29 ส.ค. 2021 เวลา 12:16 • ประวัติศาสตร์
สาวเมืองเพชรบุรี กับ กวีนักรักผู้ยิ่งใหญ่
ครั้งหนึ่งสุนทรภู่มีคนรักเป็นสาวเมืองเพชร
สุนทรภู่เป็นกวีที่มีช่วงชีวิตอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ ท่านเป็นสามัญชน แต่มีชีวิตที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับราชสำนักตั้งแต่ยังเด็ก
ชื่อ สุนทรภู่ เป็นชื่อที่คนทั่วไปเรียกกวีท่านนี้ โดยนำคำ สุนทร จากบรรดาศักดิ์ "ขุนสุนทรโวหาร" "หลวงสุนทรโวหาร" และ "พระสุนทรโวหาร" ที่ท่านได้รับพระราชทานในรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๔ มารวมกับคำว่า ภู่ ซึ่งเป็นชื่อเดิม และเรียกมาแต่ครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่
สุนทรภู่เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้นค่ำ ๑ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘ เวลาเช้า ๘ นาฬิกา ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ ที่บ้านริมคลองบางกอกน้อย ธนบุรี ใกล้บริเวณพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ของ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือกรมพระราชวังหลังในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ปัจจุบันสถานที่บริเวณพระราชวังหลัง คือ บริเวณที่เป็นสถานีรถไฟบางกอกน้อย โรงพยาบาลศิริราช และบริเวณใกล้เคียง)
ในนิราศเมืองเพชรฉบับสมุดไทย ทำให้ทราบว่า บรรพบุรุษของสุนทรภู่อยู่ในสกุลพราหมณ์ เมืองเพชรบุรี แม่ของสุนทรภู่เป็นคนเมืองเพชรและเป็นญาติกับหม่อมบุนนาก
แม่ของสุนทรภู่ เป็นแม่นมพระธิดาในพระราชวังหลัง หม่อมบุนนากเป็นญาติสนิทกับมารดาท่าน การที่มารดาท่านมาเป็นแม่นมอยู่ในวังหลัง ก็เพราะหม่อมบุนนากพามาสนับสนุนให้เป็นแม่นม
สุนทรภู่เกิดเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ๔ ปี และในปีที่สุนทรภู่เกิด
พ่อของท่านได้เดินทางไปบวชที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง (อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิม และบวชอยู่ตลอดชีวิต ขณะที่บวชก็ได้เป็นเจ้าอาวาส วัดป่าบ้านกร่ำ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอารัญธรรมรังสี
ส่วนแม่ของท่านได้เข้าไปเป็นพระนม ของพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจงกล พระธิดาในกรมพระราชวังหลัง
ชีวิตวัยหนุ่ม สุนทรภู่มีใจรักด้านกาพย์กลอน อาจเนื่องมาจาก ในวัยเด็กได้ซึมซับประสบการณ์ เกี่ยวกับวรรณกรรม และศิลปะการแสดงต่างๆ ที่เล่นกัน ในพระราชวังหลัง เช่น การขับขานวรรณคดี การขับเสภา การเล่นสักวา การละครฟ้อนรำ การบรรเลงมโหรีปี่พาทย์ รวมทั้ง เมื่อเติบโตขึ้นได้รับการถ่ายทอดวิชาวรรณคดี และการประพันธ์จากพระภิกษุ ที่เป็นอาจารย์ สุนทรภู่ใฝ่ใจศึกษา และเพิ่มพูนประสบการณ์ในการประพันธ์ โดยรับจ้างแต่งเพลงยาวและบทดอกสร้อยสักวา คงเป็นเพราะลีลากลอนที่มีลักษณะเฉพาะตัวและคารมที่คมคาย จึงทำให้สุนทรภู่เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกวี และมีชื่อเสียงมากขึ้น เมื่อแต่งวรรณกรรมเรื่องยาว คือ นิทานคำกลอนเรื่อง โคบุตร ถวายเจ้านายในพระราชวังหลัง เมื่ออายุได้เพียง ๒๐ ปี
ขณะที่ด้านการงานเริ่มมีชื่อเสียง แต่ด้านชีวิตส่วนตัวของสุนทรภู่กลับมีอุปสรรค เนื่องจาก ไปมีความสัมพันธ์กับนางข้าหลวงในพระราชวังหลังชื่อ จัน และได้ล่วงรู้ไปถึงพระกรรณ ของกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่และแม่จันจึงถูกนำตัวไปจองจำไว้ ครั้น พ.ศ. ๒๓๕๐ เมื่อพ้นโทษแล้ว สุนทรภู่ได้เดินทางไปเยี่ยมบิดาที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง ก็ได้แต่งนิราศเรื่องแรกคือ นิราศเมืองแกลง
