3 ก.ย. 2021 เวลา 03:23 • การตลาด
4 เทรนด์ “ทิศทางสื่อจะเป็นอย่างไรในอนาคต” จากมุมมองของ “คนทำสื่อ” ในงานสัมนาเสริมทักษะแห่งอนาคต
ปัจจุบันเรามักจะแยกประเภทของ “สื่อเก่า” และ “สื่อใหม่” จากการพัฒนาของเทคโนโลยี โดยสื่อเก่ามักเป็น One Way Communication การสื่อสารแบบทางเดียว เนื่องจากเมื่อก่อนที่ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้คนไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสื่อ แต่เมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ จึงเกิดเป็น “สื่อใหม่” ที่ทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์ และเกิดเป็น Two Way Communication
Ad Addict ได้มีโอกาสเข้าไปอัปเดตเทรนด์จากงาน “Skillforce Virtual Conference 2021 - COVID-19 Disruption” ใน Session ของ Content Creator มุมมองในหัวข้อ “ทิศทางสื่อจะเป็นอย่างไรในอนาคต” ที่ได้เชิญ คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว PPTV, คุณกฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์ บรรณาธิการเนื้อหา workpointTODAY และ คุณจิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ บรรณาธิการบริหาร a day มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมมุมมองกัน
มาดูกันว่ามุมมองของการทำสื่อในยุคนี้ และในอนาคตนั้นมีสิ่งไหนที่สื่อจะต้องปรับตัว และมีสิ่งไหนที่คนทำสื่อต้องพัฒนา และให้ความสำคัญ ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านข้อมูลที่แอดสรุปมาให้ได้เลย!!
1. นิยามของ “สื่อใหม่”
ปัจจุบันสื่อเก่า และสื่อใหม่นั้น แทบจะกลายเป็นเรื่องเดียวกันแล้ว เนื่องจากเรามีช่องทางสื่อสาร และมีเครื่องมือในการเสนอสื่อกันอย่างหลากหลาย ดังนั้นสิ่งที่ใหม่ในสำหรับสื่อ คือความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสาร และผู้รับสารมากกว่า
นิยามของสื่อใหม่ คือการที่คนทำสื่อต้องไม่ยึดติดกับเครื่องมือ ช่องทางการนำเสนอ เพราะสื่อก็คือสื่อ สิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญคือเรื่องของเนื้อหา คุณค่าของเรื่องนั้น ๆ รวมไปถึงเรื่องของธุรกิจที่มีผลต่อการนำเสนอสื่อ
2. Story Telling ทักษะที่ “คนทำสื่อ” ควรมี
เมื่อก่อนการทำสื่อเรามักพูดกันว่า Content is King แต่สมัยนี้เราต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า Story is King Content is Queen ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีถูกพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว สื่อเองก็ต้องปรับตัวตามไปเรื่อย ๆ เช่น การปรับตัวของสื่อให้ตัวเองได้อยู่หลากหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เราเห็นเลยว่าสื่อยังติดอยู่กับการใช้เครื่องมือ
แต่ด้วยความที่ต้องปรับตัวไปทุก ๆ แพลตฟอร์มเองก็ทำให้สื่อจำเป็นที่จะต้องมีทักษะในหลาย ๆ ด้าน เช่น การตัดต่อ การถ่ายภาพ การทำกราฟิก หรือการเล่าเรื่อง เพราะการที่สื่อไปอยู่บนหลากหลายแพลตฟอร์มนั้น แต่ละที่ก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป การเล่าเรื่องในแต่ละที่นั้นก็ต้องแตกต่างกันเพื่อความเหมาะสม
3. “สื่อที่ดี” ต้องคัดกรองข่าว และขับเคลื่อนสังคม
ปัจจุบันสื่อทำหน้าที่แค่นำเสนอ หรือสะท้อนสังคมนั้น ไม่ใช่ว่าจะหยิบยกเรื่องไหนก็ได้ขึ้นมานำเสนอ นอกจากการทำหน้าที่เป็น Watch Dog แล้วสื่อยังต้องทำหน้าที่เป็น Gate Keeper หรือทำหน้าที่กรองเนื้อหาก่อนนำเสนอด้วย ว่าสิ่งที่ได้รับมานั้นน่าเชื่อถือเพียงใด
และในฐานะที่สื่อเป็นกระบอกเสียงสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมแล้ว สื่อเองก็นับว่าเป็นอีกช่องทางที่จะสามารถช่วยขับเคลื่อน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ด้วยเช่นกัน
4. จริยธรรมต้องมาพร้อมกับโมเดลธุรกิจ
ในอีกมุมหนึ่งนอกจากสื่อจะเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงแล้ว สื่อก็เปรียบเหมือน Product ชิ้นหนึ่งที่ต้องมีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ และต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นการทำสื่อนอกจากจะต้องมีจริยธรรมแล้ว จะต้องมองไปถึงความเป็นธุรกิจด้วย
สื่อนั้นมีรายได้หลักมาจากโฆษณา นอกจากสื่อที่ทำเพื่อคนเสพสื่อที่ต้องให้ความสำคัญกับเนื้อหา คุณค่า แล้วสื่อจะต้องพยายามทำให้จริยธรรมและโลกความเป็นจริงไปด้วยกันให้ได้ โดยอาจจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มาช่วยทำให้ทั้ง 2 สิ่งนี้ไปด้วยกัน เช่น การปรับตัวเป็น Subscription Model หรือการทำธุรกิจแบบการคิดค่าบริการหรือค่าสมาชิก ที่สื่อสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้
แอดว่าสื่อออนไลน์ในปัจจุบันมีความรวดเร็วในการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ในความรวดเร็วนั้น บางครั้งสื่อเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่คัดกรองข่าวก่อนมานำเสนอ มองแต่เพียงว่า เรื่องนี้สื่อคู่แข่งนำเสนอออกไปแล้ว เราก็ต้องนำเสนอบ้าง บวกกับในยุคนี้ไม่ว่าใครก็เป็นทำหน้าที่เป็นสื่อได้
และในมุมของการทำธุรกิจเอง แอดว่าอย่างแรกเลยเราต้องยอมรับก่อนว่ารายได้ของสื่อนั้นมาจากการสนับสนุนของโฆษณา แต่สื่อเองก็ต้องหาวิธีการในการปรับตัว เพื่อให้คงความจริยธรรมของการเป็นสื่อเอาไว้ ทั้งการนำเสนอความจริง นำเสนอสิ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนสังคม ถ้าไม่อย่างนั้นสื่อเองก็จะไม่ได้ทำหน้าที่ของสื่อแล้วนั่นเอง
โฆษณา