30 ส.ค. 2021 เวลา 12:39 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Adam Smith: พ่อของวงการเศรษฐศาสตร์
1
Adam Smith พ่อของวงการเศรษฐศาสตร์
ตั้งแต่ในอดีต มีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังมากมายที่ได้สร้างทฤษฎีที่เรานำมาประยุกต์ใช้จวบจนทุกวันนี้ แต่ถ้าให้พูดถึงหนึ่งในคนที่มีอิทธิพลต่อวงการเศรษฐศาสตร์มากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น อดัม สมิท (Adam Smith) หรือ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ของเรานั่นเอง บางคนถึงกับบอกด้วยซ้ำว่าเขาไม่ได้แค่มีอิทธิพลต่อวงการเศรษฐศาสตร์ แต่เขานี่แหละ เป็นผู้สร้างเศรษฐศาสตร์!
1
ในบทความนี้ Bnomics จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ อดัม สมิท และทฤษฎีบางส่วนที่โด่งดังของเขากัน
1
อดัม สมิท เกิดในเมือง Kirkcaldy ประเทศสกอตแลนด์ โดยไม่มีวันเกิดระบุแน่ชัด เขาเข้าเรียนที่ University of Glasgow ในสกอตแลนด์ ตอนอายุ 14 ปี ก่อนจะมาเรียนต่อที่ Balliol College ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถเกินมาตรฐานที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย Oxford
หลังจากนั้น เขาได้ย้ายไปทำงานเป็นครูสอนพิเศษที่ฝรั่งเศสในปี 1763 และเมื่อเกษียณกลับมายังบ้านเกิด 13 ปีต่อมา เขาได้เขียนหนังสือชื่อดังอย่าง “An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations” (รู้จักในชื่อสั้นๆว่า “The Wealth of Nations”) ที่มีทฤษฎีมากมายที่กลายเป็นรากฐานให้กับวิชาเศรษฐศาสตร์คลาสสิก
2
หนึ่งในทฤษฎีที่ว่า คือทฤษฎีเกี่ยวกับนโยบายตลาดเสรี หรือ laissez-faire (แปลว่าปล่อยไปอิสระตามยถากรรม ตามธรรมชาติ)
2
อดัม สมิทเชื่อว่าเมื่อเราปล่อยให้คนมีอิสระ ทุกคนย่อมคิดถึงผลประโยชน์ของตนเวลาจะตัดสินใจหรือลงมือทำอะไร ดังนั้นข้อตกลงอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นระหว่างคนก็จะต้องให้ประโยชน์กับทุกฝ่าย และในแง่ของการค้าขายก็เช่นกัน ตลาดเสรีจึงมีประสิทธิภาพเพราะการแลกเปลี่ยนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้รับผลดีทั้งคู่
3
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ขายได้กำไรจากการขายของที่ตรงใจผู้ซื้อ และผู้ซื้อก็จะได้ของที่อยากได้เมื่อมีเงินจ่ายให้กับผู้ขาย สุดท้าย ทั้งคู่ต่างก็ได้ผลประโยชน์
แน่นอนว่า ผู้ขายก็ต้องอยากได้กำไรมากที่สุด ขณะที่ผู้ซื้อก็อยากจ่ายให้น้อยที่สุด ดังนั้นราคาที่จะทำให้เกิดข้อตกลงระหว่างทั้งคู่ก็ย่อมต้องเป็นราคาที่ผู้ขายคำนวณแล้วว่าเกินตุ้นทุนและผู้ซื้อมองว่าเหมาะสมสำหรับสิ่งของชิ้นนั้น
นอกจากนี้ ราคาสินค้าในตลาดเสรียังปรับตัวเพื่อให้จำนวนสินค้าเท่ากับจำนวนผู้ซื้อได้ด้วย อย่างถ้าสินค้ามีน้อยแต่คนที่อยากได้มีเยอะ คนที่จะได้ครอบครองสินค้าที่มีอยู่จำกัดก็ต้องเป็นพวกที่ยอมจ่ายราคาที่สูงที่สุด และถ้าสินค้าเหลือเยอะ การลดราคาก็จะช่วยทำให้มีคนหันมาสนใจซื้อของถูกกันมากขึ้น
1
เพราะเหตุนี้ อดัม สมิท จึงมองว่าตลาดเสรีเป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพ ราวกับว่ามี “มือที่มองไม่เห็น” หรือ “invisible hand” ที่คอยจัดการให้ตลาดผลิตสิ่งที่ผู้ซื้อต้องการในจำนวนที่พอดีและในราคาที่พอเหมาะ พูดอีกอย่างคือคอยทำให้อุปสงค์กับอุปทานเท่ากันนั้นเอง
1
แต่ถ้าจะให้กลไกนี้ทำงานได้อย่างเต็มที่ ต้องไม่มีอะไรมาแทรกแซงหรือมีให้น้อยที่สุด ดังนั้นอดัม สมิท จึงมองว่า รัฐบาลควรถูกจำกัดบทบาทในตลาดเสรี ถ้าจะให้ดีก็ควรจะเป็นผู้ช่วยสนับสนุนการแข่งขันและปกป้องความยุติธรรมในตลาดมากกว่า
บางคนอาจจะยกเรื่องความไม่เท่าเทียมมาเป็นประเด็น แต่เขามองว่ากำไรจากระบบนี้ สามารถนำไปช่วยเหลือคนที่รายได้น้อยได้ โดยเสนอว่าให้สร้างแรงจูงใจให้พวกคนรายได้สูงโดยการให้รางวัลและเกียรติยศกับพวกเขาในการทำสิ่งดีๆ เช่น การให้ทุนการศึกษา หรือ การสร้างโรงพยาบาลเพื่อคนรายได้ต่ำ เพราะคนมีฐานะส่วนใหญ่ต้องการชื่อเสียงที่ดีมากกว่าเงิน
5
