31 ส.ค. 2021 เวลา 05:00 • หนังสือ
4 เหตุผลที่ผมเลิกอ่านหนังสือ How-to
ลด ละ เลิก การเสพติดความสำเร็จที่เราไม่ได้ต้องการ
คงไม่มีใครคิดว่าการพัฒนาตนเองไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี หนำซ้ำหากเราเล่าเรื่องที่คุณกำลังพัฒนาตนเองอยู่ให้ใครซักคนฟัง มีแต่จะได้กำลังใจกลับมามากกว่าคำสบประมาท
นอกจากนี้ บรรดาหนังสือ Top Seller ของเมืองไทย ก็มักจะมีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตนเอง (How-to, Self help) อยู่เสมอ
นั่นแสดงว่าบรรดาคนทำงานทั้งหลายกำลังพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาและกำลังมองหาจุดบกพร่องของตนเองที่อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางพวกเราไม่ให้ประสบความสำเร็จ
ผมเองก็เคยตกอยู่ในวังวันของการพัฒนาตนเองเช่นเดียวกัน แต่แล้วผมก็ได้พบหนังสือบางเล่มที่ทำให้ผมเริ่มได้สติ
ผมนั่งคิดถี่ถ้วนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตลอด 3 - 4 ปีนี้ ชั้นหนังสือผมมีแต่หนังสือ How-to ที่เคยติด Top-seller มากกว่าหนังสือประเภทอื่น ๆ
แต่แล้วมันยังไงล่ะ ผมดีขึ้นจากคำแนะนำพวกนี้จริง ๆ หรือ ?
มันคุ้มหรือไม่กับเงินและเวลาที่ลงทุนไปกับหนังสือพวกนี้ หนังสือที่มักจะให้คำตอบผมมากกว่าการตั้งคำถามเพื่อหาหนทางของตนเอง
ต่อไปนี้ผมอยากจะนำเสนอเหตุผลซัก 4 ประการที่ทำให้ผมตัดสินใจหยุดอ่านหนังสือประเภทพัฒนาตนเอง (How-to, Self-help) บางเล่ม
*เตือนไว้ก่อนว่าไม่ใช่หนังสือพัฒนาตนเองทุกเล่มที่เป็นแบบนี้
แต่ถ้าเข้าลักษณะ 4 ประการนี้ผมไม่สนใจที่จะอ่านแล้วแม้ว่าคนอื่น ๆ จะสาธยายข้อดีของมันมากแค่ไหน
1. อุดมด้วยความเห็น แต่แห้งแล้งทางข้อพิสูจน์
ผมลองค้นคว้าส่วนตัวเกี่ยวกับลักษณะนิสัยการอ่านของบุคคลที่ผมมองว่าประสบความสำเร็จในแบบของตนเอง (ซีรีย์ Read Like a Champion) แล้วพบว่าบุคคลเหล่านี้อ่านแต่หนังสือที่มีอ้างอิงจากงานวิจัย หรือ หลักทางวิชาการ มากกว่าการอ่านหนังสือที่อุดมไปด้วยความเห็น
จากข้อสันนิษฐานของผมคิดว่า การที่เขาเลือกอ่านหนังสือแบบนั้นเพราะว่าเขาต้องการข้อเท็จจจริงหรือความเห็นที่พิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางวิชาการ
การรับรู้ข้อมูลเหล่านั้นทำให้พวกเขาสร้างการเรียนรู้ของตนเองขึ้นมา และนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบขึ้นเป็นองค์ความรู้ของตนเอง และนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปใช้งานต่อตามแบบฉบับของตนเอง
ผมจึงอยากลองหยุดที่จะเดินตามใครและสร้างองค์ความรู้ของตนเองขึ้นมา
2. คำตอบของชีวิตที่ถูกยัดเยียดมาพร้อมหุบเหว
ใครเป็นผู้กำหนดเกณฑ์มาตรฐาน "ความสำเร็จ" ของใครซักคน คำตอบคือไม่มีครับ เราสามารถกำหนดนิยาม "ความสำเร็จ" ของตัวเองได้ตราบเท่าที่สมองจะคิดได้
แต่หนังสือบางเล่มมีลักษณะการยัดเยียด "ภาพฝัน" ของใครไม่รู้ให้กับเรา และตอกย้ำซ้ำ ๆ ดั่งตอกประตูปิดฝาโลงเบา ๆ ให้เราไม่มีโอกาสแม้แต่จะคิดโต้เถียงในระหว่างที่อ่าน
หนำซ้ำยังให้สัญญามากมายว่าเราจะต้องเป็นอย่างเขาได้ เพียงแต่ทำตามขั้นตอน 1 2 3 4
ที่แย่กว่านั้นก็คือเราเลิกตั้งคำถามกับสิ่งที่ตนเองเป็น ละทิ้งความสุข (ที่คุณอาจจะค้นพบมันแล้ว) และพยายามทำบางอย่างมากมายเพื่อบอกตนเองว่า "ฉันนี่แหละที่จะประสบความสำเร็จ" ตามนิยามของคนอื่น ๆ
กลับกันถ้ามันไม่เป็นไปดั่งหวัง เราจะจมดิ่งสู่เหวลึก ตะเกียกตะกายในหุบเหวแห่งความล้มเหลวที่เราไม่ได้นิยามและเราไม่ได้ต้องการมันมาตั้งแต่แรก
ถึงตรงนี้ผมหยุดคิดและทบทวนสิ่งที่ตัวเองต้องการ ผลักไสใครบางคนที่คอยกระซิบ "คำตอบ" ของชีวิตให้ห่างไปจากตัว
3. วิธีการของใครบางคน
