30 ส.ค. 2021 เวลา 12:31 • สุขภาพ
นิวซีแลนด์รายงานผู้เสียชีวิตรายแรก ที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน Pfizer เหตุจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
จากที่มีการรายงานผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันโควิดหลากหลายชนิด หลากหลายเทคโนโลยีมาตามลำดับ
หนึ่งในกลุ่มวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคสูงคือ mRNA ทั้งบริษัท Pfizer และ Moderna
หลังจากเป็นที่นิยมฉีดกันทั่วโลก ยิ่งฉีดจำนวนมากขึ้นเท่าใด ก็เริ่มมีรายงานผลข้างเคียงที่มากขึ้นตามลำดับ
ในกลุ่มผลข้างเคียงที่รุนแรง (Severe side effects) จนถึงขั้นอาจเสียชีวิตได้ แต่พบน้อยมาก (very rare) สำหรับวัคซีน mRNA คือการแพ้แบบช็อก ( Anaphylaxis )
โดยของ Pfizer พบ 4.6 รายต่อ 1,000,000 โดส และของ Moderna พบ 2.5 รายต่อ 1,000,000 โดส
แม้ผลข้างเคียงดังกล่าวจะรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ แต่ถ้าได้รับการแก้ไขทันก็จะปลอดภัย
จากรายงานในสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบการแพ้แบบช็อคมากที่สุด ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ต่อมาเริ่มมีรายงานผลข้างเคียงเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) และเยี่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายวัยหนุ่ม
ที่ประเทศอังกฤษ พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 5 รายใน 1,000,000 โดส คือ 195 รายจากการฉีดเกือบ 40 ล้านโดส และส่วนใหญ่อาการค่อนข้างน้อย ไม่พบผู้เสียชีวิต
ส่วนในสหภาพยุโรป พบผู้เสียชีวิต 5 ราย จากการฉีดวัคซีน mRNA 200 ล้านโดส คิดเป็น 0.025 รายต่อ 1,000,000 โดส
อย่างไรก็ตาม เพิ่งจะมีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขประเทศนิวซีแลนด์ ว่าได้พบเคสที่เสียชีวิตเป็นเคสแรกของประเทศ สอบสวนแล้วพบว่ามีความเกี่ยวพันมาจากการฉีดวัคซีน Pfizer แม้ยังจะต้องทำการชันสูตรหาข้อมูลยืนยันเพิ่มเติมต่อไปก็ตาม
1
โดยทางการของนิวซีแลนด์ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนต่อไป เพราะประโยชน์ที่ได้จากการป้องกันโควิด ยังมีมากกว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบคือ การอักเสบของตัวเนื้อหัวใจโดยตรง ซึ่งจะทำให้มีอาการประกอบด้วย
1) เจ็บหน้าอก (Chest pain)
2) หายใจลำบาก (Shortness of breath)
3) หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ (Abnormal heartbeat)
ซึ่งจากการที่มีการอักเสบ ทำให้ความสามารถในการสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจลดลง ประกอบกับหัวใจที่เต้นผิดจังหวะ อาจทำให้เสียชีวิตได้
เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต้องยอมรับร่วมกันว่า วัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาแบบเร่งด่วน อาจจะมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง แม้จะรุนแรงแต่ก็มีจำนวนน้อยมาก
ประโยชน์ที่ได้จากการป้องกันโควิดมีมากกว่าผลข้างเคียง จึงยังคงต้องเดินหน้าต่อไป
เพียงแต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของวัคซีนแต่ละเทคโนโลยี ก็ควรระมัดระวัง และเลือกฉีดวัคซีนที่ลักษณะของตนเองมีโอกาสเสี่ยงน้อยที่สุด
Reference
โฆษณา