อีกหนึ่งสิ่งที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในตลาด โดยเฉพาะในการผลิต คือ การแบ่งงานกันทำ (Division of Labour)
1
ย้อนไปในอดีตก่อนยุคอุตสาหกรรม คนส่วนใหญ่มักทำงานทุกอย่างด้วยตัวเอง เช่น หาอาหาร ทำเครื่องนุ่งห่ม หรือแม้กระทั่งสร้างที่อยู่อาศัย แต่สำหรับอดัม สมิท การทำเช่นนั้นเสียเวลาเยอะแถมได้ของน้อย สิ่งที่จะช่วยทุ่นแรงและเวลา คือการแบ่งงานให้แต่ละคนทำงานที่ตัวเองถนัดคนละอย่าง แล้วค่อยเอาสินค้าหรือบริการที่ได้มาแลกเปลี่ยนกัน
เช่น แทนที่คนสองคนจะต่างคนต่างทำอาหารและเสื้อผ้าให้ตัวเอง ก็ให้คนที่ทำอาหารเก่งกว่าทำอาหารสำหรับทั้งคู่ ระหว่างที่อีกคนทำเสื้อผ้าไว้สองตัว เมื่อเสร็จแล้ว ก็นำอาหารกับเสื้อส่วนที่เหลือไปแลกกัน แค่นี้ก็สามารถประหยัดเวลาและแรงไปได้มาก
2
แถมยังบอกอีกว่า ยิ่งสามารถแบ่งงานออกเป็นงานย่อยให้ตรงความสามารถได้เยอะเท่าไร ผลผลิตก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตาม อย่างในตัวอย่างเดิม ถ้าเราสามารถแบ่งงานในการทำเสื้อเพิ่มเติม เป็นการทอผ้า การดีไซน์ การตัด หรือ การเย็บ และหาคนงานมาทำงานแต่ละอย่างได้ เราก็จะผลิตเสื้อได้เยอะขึ้นในเวลาที่น้อยลงไปอีก
ซึ่งระบบการผลิตแบบนี้ เป็นสิ่งที่เราเห็นกันในโรงงานมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และการทำงานตามความเชี่ยวชาญก็ทำให้เราได้เห็นอาชีพเฉพาะทางที่หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆในทุกวันนี้ (ซึ่งในหนังสือของอดัม สมิท ได้พูดถึงโรงงานเข็มหมุด ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างให้ทุกคนเห็นภาพถึงแนวคิดการแบ่งงานกันทำ Division of Labor และการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต)
1
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่ว่าความร่ำรวยของประเทศมาจากสิ่งที่ประเทศผลิตได้เอง
ในอดีต ประเทศส่วนใหญ่มองว่าความร่ำรวยนั้นมาจากการสะสมเงินทองที่ได้จากการส่งออก (mercantilism) จึงทำให้หลายประเทศกลัวการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการนำเข้า เพราะจะทำให้รายได้ไหลไปอยู่ที่ประเทศอื่นแทน แต่ อดัม สมิท ไม่เห็นด้วยเพราะเชื่อว่าการค้าระหว่างประเทศจะเป็นประโยชน์มากกว่า และมองว่าควรวัดความร่ำรวยของประเทศจากมูลค่าการผลิตและการแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศนั้นๆ แนวคิดนี้เป็นแนวทางสำหรับการคำนวณ GDP หรือมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่เราใช้กันในปัจจุบัน และยังช่วยเปลี่ยนมุมมองของหลายที่ทั่วโลกที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศให้ดีขึ้นด้วย
2
ทฤษฎีทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง
(1) ทฤษฎีตลาดเสรี
(2) มือที่มองไม่เห็น
(3) การแบ่งงานกันทำ รวมถึง
(4) หลักการการค้าเสรี
2
ได้กลายเป็นแนวทางหลักของวงการเศรษฐศาสตร์ เป็นกรอบหลักที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ใช้เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจ และการพัฒนาประเทศ ซึ่งทุกครั้งที่มีความลังเลสงสัยในทิศทางที่เหมาะสม มีแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาท้าทาย เช่น แนวคิดการพัฒนาจากส่วนกลาง (Command Economy) แนวคิดการปกป้องการค้าของประเทศ (Protectionism) สุดท้ายก็ได้แนวคิดของอดัม สมิท ที่นำพาทุกคนกลับมาสู่แนวทางกระแสหลักที่เหมาะสม อยู่เสมอมา
นอกจากที่กล่าวมา ยังมีทฤษฎีของบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ อีกมากมายที่เรายังไม่ได้พูดถึง และทฤษฎีเหล่านี้ก็เป็นฐานสำคัญให้นักเศรษฐศาสตร์ในยุคหลังได้นำไปต่อยอด และยังเป็นบทเรียนพื้นฐานให้นักเรียนเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกอีกด้วย ในบทความหน้า เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับท่านใด โปรดติดตาม
1
#AdamSmith #บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ #Division_of_Labour #อดัมสมิธ
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
 
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา