31 ส.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
John Maynard Keynes : นักเศรษฐศาสตร์มหภาค ผู้เอาชนะเศรษฐกิจยุคตกต่ำ ได้สำเร็จ
John Maynard Keynes นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ (1883 - 1946)
“ถ้ารอให้ถึงระยะยาว พวกเราก็ตายกันหมดพอดี In the long run we are all dead” ประโยคอมตะที่หลายคนมักจะนึกถึงทุกครั้งเมื่อพูดถึงนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังก้องโลก ที่หากจะเป็นรอง ก็คงเป็นรองแต่ท่านอาจารย์อดัม สมิท เพียงคนเดียวเท่านั้น
5
แนวคิดของเคนส์ อาจจะขัดกับบทความก่อนหน้าที่เราพูดถึงอดัม สมิท ไปเสียหน่อย จากเดิมที่อดัม สมิท ได้ให้ความสำคัญกับกลไกตลาด และบอกให้ปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรม (laissez-faire) ไปตามธรรมชาติ โดยที่รัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซง
แต่ถ้าในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก รัฐควรจะปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรม หรือควรยื่นมือเข้าไปแทรกแซงกันแน่? เศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ อาจจะตอบคำถามนี้ได้
📌 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ...จุดเปลี่ยนของแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี
ก่อนเกิด Great Depression แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มักจะมองมาจากด้านอุปทานหรือกฝด้านการผลิตเป็นหลัก โดยมือที่มองไม่เห็นและกลไกตลาดเสรี จะช่วยให้ทุกอย่างกลับเข้าสู่จุดดุลยภาพ ทั้งด้านราคา ปริมาณการผลิต การจ้างงาน ซึ่งพอเชื่อตามแนวคิดนี้ทุกอย่างก็เหมือนจะไปได้ดี
จุดหักเหสำคัญเกิดเมื่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ล้มในช่วงปลายปี 1929 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Black Tuesday ที่ตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งลามไปทั่วทั้งโลกในช่วงทศวรรษที่ 1930 บางประเทศกว่าจะฟื้นตัวก็ปาเข้าไปกลางทศวรรษที่ 1930 ขณะที่หลายประเทศยังคงได้รับผลกระทบของเศรษฐกิจตกต่ำครั้งนี้ ไปจนถึงช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง
อัตราการว่างงานของประชากรสหรัฐฯ ในช่วง The Great Depression
ถ้าเราเชื่อตามทฤษฎีของอดัม สมิท ว่า ทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา ก็คือ การวางมือ ปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจเป็นไปตามยถากรรม ตามธรรมชาติ ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซง เดี๋ยวอีกพัก ตลาดก็กลับสู่ดุลยภาพเอง คนทุกคนก็จะมีงานทำอีกครั้ง เพราะเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ การผลิตลงลง การจ้างงานน้อยลง กลไกตลาดก็จะทำงาน ส่งผลให้ราคาและค่าจ้างลดลง ซึ่งจะไปกระตุ้นอุปสงค์และนายจ้าง ทำให้จ้างงานเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเกิดการจ้างงานเต็มที่ (Full Employment) และเศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวกลับสู่ปกติอีกครั้ง
แต่ภาพที่เกิดในความจริงในขณะนั้นกลับไม่เป็นไปตามทฤษฎี โดยการว่างงานคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องหลายๆ ปี ทำอย่างไรก็ไม่กลับสู่ดุลยภาพ บางช่วงมีคนตกงานถึง 25% (จากที่ปกติ 5-8% ก็ถือว่าเยอะแล้ว)
1
เหตุการณ์ The Great Desprssion หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ ช่วงทศวรรษ 1930
ด้วยเหตุนี้ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิกของอดัม สมิท จึงไม่สามารถอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป กลายเป็นเครื่องหมายคำถามอันยิ่งใหญ่ และกลายเป็นวิกฤตแนวคิดที่ส่งผลให้เศรษฐศาสตร์ “ทางเลือก” แบบเคนส์ จึงเริ่มถูกพูดถึง...และมักจะถูกพูดถึงทุกครั้งที่เศรษฐกิจตกต่ำ และมีภาวะวิกฤตเกิดขึ้น
อัตราการว่างงานของประชากรสหรัฐฯ ในช่วง The Great Depression
📌 หน้าที่ของรัฐบาลยามวิกฤตตามแนวคิดของเคนส์
