31 ส.ค. 2021 เวลา 13:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ปรับพอร์ตการลงทุน (Portfolio Rebalancing) อย่างไรให้สะสมกำไร และลดความเสี่ยง?
หลังจากที่ได้เสนอไอเดียจัดพอร์ตการลงทุนไปหลายแบบแล้ว วันนี้ #เด็กการเงิน ขอมาเสนอถึงวิธีปรับพอร์ตการลงทุน หรือ Rebalance พอร์ตบ้าง แล้วทำไมต้องมีการปรับพอร์ตด้วยล่ะ? แน่นอนว่าตอนเริ่มลงทุน เราได้กำหนดสัดส่วนการลงทุนของแต่ละกองทุนไว้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป กองทุนแต่ละกองก็จะมีกำไร ขาดทุนเกิดขึ้น ซึ่งทำให้สัดส่วนลงทุนเปลี่ยนไปด้วย กองทุนที่ได้กำไร ก็คือมีเงินเพิ่ม ทำให้สัดส่วนของกองนั้นโตมากกว่าที่ลงทุนตอนแรก ส่วนกองที่ขาดทุน เงินในกองนั้นก็ลดลง ส่งผลให้สัดส่วนที่เราตั้งใจไว้ลดลงด้วยเช่นกัน
ดังนั้นการปรับพอร์ตจะช่วยให้พอร์ตการลงทุนของเรากลับมามีสัดส่วนเท่าเดิมตามที่ตั้งใจไว้ตอนแรก นอกจากนี้เรายังได้ take profit และลดความเสี่ยงรวมของพอร์ตอีกด้วย ลดความเสี่ยงที่ว่านี้คือ รักษาผลตอบแทนที่ทำได้ และไม่ overweight ในกองทุน / สินทรัพย์หนึ่งๆ มากเกินไป
📍การ Rebalance พอร์ตนี้หมายถึง การปรับสัดส่วนโดยอ้างอิงจากแผนการลงทุนตอนแรกเท่านั้น ถ้ามีกองทุนใหม่เข้ามาเพิ่ม ต้องวางแผนให้ดีว่าพอร์ตการลงทุนโดยรวมไม่ได้ผิดเพี้ยนไปมากจากเดิมนัก และแนะนำให้มีการปรับแผนการลงทุนพร้อมกันในรอบถัดไป เพื่อป้องกันการ Rebalance ที่มากเกินไป
ข้อดีของการ Rebalance:
1. สร้างสมดุล Take Profit และลดความเสี่ยงของพอร์ทเมื่อถึงเวลาหรือจุดที่กำหนด
2. สร้างวินัยในการลงทุน มีจัดการการลงทุนอย่างเป็นระบบ
ข้อเสียของการ Rebalance:
1. การ Rebalance เพียงดูแต่สัดส่วน และทำตามเวลา เพียงอย่างเดียว จะไม่ได้มีการพิจารณาว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนจะมีแนมโน้มเป็นอย่างไร
2. บางครั้งการ Rebalance หมายถึงการขายสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนดี และนำเงินไปสมทบสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนต่ำกว่า
การ Rebalance ให้พอร์ตการลงทุน สามารถแบ่งออกได้ 3 แบบด้วยกัน
1. Rebalance ตามระยะเวลาที่กำหนด (Periodic Rebalancing)
2. Rebalance เมื่อเกินสัดส่วนที่ตั้งไว้ (Threshold Rebalancing)
3. Rebalance ปรับเปลี่ยนสัดส่วนตามสถานการณ์หรือเป้าหมายเปลี่ยนแปลงไป (Rebalancing with Reallocation)
1️⃣ Rebalance ตามระยะเวลาที่กำหนด (Periodic Rebalancing)
เมื่อเรากำหนดสัดส่วนกองทุน/หุ้นในพอร์ตของเราชัดเจนแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป ราคาของหลักทรัพย์จะมีการขึ้นลงตลอดเวลา และทำให้ผลตอบแทนมีทั้งบวกและลบ เราจึงต้องกำหนดให้มีการ Rebalance ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 6 เดือน หรือ 12 เดือน เพื่อคุมสัดส่วน การ Rebalance ตามระยะเวลามีหลักการดังนี้
