29 ส.ค. 2021 เวลา 03:31 • ปรัชญา
"เมื่อโจรอยู่บ้าน เขายังเป็นโจรอยู่ไหม"
หากใครติดตามข่าวของ ผกก คนดังในช่วงที่ผ่านมา ก็คงจะเห็นบทสัมภาษณ์ของเพื่อนสาวคนสนิทที่ได้กล่าวถึง ผกก คนดังกล่าวว่า "เป็นคนที่ใสซื่อมาก จนไม่น่าเชื่อว่าจะใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้" ซึ่งเมื่อเอามาเปรียบเทียบกับการกระทำที่เห็นเป็นข่าวแล้ว หลายคนก็คงยากที่จะเชื่อว่าสิ่งที่เพื่อนสาวคนนั้นให้สัมภาษณ์นั้นจะเป็นจริง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันก็มีโอกาสที่จะเป็นอย่างที่เพื่อนสาวได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ก็ได้ครับด้วยความเป็นไปได้สองอย่าง
กรณีแรกคือ เพื่อนสาวมอง ผกก แต่ด้านดีอย่างเดียว ทางจิตวิทยาเรียกว่า Idealization ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ เราทุกคนก็จะต้องเคยเป็นลักษณะนี้เหมือนกัน ที่มองคนที่เรารัก เราชอบ หรือเห็นว่าคนคนนั้นมีคุณค่ามีความสำคัญ เราจะมองข้ามเรื่องแย่ ๆ ของเขาไปจนหมดและเหลือไว้เพียงแต่ภาพจำที่ดี ๆ จนทำให้มองว่าเขาเป็นคนดี
เหมือนที่เราเห็นตามหน้าข่าวหลาย ๆ ครั้งครับที่บทสัมภาษณ์ของผู้ปกครอง คนสนิท หรือคนที่ใกล้ชิดของผู้ที่กระทำความผิดจะไม่เชื่อว่าคนที่เขารักนั้นได้กระทำความผิดนั้นจริง ๆ และเกิดข้ออ้างทำนองว่า "ลูกฉันเป็นคนดี" เพื่อหักล้างผลของการกระทำที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว - ซึ่งอันนี้ถ้าให้พูดตามตรงก็คือเป็นอคติของคนที่มีให้กับคนที่เรารักล้วน ๆ ครับ
หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือ ตัวตนของเขาที่อยู่กับที่บ้าน กับตัวตนของเขาในตอนที่กระทำความผิดเป็นคนละตัวตนกัน ซึ่งก็เป็นตามคำถามที่พาดหัวเอาไว้ครับ และเขาไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคหลายบุคลิค (Multiple personality disorder : MPD) ด้วย เอาจริง ๆ แล้วพวกเราทุกคนก็เคยเป็นลักษณะนี้กันด้วยกันทุกคนครับเพียงแต่ว่าจะเป็นมากหรือเป็นน้อย รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง
การที่คนเราเปลี่ยนบุคลิกไปตามสถานการณ์หรือสังคมนั้นเรียกว่า Social-induced behaviorization ครับ อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดคือเราสามารถเปลี่ยนบุคลิกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เรากำลังเจอ หรือสังคมที่เรากำลังอยู่ เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุข ซึ่งความสุขที่ว่านี้หมายรวมถึง การมีสุขภาพจิตที่ดี และการได้ในสิ่งที่ต้องการควบคู่กัน
การเรียนรู้พฤติกรรมและสร้างบุคลิกของคนนั้นเกิดจากการเข้าสังคม (เรียกว่า Socialization) ครับซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้น
ขั้นแรกคือการเรียนรู้ระดับเบื้องต้น (Primary socialization) อันนี้จะเกิดในวัยเด็กซึ่งสำคัญมาก เพราะการเรียนรู้ในขั้นนี้จะเป็นการกำหนดตัวตนของเราไปตลอดชีวิต เช่น นิสัยที่จะติดตัวไปจนตาย (จะเรียกว่าสันดานก็ได้) ความชอบหรือพฤติกรรมติดตัวที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ง่าย เช่น การพูดจาเสียงดัง ความเป็นคนหัวร้อน ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ การเป็นคนไม่ชอบกินเผ็ด การเป็นคนกลัวผี ฯลฯ
ซึ่งคนที่จะเป็นคนกำหนดสิ่งเหล่านี้ก็คือ คนที่ใกล้ชิดและเลี้ยงดูเด็กขึ้นมาครับ หลัก ๆ ก็คือพ่อแม่ แต่กับเด็กบางคนก็อาจจะเป็นพี่เลี้ยง ญาติที่เป็นคนเลี้ยงดูขึ้นมา หรือแม้แต่เพื่อน ขึ้นกับว่าเด็กคนนั้นโตขึ้นมาโดยใกล้ชิดกับคนไหน และเขาจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ บนโลกผ่านคนคนนั้นและซึมซับว่า อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ อะไรผิดอะไรถูก และเอามาประมวลเป็นตัวตนของเด็กคนนั้น เราจึงมักจะเห็นว่าคนในครอบครัวเดียวกันมักจะมีบุคลิกภาพที่คล้าย ๆ กัน เช่น พูดจาโผงผางเสียงดังทั้งบ้าน ขี้โมโหทั้งบ้าน ขี้เหนียวทั้งบ้าน เป็นต้น - ดังสำนวนไทยที่ว่า ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น นั่นแหละ
แต่เมื่อโตขึ้นมาอีกหน่อย คนเราจะมีการเรียนรู้บุคลิกภาพระดับสูงขึ้นมาและสร้างเป็นตัวตนที่สองครับ เรียกขั้นตอนนี้ว่า Secondary socialization จะเกิดขึ้นเมื่อเราต้องออกไปชีวิตนอกบ้าน เช่น ออกไปโรงเรียน ออกไปทำงาน ซึ่งในขั้นตอนนี้เองคนเราจะได้รู้ความชอบของตัวเองและสร้างบุคลิกภาพที่เข้ากันกับความชอบนั้น เช่น ชอบกีฬา ชอบอ่านหนังสือ ชอบซุบซิบนินทาชาวบ้าน ชอบการมีหน้ามีตาในสังคม ทำนองนี้
และในระหว่างการเรียนรู้ตัวตนในระดับนี้นั้น เราจะมีการปรับบุคลิกให้เข้ากับคนอื่น ๆ ในกลุ่มที่่มีความชอบเหมือน ๆ กันไปด้วย เพื่อให้เกิดความกลมกลืนและใช้ชีวิตอยู่ในกลุ่มได้โดยสะดวก ซึ่งบุคลิกใหม่นี้เองที่อาจจะแตกต่างจากตัวตนของเราตอนที่อยู่บ้านแบบคนละขั้วไปเลยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งโตมาในครอบครัวที่ธรรมะธัมโม อยู่ที่บ้านเป็นเด็กสุภาพเรียบร้อย แต่เมื่อมาอยู่โรงเรียนก็ค้นพบตัวตนว่าตัวเองชอบความรุนแรง เขาจึงเข้าไปอยู่ในกลุ่มของเด็กอันธพาลและเรียนรู้บุคลิกในการเป็นอันธพาล ดังนั้น ตัวตนของเขาตอนอยู่บ้านกับตัวตนของเขาตอนอยู่ที่โรงเรียนก็จะต่างกันโดยสิ้นเชิง
จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงมักจะเห็นข่าวว่าคนใกล้ชิดของผู้กระทำผิดไม่เชื่อว่าเขาจะทำเช่นนั้นได้ นั่นเป็นเพราะเขาไม่เคยเห็นตัวตนของคนที่เขารักตอนอยู่นอกบ้านมาก่อนนั่นเองครับ
ตอนโจรนอนอยู่ในบ้าน เขาอาจเป็นพ่อที่น่าเคารพของลูก ๆ เป็นสามีที่น่ารักของภรรยา ก็อาจจะเป็นไปได้นะ
โฆษณา