เคนส์ได้เขียนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของเขาไว้ในหนังสือที่ชื่อ The General Theory of Employment, Interest, and Money หรือภาษาไทยคือ ทฤษฎีเกี่ยวกับการจ้างงาน ดอกเบี้ย และเงินตรา ซึ่งตีพิมพ์ขึ้นในปี 1936 (ประมาณ 7 ปีหลังเกิด Great Depression)
ใจความสำคัญในหนังสือของเคนส์ก็คือ บทบาทของรัฐในการเข้ามาช่วยแทรกแซงในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากเคนส์มองว่าที่เศรษฐกิจตกต่ำจนทำให้คนว่างงานสูงเป็นระยะเวลานานเพราะว่าอุปสงค์ในตลาดนั้นมีไม่เพียงพอ (โครงสร้างการผลิตมี แต่ไม่มีคนสั่งซื้อ)
ปกติแล้ว ผลผลิตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาจากอุปสงค์ทั้ง 4 ด้านคือ
(1) การบริโภค
(2) การลงทุน
(3) การใช้จ่ายของรัฐ
(4) การส่งออกสุทธิ
นั่นหมายความว่า ไม่ว่าอุปสงค์จากด้านใดเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ แน่นอนว่าความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนไม่ค่อยกล้าจับจ่ายใช้สอยอะไร โดยเฉพาะสินค้าใหญ่ๆ อย่างบ้าน หรือรถ ทางด้านธุรกิจเองก็ไม่กล้าลงทุนเพิ่มเพราะเห็นว่าผู้บริโภคมีอุปสงค์ในสินค้าต่ำ
ในประเด็นนี้ เคนส์จะพูดถึงแนวคิด Animal Spririts อยู่เสมอ ที่เป็นกลไกที่อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์ทั้งหมด ที่เมื่อคนหมดความเชื่อมั่น เขาก็จะมีความกลัวที่จะทำสิ่งต่างๆ รวมถึงการใช้จ่าย ลงทุน ค้าขาย ส่งออก นำเข้า ยิ่งเศรษฐกิจแย่ ความกลัวก็จะมากขึ้น ยิ่งมีข่าวร้าย คนยิ่งหยุด ยิ่งเก็บออม ยิ่งทำให้เศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้ว แย่ลงไปอีก และทำให้ระบบไม่สามารถกลับเข้าสู่ดุลยภาพได้
1
ดังนั้น เมื่อเครื่องยนต์ตัวอื่นดับไปเกือบหมดแล้ว เครื่องยนต์ตัวสุดท้ายที่จะพอขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้นั่นคือ การใช้จ่ายของภาครัฐบาล
2
เคนส์ได้เสนอให้มีการตั้งงบประมาณแบบขาดดุล (Deficit) คือการตั้งงบประมาณรายจ่ายมากกว่ารายได้ นั่นหมายถึง การที่รัฐบาลควรเพิ่มการใช้จ่าย และลดภาษีลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
1
ทั้งนี้ เมื่อคนเห็นรัฐบาลเริ่มจ่ายเงิน สินค้าของเขาขายได้ เพื่อนของเขามีงานทำ ทุกอย่างคึกคักขึ้น เงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น Animal Spirits ก็จะกลับข้าง ทำให้เกิดการหมุนวนเศรษฐกิจ เกิดการใช้จ่าย การลงทุน การส่งออก นำเข้า
แนวคิดของเคนส์ในเรื่องนี้ ได้ถูกพัฒนาต่อยอดไปเป็นแนวคิด ตัวทวีคูณ (Keynesian Multiplier) ซึ่งหมายถึงว่า เงิน 1 ดอลลาร์ ที่รัฐบาลใส่เข้าไปในระบบ สามารถสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจโดยรวมได้มากกว่า 1 ดอลลาร์ เนื่องจากการใช้จ่ายของรัฐก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินในระบบมีการหมุนเวียน ก่อให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจได้ และเอาระบบเศรษฐกิจกลับไปสู่ดุลยภาพได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ เงินที่รัฐบาลใช้จ่ายต่อ 1 ดอลลาร์ จะสร้างผลผลิตได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ ผู้บริโภคจะใช้เงินที่เพิ่มขึ้นมาในกระเป๋าของตนมากน้อยเพียงใด จากที่รัฐบาลได้ช่วยจ่ายกระตุ้นไปแล้ว หรือที่เรียกว่า ความโน้มเอียงส่วนเพิ่มในการบริโภค (Marginal Propensity to Consume : MPC) เพราะการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจมีเงินไปซื้ออุปกรณ์ จ่ายภาษี ลงทุนเพิ่ม จ้างคนงาน และคนงานก็จะนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ไปใช้จ่ายวนเป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
ดังนั้น สำหรับเคนส์แล้วการที่คนออมเงินน้อย และใช้จ่ายเงินมาก จะช่วยให้ความโน้มเอียงส่วนเพิ่มในการบริโภคเพิ่มขึ้น ส่งผลช่วยให้การจ้างงานสามารถปรับตัวเข้าสู่ระดับการจ้างงานสูงสุด และทำให้เศรษฐกิจกลับสู่ดุลยภาพในที่สุด
📌 แนวคิดแบบเคนส์ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ในวิกฤตที่เกิดจากโรคระบาดครั้งนี้?