อยู่เมืองแกลงได้สักเดือนเศษ สุนทรภู่ได้เดินทางกลับบางกอกและได้เดินทางต่อไปเมืองเพชรบุรีไปอยู่กับหม่อมบุนนาก ระหว่างอยู่ที่เมืองเพชรบุรี สุนทรภู่ได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลจากหม่อมบุนนากในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งได้กลับมาอยู่เพชรบุรี ภายหลังจากที่กรมพระราชวังหลังทิวงคตแล้ว โดยช่วยหม่อมบุนนากทำนาทำไร่
“-- ช่วงนี้แหละที่มีรักกับสาวเมืองเพชร –“
สุนทรภู่อยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์
"แต่เดือนสี่ปีระกานิราร้าง ไปอยู่บางกอกไกลกันใจหาย"
อยู่เมืองเพชรบุรีได้สักระยะหนึ่งก็กลับบางกอก
ก่อนเดินทางกลับบางกอก ก็ไปวอนขอท่านยายชื่อคำให้พาไปที่บ้านเก่า ซึ่งเป็นบ้านประตูไม้ไผ่ อันเป็นบ้านของ พราหมณ์รามราช โคตรญาติฝ่ายมารดาของท่าน ยังมีหลักฐานสำคัญคือศาลพระศิวะ เสาชิงช้าคงอยู่ ท่านบอกว่าบ้านพราหมณ์รามราช โคตรญาติฝ่ายมารดาของท่านนั้น เกิด “บ้านแตกสาแหรกขาด” เพราะกรุงแตก แยกย้ายพลัดพรากกัน กลุ่มมารดาของท่านแตกจากเพชรบุรีเข้าบางกอก แล้วไม่ได้กลับไปเมืองเพชรอีกเลย แม้กระนั้นก็สืบได้ว่าญาติทางฝ่ายมารดาของท่านยังหลงเหลืออยู่ที่เพชรบุรีไม่น้อยเหมือนกัน
ช่วงชีวิตที่รุ่งเรืองในรัชกาลที่ ๒
ชีวิตของสุนทรภู่เริ่มรุ่งเรือง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ ทั้งนี้ คงเนื่องมาจากชื่อเสียง และผลงานประพันธ์ของสุนทรภู่ ได้แพร่หลายไปยังราชสำนัก เช่น เรื่อง ลักษณวงศ์ ซึ่งแต่งก่อนที่จะเข้ารับราชการ เมื่อเข้ารับราชการแล้ว สุนทรภู่ได้แสดงความสามารถในเชิงกลอน จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยหลายครั้ง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต และ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ชีวิตราชการของสุนทรภู่ในฐานะกวี ที่ทรงปรึกษาก็สิ้นสุดลง สุนทรภู่ออกจากราชการและออกบวช ด้วยเห็นว่าตนไม่มีที่พึ่ง อีกประการหนึ่งนั้น สุนทรภู่คงจะเกรง "ราชภัย" จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสาเหตุคงเนื่องมาจาก สุนทรภู่เคยท้วงติง และแก้กลอนพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในที่ประชุมกวีราชสำนัก จนทำให้ไม่พอพระราชหฤทัย กล่าวคือ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครในเรื่อง อิเหนา ตอนบุษบาเล่นธาร และบทละครนอกเรื่อง สังข์ทอง ตอนเลือกคู่ ตามที่ทรงได้รับมอบหมาย สุนทรภู่ได้ทักท้วงบทพระราชนิพนธ์ เหตุการณ์ครั้งนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ ประวัติสุนทรภู่
และใน พ.ศ. ๒๓๗๔ สุนทรภู่ได้เดินทางไปเมืองเพชรบุรีอีกครั้งตามรับสั่งของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ และได้แต่งนิราศเมืองเพชร ซึ่งนิราศเมืองเพชรนี้แต่งหลังจากที่ท่านได้มาอยู่เมืองเพชรกับหม่อมบุนนากครั้งนั้น การกลับมาในเมืองเพชรครั้งนี้ของท่านทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ในสมัยหนุ่มวัยฉกรรจ์ของท่านที่มาอยู่เมืองเพชร ท่านมีเพื่อนพ้อง มีญาติ มีคนรัก และครั้งหนึ่งได้มาพักอยู่ในถ้ำแห่งนี้ มีหญิงชื่อจันมาพักอยู่กับท่านในถ้ำนี้
สาวเมืองเพชรในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่สาวน้อยคนหนึ่งชื่อ "ลูกจัน" ที่สร้างความหลังกับสุนทรภู่ไว้ใน "นิราศเมืองเพชร"
"แล้วเดินดูภูผาศิลาเลื่อม
บ้างงอกเงื้อมเงาระยับสลับสี
เป็นห้องน้อยรอยหนังสือลายมือมี
คิดถึงปีเมื่อเป็นบ้าเคยมานอน
ชมลูกจันกลั่นกลิ่นระรินรื่น
จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเป็นหมอน
เห็นห้องหินศิลาน่าอาวรณ์
เคยกล่าวกลอนกล่อมช้าโอ้ชาตรี"
หลังจากนั้นท่านจากไปบางกอกแล้วเข้ารับราชการจนขาดการติดต่อกับจันคนนี้ ครั้นกลับมาคราวนี้ (ถัดมาอีกประมาณ20กว่าปี)
เห็นถ้ำที่เคยนอนคู่กับจันแล้วน้ำตาไหลพรากไม่รู้ว่า “เพื่อนยากยังไม่เห็นเป็นไฉน จะไปเรือนเยือนเยี่ยมก็เจียมใจ ขอสั่งไว้เถิดถ้ำที่ช้ำทรวง”
วันที่ท่านกลับมาเมืองเพชรอีกที จันเพื่อนยากก็ยังอยู่ในเมืองเพชร และได้เห็นทีว่าเธอมีครอบครัวไปแล้ว จึงไม่กล้าไปเยี่ยม ได้แต่สั่งความฝากถ้ำไว้ คำฝากความตรงนี้ เขียนไว้ว่า
“....เขาช่วยเล่าเถิดว่าเขาไม่ล่อลวง
แต่เขาหวงเขาห้ามต้องขามใจ”
และคงเป็นด้วยเหตุนี้ “น้องอิน” คนโปรดที่เคยฝากรอยเล็บไว้ให้คราวอยู่บ้านขุนแพ่ง จึงได้โกรธถึงขั้นเกลียดไม่ยอมมองหน้า
แลพเราก็ได้รู้อีกว่าสาวเมืองเพชรนั้น ไม่มีแค่คนเดียวแน่นอน
ช่วงชีวิตในรัชกาลที่ ๔
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอิสริยยศเทียบเท่าพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปประทับ ที่พระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สุนทรภู่เข้ารับราชการเป็น เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร ชีวิตของสุนทรภู่จึงรุ่งเรือง และมีความสุขอีกครั้งหนึ่ง เมื่ออายุ ๖๖ ปี
ทั้งนี้ รัฐบาลกำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสุนทรภู่ กวีเอกแห่งยุครัตนโกสินทร์ ซึ่ง อบต.ธงชัย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริม ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของท้องถิ่น โดยการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านวรรณกรรม "นิราศเมืองเพชร" จึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชน และเยาวชน เห็นคุณค่าของวรรณกรรม ตลอดจนภูมิปัญญาทางภาษาของบรรพบุรุษที่ได้สร้างสรรค์ผลงานไว้ ภายในงานจัดให้มีกิจกรรมการประกวดวาดภาพตามจินตนาการ การประกวดอ่านกลอนทำนองเสนาะ การแสดงศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น กิจกรรมเก๋าชวนรวย นิทรรศการแสดงภาพถ่ายเขาหลวง และการเสวนาเรื่อง "ตามรอยสุนทรภู่สู่ถ้ำจัน"
ถ้าจัน
โดยนายทองใบ แท่นมณี ประธานชมรมนักกลอนเมืองเพชร นางนงลักษณ์ ทองล้วน สมาชิกชมรมนักกลอนเมืองเพชร นายทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ ประธานดำเนินกิจกรรมโครงการวันสุนทรภู่วัดพลับพลาชัย และนายจตุพร บุญประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นผู้ร่วมเสวนา
ถ้ำจัน
สำหรับถ้ำจันตั้งอยู่บนเขาหลวง แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี เป็นถ้ำที่มีความสวยงามไม่แพ้ถ้ำเขาหลวง มีลักษณะเป็นที่รโหฐานกว้างใหญ่ ปกคลุมไปด้วยแมกไม้ขึ้นสลับบนชั้นเชิง บนเชิงผา มีถ้ำเล็กถ้ำน้อยเป็นคูหาแยกย่อยออกไปอีกทั้งซ้ายขวา อีกทั้งมีหินงอกหินย้อยตามธรรมชาติที่ลดหลั่นกันเหมือนเตียงตั่งอันวิจิตรอย่างสวยงาม นอกจากนี้ภายในถ้ำยังมีต้นจันขนาดใหญ่ อายุหลายร้อยปีหลายคนโอบ ยืนต้นตระหง่านแผ่กิ่งก้านเป็นร่มฉัตรเหนือปล่องถ้ำ ทอดเงาพอให้แสงรอดลงมากระทบพื้นดินอีกด้วย
โฆษณา