“ตั้งเป้าหมายเวลาในการ Rebalance และปรับสัดส่วนให้กลับมาอยู่ที่จุดตั้งต้น”
📍ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าสัดส่วนการลงทุนของพอร์ตเราเปลี่ยนไปอย่างไร
สมมติเราเริ่มต้นลงทุนด้วยเงิน 100,000 บาท และลงทุน 3 กองทุนให้สัดส่วนดังนี้
1. กองทุน A 40% = 40,000 บาท
2. กองทุน B 30% = 30,000 บาท
3. กองทุน C 30% = 30,000 บาท
ตั้งเวลา Rebalance เป็นทุก 1 ปี
เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี กองทุน A ได้กำไร 30% จะเป็น 52,000 บาท กองทุน B ได้กำไร 20% จะเป็น 36,000 บาท และกองทุน C ขาดทุน 10% จะเหลือ 27,000 บาท รวมเงินในพอร์ตจะเป็น 115,000 บาท เมื่อมาดูสัดส่วนของแต่ละกองทุนจะเป็น
1. กองทุน A 52,000/115,000 = 45.22%
2. กองทุน B 36,000/115,000 = 31.3%
3. กองทุน C 27,000/115,000 = 23.48%
จะเห็นว่ากองทุน A มีกำไรจนสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 45.22% กองทุน B สัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 31.3% ส่วนกองทุน C ขาดทุนจนสัดส่วนลดลงเหลือ 23.48% จาก 30% ดังนั้นการ Rebalance พอร์ตนี้ จะทำให้เราได้ take profit บางส่วน และลงทุนเพิ่มในกองที่ขาดทุนอยู่นั่นเอง
โดยการ Rebalance ให้พอร์ตลงทุนกลับไปมีสัดส่วนเท่าเดิม มูลค่าของแต่ละสัดส่วนจะเป็นดังนี้
1. กองทุน A 40%*115,000 = 46,000 บาท
2. กองทุน B 30%*115,000 = 34,500 บาท
3. กองทุน C 30%*115,000 = 34,500 บาท
ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำก็คือ
1. ขายกองทุน A จำนวน 52,000 - 46,000 = 6,000 บาท
2. ขายกองทุน B จำนวน 36,000 - 34,500 = 1,500 บาท
3. ซื้อกองทุน C จำนวน 34,000 - 27,000 = 7,500 บาท
จะเห็นว่าขายกองทุน A+B จะเท่ากับ 7,500 บาท แล้วนำไปซื้อกองทุน C จำนวน 7,500 บาท เพื่อให้สัดส่วนโดยรวมของพอร์ตเป็นอย่างที่ตั้งใจไว้ตอนแรกคือ 40:30:30 นั่นเอง
1. กองทุน A 40% = 46,000 บาท
2. กองทุน B 30% = 34,500 บาท
3. กองทุน C 30% = 34,500 บาท
2️⃣ Rebalance เมื่อเกินสัดส่วนที่ตั้งไว้ (Threshold Rebalancing)
การ Rebalance แบบตั้งสัดส่วน คล้ายกับการตั้งจุดเตือนภัย (threshold) เมื่อสัดส่วนของสินทรัพย์นั้นปรับตัวขึ้นสูง 10%, 15% หรือ 20% หรือลดลงต่ำกว่า -10% -15% หรือ -20% เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อการทำกำไรเมื่อกองทุนมีการปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าที่เราคาดหวังไว้ และกำหนดว่าเมื่อถึงจุดไหน เราควรเฉลี่ยต้นทุนเพิ่มเติม เพื่อคุมสัดส่วนให้เหมาะสม ลดการถัวเฉลี่ยโดยไม่จำเป็น เช่น การกำหนดว่าทำกำไรจากกองทุน เมื่อสัดส่วนกองทุนหุ้นปรับตัวสูงกว่า 20% จากสัดส่วนเดิม และถัวเฉลี่ยกองทุนเพิ่มเติมเมื่อปรับตัวลดลงต่ำกว่า -20%
