถุ ศิวลึงค์ พระพุทธรูป ศีรษะปูนปั้น เศียรพระ ลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์ ใบเสมาอยุธยาและวัตถุโบราณที่ขุดได้โดยรอบวัดพระประโทณเจดีย์มาฝังผนังปูนซีเมนต์ไว้ อีกทั้งยังมีถ้วยชามสังคโลกติดผนังเจดีย์ไว้ด้านใน เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาทางประวัติศาสตร์ทวราวดี
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา