30 ส.ค. 2021 เวลา 04:47 • การศึกษา
สิ่งสำคัญที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์สถานะ สุขภาพ และความความเข้มแข็งทางการเงินของแต่ละบุคคลนั้น ประกอบไปด้วยข้อมูล งบดุลส่วนบุคคล (personal balance sheet) และงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล (personal statement of cash flow)
วันนี้เรามาลองทำความเข้าใจงบดุลส่วนบุคคลกันนะคะ
#งบดุลส่วนบุคคลคืออะไร
งบดุลส่วนบุคคลเป็นรายการทางบัญชีที่แสดงถึงฐานะการเงินของบุคคล ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง โดยจะแสดงถึง
(1) สินทรัพย์ (assets) ที่แต่ละบุคคลเป็นเจ้าของ
(2) หนี้สิน (liabilities) ซึ่งบุคคลมีภาระผูกพันต้องชำระคืนในอนาคต
(3) ความมั่งคั่งสุทธิ (net worth) ที่เหลือในสินทรัพย์หลังจากชำระหนี้สินต่างๆ ครบถ้วนแล้ว
สรุปง่ายๆ คือ งบดุลส่วนบุคคลก็เปรียบเสมือนภาพถ่ายสถานภาพทางการเงินของเราในเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งจะมีประโยชน์ช่วยในการวางแผนการทางการเงินนั่นเองค่ะ
#ทำไมต้องจัดทำงบดุลส่วนบุคคล
นอกจากงบดุลส่วนบุคคลถือเป็นข้อมูลในการบ่งบอกสถานะทางการเงินของบุคคลแล้ว ยังเป็นข้อมูลที่แสดงถึงผลการดำเนินธุรกรรมทางการเงินส่วนบุคคลต่าง ๆ ในอดีต เช่น ความสามารถในการหารายได้ และนิสัยในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถคาดการณ์รายได้และรายจ่ายในอนาคตได้แม่นยำ ส่งผลให้เป้าหมายที่เรากำหนดไว้ในแผนทางการเงินส่วนบุคคลเป็นเป้าหมายที่สามารถบรรลุได้ในทางปฏิบัติค่ะ
#ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของงบดุลส่วนบุคคล
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ความมั่งคั่งสุทธิ
ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นเจ้าของบ้านซึ่งมีมูลค่าตามราคาซื้อขายในตลาดเท่ากับ 10 ล้านบาท แต่เรายังมีหนี้บ้านที่ต้องผ่อนกับธนาคารอีก 3 ล้านบาท เท่ากับว่าเรามีความมั่งคั่งสุทธิ 7 ล้านบาทค่ะ
#ประเภทของสินทรัพย์ส่วนบุคคล
(1) สินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร เงินลงทุนระยะสั้น และตั๋วแลกเงิน
(2) สินทรัพย์เพื่อการลงทุน เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน ตราสารอนุพันธ์ และกองทุนรวม
(3) สินทรัพย์ใช้ส่วนตัว เช่น ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ เสื้อผ้า เครื่องประดับ และของสะสมต่าง ๆ
(4) สินทรัพย์อื่น ๆ เช่น สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์
#ประเภทของหนี้สินส่วนบุคคล
(1) หนี้สินระยะสั้น (มีกำหนดชำระหนี้ภายใน 1 ปี) ได้แก่ หนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคลอื่น
(2) หนี้สินระยะยาว (มีกำหนดชำระหนี้เกินกว่า 1 ปี) ได้แก่ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ หรือเงินกู้เพื่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์
ถึงเวลาหยิบปากกาขึ้นมาลองเริ่มทำงบการเงินส่วนบุคคลกันนะคะ เริ่มจากลิสต์รายการสินทรัพย์และหนี้สินของเราค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
เรามีสินทรัพย์ซึ่งประกอบไปด้วย
เงินสด 30,000
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 200,000
กองทุนรวม 1,000,000
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 300,000
รถยนต์ 850,000
และมีหนี้สินซึ่งประกอบไปด้วย
หนี้บัตรเครดิต 20,000
สินเชื่อรถยนต์ 700,000
ดังนั้น แสดงว่าวันนี้เรามีความมั่งคั่งสุทธิเท่ากับ 1,660,000 บาท (สินทรัพย์รวม 2,380,000 บาท หักด้วย หนี้สินรวม 720,000 บาท) และเมื่อเราจัดทำงบดุลเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเห็นภาพรวมเลยได้ชัดเจนขึ้นว่าเรามีสินทรัพย์และหนี้สินอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะวางแผนการจัดการบริหารสินทรัพย์ของเราให้เกิดผลตอบแทนเป็นไปตามเป้าหมายทางการการเงินที่เรากำหนดไว้ และบริหารจัดการหนี้สินของเราได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้เราควรจะจัดทำงบดุลส่วนบุคคลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งนะคะ เพื่อคอยติดตามและประเมินความมั่งคั่งสุทธิของตัวเราเองอย่างสม่ำเสมอค่ะ
โฆษณา