การ Rebalance ตามสัดส่วนมีหลักการดังนี้
“ตั้งเป้าสัดส่วนในการ Rebalance และปรับสัดส่วนให้กลับมาอยู่ที่จุดตั้งต้น”
📍ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าสัดส่วนการลงทุนของพอร์ตเราเปลี่ยนไปอย่างไร
สมมติเราเริ่มต้นลงทุนด้วยสัดส่วนใน 3 กองทุนที่เป็นสินทรัพย์ต่างๆกันดังนี้
1. กองทุน A (หุ้น) 60%
2. กองทุน B (ตราสารหนี้) 20%
3. กองทุน C (ตลาดเงิน) 20%
และกำหนดว่ามีสัดส่วนกองทุนหุ้นไม่เกิน 80% ของพอร์ต และไม่น้อยกว่า 40% ของพอร์ต
--ตัวอย่างที่ 2.1 เมื่อลงทุนไปเรื่อยๆ ทำให้สัดส่วนของหุ้นเติบโต และมีสัดส่วนกองทุนอื่นเป็นดังนี้
1. กองทุน A 80% (+20%)
2. กองทุน B 15%
3. กองทุน C 5%
การ Rebalance ตามสัดส่วน คือต้องขายส่วนกองทุน A ออก และปรับสัดส่วนให้กลับมาเป็น:
1. กองทุน A (หุ้น) 60%
2. กองทุน B (ตราสารหนี้) 20%
3. กองทุน C (ตลาดเงิน) 20%
--ตัวอย่างที่ 2.2 เมื่อลงทุนไปเรื่อยๆ ทำให้สัดส่วนของหุ้นลดลง และมีสัดส่วนกองทุนอื่นเป็นดังนี้
1. กองทุน A 40% (-20%)
2. กองทุน B 35%
3. กองทุน C 25%
การ Rebalance ตามสัดส่วน คือต้องลดสัดส่วนกองทุน B, C และปรับสัดส่วนให้กลับมาเป็น:
1. กองทุน A (หุ้น) 60%
2. กองทุน B (ตราสารหนี้) 20%
3. กองทุน C (ตลาดเงิน) 20%
**คำถามคือ ถ้ากำไรของกองทุน B, C ไม่เพียงพอทำให้กองทุน A กลับมาที่เงินเท่าเดิม (พอร์ตรวมขาดทุนมาก) ต้องทำอย่างไร?
คำตอบคือ ลดขนาดของพอร์ตโดยรวมลง หรือ สมทบเงินเพิ่มเข้าไปในกองทุน A (แนะนำอย่างหลัง)
(แต่ถ้าต้องการสัดส่วนเท่าเดิม แม้ว่าจะขาดทุนขนาดไหน ถึงจะไม่เพิ่มเงิน ก็สามารถ Rebalance กลับไปสัดส่วนเดิมได้)
3️⃣ Rebalance ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์หรือเป้าหมายเปลี่ยนแปลงไป (Rebalancing with Reallocation)
การ Rebalance ในลักษณะนี้คำนึงถึงพื้นฐานและปัจจัยแวดล้อมเศรษฐกิจ และนำมาวิเคราะห์ คล้ายกับการทำ Tactical Asset Allocation (TAA) เช่น ปรับสัดส่วนระหว่างสินทรัพย์ให้มีความสอดคล้องกับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น สิ่งนี้คล้ายกับการทำ Rebalance พร้อมกับการ Reallocate สินทรัพย์ให้เป็นในสัดส่วนที่เราต้องการ โดยไม่ขึ้นอยู่กับเวลา และสัดส่วนที่เราตั้งไว้ในตอนแรกแบบหลักการ 1 และ 2 ซึ่งหลักการของการปรับพอร์ตแบบ Rebalancing with Reallocation คือ
“ปรับสัดส่วนปัจจุบัน ให้ตรงกับสถานการณ์ หรือ เป้าหมายใหม่”
📍ยกตัวอย่างเช่น
1. กองทุน A (หุ้น) 60%
2. กองทุน B (ตราสารหนี้) 20%
3. กองทุน C (ตลาดเงิน) 20%
ลงทุนไปสักพัก มีสัดส่วนเป็นดังนี้
1. กองทุน A (หุ้น) 80%
2. กองทุน B (ตราสารหนี้) 10%
3. กองทุน C (ตลาดเงิน) 10%
และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะมีความร้อนแรงน้อยลง (หรือใกล้เกษียณ เลยอยากเสี่ยงน้อยลง เป็นต้น) จึงต้องการทำกำไรและปรับเป็นสัดส่วนใหม่ดังนี้