ถ้านาย A ทำได้เหมือนนาย B ทุกประการ
ชีวิตของนาย B ก็จะเหมือนนาย A ทุกประการ
ดูสมเหตุสมผลใช่หรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ใช่ ผมว่าเรากำลังดูถูกสังคมมนุษย์ที่เราสร้างมันขึ้นมาอย่างซับซ้อนมากเกินไป
หนังสือบางเล่มชักชวนให้เราออกจากงานมาเป็นนายตัวเอง ไหนใครเลยลองแล้วไม่ประสบความสำเร็จบ้าง (ใครนึกภาพไม่ออกลองหาอ่านกระทู้ในพันทิพย์)
ผมไม่ได้กำลังจะดูถูกใคร แต่ไม่ใช่ทุกคนแน่ ๆ ที่เหมาะสมกับการเป็นผู้ประกอบการ และหลาย ๆ คนที่พร้อมกับการมีกิจการของตนเอง ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาอยากทำมันจนใจจะขาด
คำถามคือแล้วทำไมเราถึงชอบ "วิธีการ" เหล่านี้นักหนา ผมสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากภูมิหลังการศึกษาและการเลี้ยงดูในประเทศไทยที่ไม่ยอมให้เราในวัยเด็กนั้นลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง และพร้อมจะเชื่อวิธีการต่าง ๆ (ที่เราคิดว่ามันถูกต้องที่สุด !) จากพ่อ แม่ และครู
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่สิ่งเหล่านี้จะติดตัวเรามา เราพร้อมจะเชื่อใครซักคนหยิบยื่นวิธีการพร้อมกับสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ ว่าจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง
หากใครมีประสบการณ์เรื่องไหนก็พิมพ์บอกในคอมเมนต์ได้นะครับ เกี่ยวกับวิธีต่าง ๆ ที่นำมาใช้งานไม่ได้จริงหรือใช้แล้วรู้สึก 'ทะแม่ง ๆ' ก็ขอให้พิมพ์บอกได้นะครับ
4. จ่ายด้วยเวลาอันมหาศาล
หากเราติดกับดักข้อที่ 4 ไปแล้ว เราจะพยายามค้นหาหนังสือที่ดีที่สุด วิธีการที่ดีที่สุด รวยที่สุด เร็วที่สุด ประสบความสำเร็จมากที่สุด ฯลฯ การจมดิ่งไปกับการหา "ที่สุด" เหล่านี้ต้องจ่ายด้วยทรัพยากรเวลาอันมหาศาล
นี่ยังไม่นับเวลาที่ใช้ในการหาอ่านบทความที่เกี่ยวข้อง บรรดาแอพพลิเคชั่นที่เสริมความ Productive กระทั่งคอร์สเรียนเสริมอีกมากมาย นับไม่ถ้วน
เพื่อสิ่งที่เรายังไม่รู้เลยว่า เราอยากจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือไม่
ผมไม่ได้เขียนบทความนี้เพื่อชักชวนให้ทุกคนเลิกอ่านหนังสือประเภทนี้ บทความนี้เป็นเพียงการแบ่งปันความคิดเห็นส่วนตัวที่ผ่านการนั่งทบทวนกับตนเอง
ผมอยากให้ทุกคนคิดแบบนี้ครับ
ใครอ่านแล้วได้ประโยชน์ก็จงอ่านต่อไป อย่ารู้สึกผิด
ใครอ่านแล้วไม่ได้ประโยชน์ก็ขอให้วางหนังสือเล่มนั้นลง อย่ารู้สึกผิด
ท้ายที่สุดผมอยากจะแนะนำหนังสือซัก 2 เล่มที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตนเอง แต่ชวนเราคิดและหาคำตอบของตนเองแบบไม่ยัดเหยียด (ผมบอกไปแล้วว่าไม่ใช่หนังสือพัฒนาตนเองทุกเล่มที่ไม่น่าอ่าน)
1. Managing Oneself
พรีวิวคร่าว ๆ : หนังสือเล่มนี้เขียนโดยปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการยุคใหม่ Peter F. Drucker โดยเนื้อหาในหนังสือกล่าวถึงการทบทวนตัวเอง ว่าแท้จริงแล้วคุณถนัดอะไร คุณค่าที่คุณยึดถือคืออะไร เรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่ทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น
2. Designing your life
พรีวิวคร่าว ๆ : หนังสือเล่มนี้ชักชวนให้เราออกแบบชีวิตของเราเองตามหลัก Design Thinking โดยถอดแบบมาจากคลาสเรียนชื่อเดียวกันกับหนังสือ ที่มหาลัย Standford d. School หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ชวนเราฝันเฝื่อง แต่ผลักดันให้เราออกค้นหาเส้นทางชีวิตของเราด้วยตัวเราเอง
ไว้มีโอกาสผมจะมาเขียนแนะนำหนังสือทั้ง 2 เล่มอย่างละเอียดอีกครั้งนะครับ
ถ้าชอบบทวามแนวชวนคิดและทบทวนตัวเองแบบนี้ก็รบกวนกด react กดติดตาม ด้วยนะครับ
โฆษณา