ในช่วงแรกที่เกิดโควิด เราคงได้ยินว่า คนกลัวว่า โควิดจะนำไปสู่ Great Depression อีกครั้ง แต่สิ่งที่ทำให้วิกฤตโควิดแตกต่างไปจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ผ่านๆ มา คือการที่อุปทานชะงักและอุปสงค์หดตัวไปพร้อมๆ กัน การผลิตและการจ้างงานลดลง ส่งผลให้รายได้ต่อหัวและคุณภาพชีวิตของหลายพันล้านคนทั่วโลกย่ำแย่ลง
หลังตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ล้มในช่วงปลายปี 1929 ส่งผลกระทบทั้งรายได้ของประชาชนและสินค้าบริโภค
จากแนวคิดของเคนส์ การที่รัฐบาลทั่วโลกออกมาตรการใช้จ่ายต่างๆ เป็นจำนวนมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดลงไปมาก และช่วยให้เศรษฐกิจสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
2
อย่างไรก็ดี ภายใต้วิกฤตโควิด ภายใต้ความกลัวของคน ที่ไม่อยากติดโรค ไม่อยากป่วย ไม่อยากเข้าโรงพยาบาล มาตรการกระตุ้นอย่างเดียวจากภาครัฐ จึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะการหดตัวของเศรษฐกิจครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าไม่เพียงพอ แต่เกิดมาจากปัจจัยพิเศษจริงๆ ที่ทำให้ความสามารถในการผลิต การสร้างรายได้ของทุกคน ถูกจำกัดจากการล็อกดาวน์ การปิดประเทศ หลายๆ อุตสาหกรรม หลายๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่สามารถเปิดได้ หรือต่อให้เปิด ก็ถูกจำกัดเรื่องจำนวนลูกค้าหรือลูกจ้าง และยังมีต้นทุนเรื่องของอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดอีกด้วย อย่างเช่นเมืองไทย ภาคท่องเที่ยวของเราที่มีขนาด 15% ของ GDP จ้างงานคน 10 ล้านคน ได้หายไปทั้งภาค และยังไม่สามารถกลับมาได้
1
ด้วยเหตุนี้ ในวิกฤตครั้งนี้ การที่ภาครัฐจะมุ่งกระตุ้นด้วยเงินเพียงอย่างเดียวตามหลักการของเคนส์ จึงไม่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาได้ทั้งหมด จำเป็นต้องมีการวางแผนในเรื่องวัคซีน การสร้างภูมิคุ้มกัน การสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยและนักท่องเที่ยว ประกอบไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวเพิ่มเข้าไปด้วย จึงจะสามารถช่วยแก้วิกฤตครั้งนี้ได้อย่างยั่งยืน
3
📌 สู่เศรษฐศาสตร์แนวใหม่
สิ่งที่เคนส์คิดไว้เมื่อเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา ได้กลายมาเป็นรากฐานของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แนวใหม่ ที่ถูกเรียกกันต่อมาว่า เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) และได้ถูกนำมาพัฒนาต่อยอด กลายเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์อีกมากมายที่เราได้เห็นในปัจจุบัน และกลายเป็นรากฐานของกรอบการคิด ในการออกนโยบายภาครัฐเพื่อบริหารเศรษฐกิจ เพื่อสู้วิกฤตต่างๆ ทั้งด้านการคลังและการเงิน การใช้จ่ายภาครัฐการเก็บภาษี การขึ้นลงดอกเบี้ย และการพิมพ์เงิน จึงนับได้ว่าจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งที่สร้างคุณูปการต่อวงการเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว
2
ในวันพรุ่งนี้ Bnomics จะนำแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์คนใดมาเล่า อย่าลืมรอติดตามกันนะคะ
#John_Maynard_Keynes #นักเศรษฐศาสตร์ #The_Great_Depression
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน:
ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ :
จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference
โฆษณา