1. กองทุน A (หุ้น) 40% (ขายกองทุน A ไปกองทุน B, C ตามสัดส่วนใหม่)
2. กองทุน B (ตราสารหนี้) 20%
3. กองทุน C (ตลาดเงิน) 40%
🎯สิ่งที่คนมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Rebalancing กับการทำกำไรกองทุนรายตัว คือ การ Rebalance Port นั้น จะทำกับทุกสินทรัพย์ในพอร์ต มีการปรับเปลี่ยนพร้อมกันอย่างเป็นระบบ แต่การทำกำไรกองทุนรายตัวนั้นเป็นการทำกำไรระยะสั้นของกองทุนหนึ่งๆ เท่านั้น ซึ่งการทำกำไร หรือตัดขาดทุนกองทุนหนึ่งๆ ไม่ใช่การทำ Rebalance*
** เราได้ทำ mind map ในการทำกำไร หรือตัดขาดทุน ของกองทุนหนึ่งๆไว้อย่างเป็นระบบ ติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/DekFinance101/posts/230442355639902 **
📌ข้อสังเกตและสรุป
1. เมื่อมีการลงทุนระยะยาว ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เพิ่มกองทุนใดๆ เข้ามาในพอร์ต แต่พอร์ตของเราก็จะไม่ได้มีสัดส่วนเท่าเดิมเสมอ อย่างที่อธิบายไปแล้ว ดังนั้นการ Rebalance จะช่วยให้พอร์ตการลงทุนของเรากลับมามีสัดส่วนเท่าเดิมตามที่ตั้งใจไว้ตอนแรก ซึ่งเราอาจตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะรีวิวและปรับพอร์ตทุกไตรมาส ทุกครึ่งปี หรือตั้ง target กำไรรวมของพอร์ตเอาไว้ เมื่อถึงเวลาหรือถึงเป้าก็มาทำ Rebalance นั่นเอง ตามที่ได้อธิบายไปในข้อ 1️⃣ และ 2️⃣
2. การเพิ่มกองทุนใหม่เข้ามา ต้องพิจารณาสัดส่วนให้ดี ทยอยเข้าโดยที่สัดส่วนไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ หรือ เพิ่มในช่วงทำ Rebalance ก็เป็นทางเลือกที่ดี
3. ต้องไม่ลืมว่าการปรับพอร์ตนี้ต้องเสียค่าธรรมเนียมซื้อขายด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรปรับพอร์ตบ่อยเกินไป หรือตั้ง Target กำไรที่น้อยเกินไป
4. เนื่องจากเราคำนวณโดยดูจากเงินลงทุนปัจจุบัน แต่การซื้อขายจริงๆนั้น เรายังไม่รู้ว่าจะได้ NAV เท่าไหร่ ดังนั้นสัดส่วนที่ได้จากการซื้อขายจริงๆอาจจะต่างกันเล็กน้อย การคำนวณนี้ช่วยในการปรับพอร์ตโดยประมาณเท่านั้น
🚩พิเศษ! เราแจก Excel สำหรับนำไปคำนวณเพื่อ Rebalance พอร์ตกันด้วยนะ โดยในแต่ละแผนการลงทุนสามารถมีได้ถึง 20 กองทุน เพียงแค่ระบุเงินต้นที่เริ่มลงทุน ชื่อกองทุน สัดส่วนการลงทุน และระบุว่าปัจจุบันเงินลงทุนเป็นเท่าไรแล้ว เพียงเท่านี้ Excel เราก็จะคำนวณให้ว่าเราต้องทำรายการซื้อ หรือขายกองทุนไหนบ้าง เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ เพื่อให้พอร์ตรวมของเรากลับไปมีสัดส่วนการลงทุนอย่างที่ตั้งใจไว้ตอนแรก
เข้าร่วม FB group ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้ และไปที่แท็บ Announcement (ประกาศ) จะมีลิ้งค์ Google Drive ให้เข้าไปโหลดไฟล์ Excel ได้ ชื่อไฟล์ “Rebalance Template by DekFinance”
โฆษณา