31 ส.ค. 2021 เวลา 13:38 • ไลฟ์สไตล์
ความสุขยังอยู่ดีหรือเปล่า?
รู้จัก ‘Five Thieves of Happiness’ ห้าจอมโจรปล้นความสุขตัวฉกาจของคุณ
.
.
ความสุขในชีวิตคุณมาจากไหน?
.
จากการที่ทุกๆ อย่างเป็นไปตามความคาดหวังของเรา
จากการได้เลือกทำแต่สิ่งที่เราชอบ จากการได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ
จากการอยู่แบบสบายๆ ไม่ต้องลุ้นไม่ต้องเครียด
หรือมันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวเราเอง โดยไม่ต้องทำอะไรให้ได้มา
.
แล้วคุณคิดว่า ในบางช่วงเวลา...ความสุขของเราหายไปไหน?
.
1
เพื่อจะหาคำตอบในเรื่องนี้ เราจึงอยากแนะนำให้คุณได้ทำความรู้จักกับเรื่อง ‘The Five Thieves of Happiness’ หรือห้าจอมโจรปล้นความสุข ซึ่งเป็นหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นโดย Dr.John Izzo นักเขียนและนักพูดสร้างแรงบันดาลใจด้านการทำงาน หนังสือเล่มนี้ได้พูดถึง ‘โจร’ ห้าคน ที่ไม่ได้มาปล้นหรือขโมยสิ่งของ แต่พวกมันกระทำการอุกอาจกว่านั้น ด้วยการปล้น ‘ความสุข’ ของเราไป
.
“เราถูกฝึกให้คิดว่า เราต้องตามหา ใช้ชีวิต และทำงานเพื่อสิ่งที่เรียกว่าความสุข จนเราหลงลืมไปว่า สิ่งที่เรากำลังไขว่คว้านั้นอยู่ตรงนี้เอง รอคอยแค่เราจะเข้าถึงมัน”
.
ในอีกแง่หนึ่ง ความสุขนั้นไม่ใช่สิ่งที่อยู่ข้างนอก แต่มันมีอยู่แล้วภายในตัวเรา การตามหาความสุขจากสิ่งภายนอกจึงทำให้เรายิ่งห่างไกลจากมันไปเรื่อยๆ แต่คำถามก็คือ ถ้าหากความสุขนั้นอยู่ในตัวเราแล้ว ทำไมเราจึงไม่รู้สึกมีความสุขเสียที?
.
1
“ก็เพราะมันโดนโจรทั้งห้าขโมยไปยังไงล่ะ!” Izzo ให้คำตอบ
.
เราลองมารู้จักโจรทั้งห้าที่ชอบขโมยความสุขของเราไปพร้อมๆ กัน
.
โจรคนแรก: การควบคุม (Control)
เราอยากให้ทุกสิ่งเป็นไปตามการควบคุมของตัวเอง
.
ในทุกๆ วันเราจะพบสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อความสุข ทั้งผู้คนที่ไม่ได้อย่างใจ ฟ้าฝนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ หรือกระทั่งใจของเราเองที่บังคับให้เป็นไปตามต้องการไม่ได้ การพยายามทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามการควบคุมจึงไม่อาจเป็นไปได้เลย เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราไม่ได้มีพลังวิเศษเช่นนั้น เพื่อจะจัดการกับโจรคนแรกนี้ เราต้องรู้จักอาวุธที่ชื่อว่า “การปล่อยวาง” เรียนรู้ว่าอะไรบ้างที่เราควบคุมไม่ได้ และพยายามยอมรับมัน หาวิธีป้องกัน หรือลดแรงกระแทกจากเอฟเฟกต์ของมันแทน
.
2
โจรคนที่สอง: การเห็นแก่ตัว (Conceit)
สิ่งที่ขโมยความสุขของเราไป ก็คือความเห็นแก่ตัวของเราเอง
.
เมื่อพูดถึงลักษณะนิสัยเห็นแก่ตัว เราก็มักจะนึกถึงคนที่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ตัดสินใจว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำจากประโยชน์ส่วนตน เลือกแต่สิ่งที่ตัวเองจะมีความสุขที่สุด ฟังดูแล้วถึงจะไม่ใช่นิสัยที่เราอยากพบเจอ แต่ก็น่าคิดว่า การเป็นคนเห็นแก่ตัวก็น่าจะทำให้ตัวเองพบเจอแต่ความสุขไม่ใช่เหรอ -- คำตอบคือ ‘ไม่ใช่’ การมุ่งสนใจแต่ความสุขของตนเอง โดยไม่ให้ค่ากับความต้องการของผู้อื่น ไม่ใช่วิธีสร้างความสุขระยะยาว ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปันต่างหาก ที่จะทำให้ความสุขขยายใหญ่ออกไปได้
.
3
โจรคนที่สาม: ความโลภ (Coveting)
การไม่รู้จักพอและความอิจฉาริษยาไม่เคยสร้างความสุขให้เรา
.
จากโจรคนที่แล้วที่บอกเราว่า ชีวิตที่คิดถึงความสุขของผู้อื่นบ้างคือชีวิตที่สามารถไปสู่ความสุขที่แท้จริง แต่ความปรารถนานั้นเป็นสิ่งที่มาพร้อมการเป็นมนุษย์ ความอยากได้อยากมีบางทีก็ขับเคลื่อนชีวิต เพื่อให้เรามุ่งไปเสาะแสวงหาสิ่งซึ่งเติมเต็มความสุข แต่บางครั้งเราก็เผลอเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น มองเห็นสิ่งที่ตัวเองขาด และอาจเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากให้คนอื่นได้มีความสุขไปด้วย จงเรียนรู้ที่จะใช้ความโลภเป็นเพียงแรงขับเคลื่อน ไม่ใช่เพื่ออิจฉาริษยา หรือไขว่คว้าจนไม่เห็นปลายทาง
.
โจรคนที่สี่: การหลงวัตถุภายนอก (Consumption)
โจรร้ายที่คอยกระซิบเราว่า ‘ของมันต้องมี!’
.
จริงๆ แล้ว Consumption นั้นมีความหมายว่า การบริโภค แต่คำอธิบายถึงโจรคนที่สี่นี้ เราสรุปเป็นคำที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า ‘การหลงวัตถุภายนอก’ มันคือพฤติกรรมการเติมเต็มชีวิตด้วยข้าวของที่เราคิดว่าต้องมี เมื่อมีแล้วก็รู้สึกว่าต้องหามาอีกเรื่อยๆ เพราะความพึงพอใจที่เกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งที่ได้สิ่งนั้นๆ ทำให้เรารู้สึกว่านั่นคือความสุข จนเกิดวัฏจักรการแสวงหาสิ่งเติมเต็มความสุขไม่จบไม่สิ้น แต่ Izzo แนะนำไว้ว่า ความสุขไม่ควรเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหา ในขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องหลีกหนีหรือปฏิเสธมัน
.
4
โจรคนที่ห้า: ความสบาย (Comfort)
คอมฟอร์ตโซนคือหลุมพรางล่อลวงที่ใหญ่ที่สุด
.
โจรคนสุดท้ายอาจทำให้เราตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วเขา ‘มาดี’ มากกว่าเป็นโจรหรือเปล่า เพราะความสบายเป็นบ่อเกิดของความสุขในหลายๆ เรื่อง ชีวิตที่มีคอมฟอร์ตโซนสร้างความรู้สึกมั่นคง ไม่ต้องหวาดกลัวกับอนาคตไม่ใช่หรือ? แต่ถ้าหากคุณลองคิดให้ดี ชีวิตที่ติดกับดักของความสบาย จะเป็นอย่างไรหากพายุลูกใหญ่ที่ชื่อว่า ‘ความเปลี่ยนแปลง’ มาถึง ความสบายทำให้เราขาดการเตรียมตัวรับมือ ความสุขที่ปรากฏอาจหลุดลอยไปได้ทุกเมื่อ สำหรับการต่อสู้กับโจรคนสุดท้าย Izzo บอกว่า ‘ถ้าหากเราไม่เคยเผชิญความเสี่ยง เราก็จะไม่มีวันรู้สึกได้เติมเต็ม’
.
.
แนวคิดเรื่อง ‘Five Thieves of Happiness’ นั้นชวนให้เราได้ตรวจสอบ ‘ความสุข’ ในชีวิต ด้วยการจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกหรือพฤติกรรมทั้ง 5 อย่างนั้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้การตามหาความสุขมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า องค์ประกอบก่อนที่เราจะจัดการกับโจรทั้งห้าได้ ย่อมมาจากการได้รับการตอบสนองขั้นพื้นฐานเสียก่อน
.
ผู้เขียนบทความจึงคิดว่า แนวคิดเรื่องห้าโจรนั้นสามารถปรับใช้ได้ดี สำหรับคนที่ได้รับสิ่งจำเป็นพื้นฐานอย่างเพียงพอแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่มีแม้แต่ Basic Needs การบอกให้เขาจัดการกับการพยายามควบคุมทุกอย่าง ความเห็นแก่ตัว ความโลภ การเสพติดอยากได้อยากมี และความสบาย นั้นอาจยังไม่ใช่คำตอบที่ตรงโจทย์นัก
.
1
อย่างไรก็ตาม หนังสือเรื่อง ‘Five Thieves of Happiness’ ก็ยังมีความน่าสนใจและสามารถดึงแนวคิดบางส่วนมาปรับใช้ได้มาก เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เราได้หวนคิดถึง ‘โจรร้าย’ และได้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น ก่อนที่มันจะค่อยๆ ย่องมาขโมยความสุขของเราอีกครั้ง
.
.
ขอให้ความสุขอยู่กับเราทุกคน แม้ในเวลาที่ยากจะค้นพบเหลือเกินอย่างเช่นตอนนี้
.
.
แปลและเรียบเรียงจาก:
.
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
โฆษณา