29 ส.ค. 2021 เวลา 13:23 • ประวัติศาสตร์
นายสังผักบุ้ง
เอนก นาวิกมูล เขียนค่ำ 18.45 น.เสาร์28 สิงหาคม2564
เรื่องนายสังบังอาจเก็บภาษีผักบุ้งทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเกิดเมื่อกลางสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ หรือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ
พ.ศ.2305 หรือเมื่อ 259 ปีมาแล้วนับจากปี2564
ไม่มีกล่าวในพระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์วัดโพธิ์และฉบับอื่นๆที่เราเห็นกันทั่วไป
กลับไปมีในฉบับปลีก ซึ่งหาอ่านยากมาก
เคยพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2487 กับ 2539 แค่สองหนแต่ก็ไม่แพร่หลาย ตัวผมเองก็ไม่เคยเห็น เพิ่งมาเห็น หรือเพิ่งรู้ว่ามีฉบับความแปลกเอาเมื่อไม่นานนี้เอง
รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ เป็นผู้เขียนผู้ชำระ ใช้ชื่อหนังสือว่า “ประวัติศาสตร์อยุธยาจากพระราชพงศาวดาร”
สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี จัดพิมพ์แค่ 800 เล่มเมื่อ พ.ศ. 2562 ปกสีฟ้า
เรื่องนายสังไม่ใช่จะไม่เคยอ่านมาก่อน เคย...แต่มันไปแทรกอยู่ในหนังสือหนังสือตำนานเรื่องละครอิเหนา
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแต่งถวายพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีคราวฉลองพระชันษาแซยิด พ.ศ. 2464
ทรงพูดถึงนายสัง แต่ไม่ระบุว่าได้ความมาจากพงศวดารฉบับไหน (คงมาจากฉบับปลีกนี้แหละ)
เนื้อหาบางตอนทรงตัดทิ้ง บางตอนก็อธิบายเพิ่มเติมให้เข้าใจลุล่วง
เพื่อความสะดวก ผมจะนำข้อความจากเอกสารทั้งสองฉบับมาเรียงใหม่ให้อ่านง่ายยิ่งขึ้น
พงศ.ปลีกไม่บอกว่าเหตุการณ์เกิดเมื่อใด สมเด็จฯทรงอ้างปูมโหรว่าเกิดเหตุเมื่อปีมะเมียพ.ศ 2305
วิธีเก็บภาษีผักบุ้ง คือใครปลูกผักบุ้งต้องเสียภาษีตามขนาดแพให้เจ้าภาษี
ในครั้งนั้น นายสัง มหาดเล็ก​ ชาวบ้านคลองพุจาม หรือคูจาม เอาน้องสาว 2 คนชื่อฟัก กับปาน ไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระเจ้าแผ่นดิน
 
คนพี่ชื่อ หม่อมฟักนั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงพระเสน่หายิ่งนัก โปรดให้เป็นพระสนมเอก
เมื่อนายสังได้ใกล้ชิดกับพระเจ้าแผ่นดินแล้วก็ชักกำเริบ
จะว่ากล่าวอะไรก็ไม่มีผู้ใดกล้าล่วงเกิน
 
เวลาสมเด็จพระเจ้าเอกทัศเสด็จจะออกว่าราชการ มีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเข้าไปเตรียมเฝ้ารออยู่ นายสังก็แกล้งแหวกพระสูตร(ม่าน)ออก พวกขุนนางเฝ้าก็ถวายบังคมเก้อเปล่าๆ​ เพราะยังหาเสด็จออกจริงๆไม่
ทำแบบนี้เนืองๆ ขุนนางข้าราชการน้อยใจไม่รู้ที่จะคิดประการใด
ต่อมานายสังก็คิดประพฤติพาลให้ผิดประเพณี โดยทำภาษีผักบุ้งขึ้น
ให้ราษฎรเก็บผักบุ้งส่งแต่เจ้าภาษีผู้เดียว แล้วเจ้าภาษีซึ่งซื้อผักบุ้งแบบกดราคาด้วย ก็เอาผักบุ้งไปขายต่อในราคาที่แพงขึ้น
ใครลักลอบเอาผักบุ้งไปขายให้คนอื่น จับได้ให้ปรับไหมเป็นเงิน 5 ตำลึง หรือ 20 บาท
ชาวบ้านจะเก็บผักบุ้งก็กลัว ลือไปทั้งกรุง
ฝ่ายข้างมารดานายสังก็ใช่ย่อย ได้จัดซื้อข้าวเปลือกทุกอำเภอมาขึ้นฉางไว้ และป่าวร้องราษฎรให้มาซื้อข้าวในฉางของตัวเองไปบริโภค
ราษฎรประมาณ 19-20 คนรวมตัวกันไปร้องอัครมหาเสนาหลายครั้ง ท่านอัครมหาเสนาก็จนใจ ไม่กล้ากราบทูล
จนถึงวาระหนึ่งสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ไม่สบายพระทัย นอนไม่หลับทั้งกลางวันกลางคืนต่อเนื่องกันหลายเพลา
ทรงมีรับสั่งให้อัครมหาเสนาผู้ใหญ่เอาละครมาเล่นหน้าพระที่นั่ง จะทอดพระเนตรให้สบายพระทัยสักหน่อยหนึ่ง
ปลูกโรงเสร็จถึงเพลา​ ย่ำฆ้องรุ่ง​ ละครก็เริ่มโหมโรง สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จทอดพระเนตร​ ก็พอสบายพระราชหฤทัยขึ้นบ้าง
เพลาบ่ายสองโมงสามโมง นายแทน กับนายมี จำอวดสองคน เล่นเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง เล่นเป็นผู้ชายคนหนึ่ง
นายแทนเล่นเป็นชาย ขู่นายมีผู้หญิง เร่งเอาเงินค่าผูกคอ(จากการต้องโทษอะไรสักอย่าง)
นายมีผู้หญิงพูดว่า
“จะเอาเงินมาแต่ไหนให้เล่า จนจะตายอยู่แล้ว แม้แต่เก็บผักบุ้งขายก็ยังมีภาษี”
สองคนทำท่าดึงชักผลักไสกันไปมา แล้วแสดงซ้ำแบบนี้อีกถึงสองหนสามหน
สมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงฟังแล้วหลากพระทัย จึงโปรดให้ไต่สวนจำอวดทั้งสองคนนั้น
พอทราบเรื่องก็ทรงพระพิโรธ
สั่งให้เลิกละคร และกริ้วข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นอันมาก ว่านิ่งเสียมิได้เพ็ดทูลให้รู้ ข้าราชการก็รับสารภาพผิด
ส่วนนายสัง​ ถึงจะถวายเงินภาษีได้ถึง 400 ชั่งเศษในชั่วเวลาแค่​ 3 เดือนก็ไม่พ้นผิด
ตรัสสั่งให้ประหารชีวิตเสีย​ กับ ให้เอาแม่นายสังไปขึ้นขาหยั่งประจานไว้ ณ ประตูข้าวเปลือก 3 วัน
แล้วให้เจ้าพระยาพลเทพ เจ้าพระยายมราช ชำระเงินคืนให้ราษฎรให้ทั่ว
พงศ.ฉบับปลีกเขียนต่อว่าต่อมานายสังสอดหนังสือลับให้มอญรับจ้างเอาไปส่งพม่า...ทำนองจะเป็นไส้ศึก
อ้าวทำไมนายสังยังไม่ตาย ?
ตรงนี้สมเด็จฯทรงเขียนว่า เดิมทีที่มีรับสั่งให้ประหารชีวิตนั้น เมื่อคลายพิโรธแล้วก็ให้งดโทษประหารชีวิตไว้
นายสังก็เลยได้ทีทำชั่วอีก....
คนทุจริตคิดเลวๆอย่างนายสังในแผ่นดินเรานั้นน่าจะมีเป็นระยะๆ
มีจนถึงวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัย.....ในสมัย... ในสมัย.....ที่ เป็นถึงระดับอธิบดี​ รัฐมนตรี​ นายกรัฐมนตรีก็มี
ถ้าผู้หลักผู้ใหญ่รักบ้านเมืองจริงก็ควรกวดขันจับคนชั่วมาลงโทษให้หมด ประเทศชาติก็จะได้เจริญกว่านี้
นายสังผักบุ้ง
เอนก นาวิกมูล เขียนค่ำ 18.45 น.เสาร์28 สิงหาคม2564
คำบรรยายภาพ
1.จิตกรรมฝาผนังวัดม่วง บางปะหัน อยุธยา เอนก นาวิกมูล ถ่าย 00050-066-วัดม่วงบางปะหันอัง25มค48
2.สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ SLA-2638-003- ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
โฆษณา