1 ก.ย. 2021 เวลา 02:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สุนัขกับแมว ใครฉลาดกว่ากัน ?
#ในทางวิทยาศาสตร์
(เรียบเรียงโดย ยิ่งยศ ลาภวงศ์)
2
สุนัขและแมว คือ สัตว์เลี้ยงคู่ใจ ที่ถูกมนุษย์นำมาเลี้ยงตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว นอกจากขนนุ่มนิ่มน่าสัมผัส และดวงตาออดอ้อน สัตว์ทั้งสองมีความฉลาดโดดเด่นที่ทำให้พวกเรารักมันมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม สุนัขและแมวกลับมีนิสัยที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ทำให้เกิดการแบ่งขั้วระหว่างผู้ที่รักพวกมัน จนบางครั้งลุกลามไปเป็นการถกเถียงเพื่อช่วงชิงตำแหน่ง สัตว์เลี้ยงที่ฉลาดที่สุด
เว็บไซต์ statista.com ให้ข้อมูลว่า ในปี ค.ศ. 2018 มีสุนัขที่เป็นสัตว์เลี้ยงประมาณ 471 ล้านตัว ในขณะที่มีแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงเพียงแค่ 373 ล้านตัว ซึ่งดูเผิน ๆ แล้วอาจจะตีความได้ว่าในโลกนี้มีคนรักสุนัขมากกว่าคนรักแมว
อย่างไรก็ตามสมมุติฐานนั้นอาจจะไม่ได้ถูกต้อง 100% เนื่องจากเป็นไปได้ว่าจำนวนสุนัขในแต่ละบ้าน อาจจะมากกว่าจำนวนแมว นอกจากนี้สุนัขยังถูกเลี้ยงเพื่อจุดประสงค์หลายอย่าง นอกจากเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนแล้ว พวกมันยังถูกเลี้ยงไว้เพื่อใช้งานต่าง ๆ เช่น ต้อนฝูงปศุสัตว์ ช่วยล่าสัตว์ ช่วยคนตาบอด ลากเลื่อน หรือแม้แต่มีหน้าที่ในกิจการตำรวจและทหาร ในขณะที่แมวไม่ได้ทำหน้าที่อย่างอื่นเลยนอกจากเล่นกับคน(ซึ่งบางทีมันก็ไม่ค่อยเล่นกับเรา) นั่นแปลว่าในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว จำนวนคนรักสุนัข และคนรักแมว อาจจะมีจำนวนไม่ต่างกันซักเท่าไหร่นัก
2
ที่มา : https://resources.bestfriends.org/article/how-introduce-dog-cat
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจกับพฤติกรรม และความฉลาดของสัตว์ โดยใช้พฤติกรรมและความสามารถในการสื่อสารเป็นตัวชี้วัด ในปี ค.ศ. 1998 ทีมนักวิจัย นำโดย Adam Miklosi จาก EötvösLoránd University พบว่า สุนัขสามารถเข้าใจ “การชี้” ได้ ซึ่งความสามารถนี้เป็นความสามารถในการเข้าใจการสื่อสารที่ไม่พบในสัตว์ชนิดอื่น แม้แต่กลุ่มวานรซึ่งเป็นญาติสนิทของมนุษย์เรา การค้นพบนี้เป็นเหมือนเป็นการจุดชนวนให้เกิดการศึกษาความฉลาดของสุนัขอย่างมากมายในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งการทดลองส่วนใหญ่นั้นได้ข้อสรุปไปในแนวทางเดียวกันที่ว่า "สุนัขฉลาดกว่าแมว"
Adam Miklosi นักพฤติกรรมวิทยา ที่มา : Wikipedia
อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2005 ทีมวิจัยเดิมจาก EötvösLoránd University ได้ค้นพบว่า อันที่จริงแล้ว แมวก็สามารถเข้าใจการชี้ของมนุษย์ เหมือนกับสุนัข แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ แมวมักไม่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการทดลอง พวกมันนึกอยากจะไม่สนใจขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ นั่นทำให้เกิดคำถามว่า หากเอานิสัยเอาแต่ใจของแมวมาพิจารณาด้วย การทดสอบความฉลาดที่ผ่าน ๆมาจะชี้วัดความฉลาดของแมวได้จริงหรือ?
1
ย้อนกลับไป ในปี ค.ศ. 1963 นักวิทยาศาสตร์ชื่อ Glen D. Jensen ได้ค้นพบพฤติกรรมที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง เขาพบว่าสัตว์บางชนิดนั้นชอบที่จะทำงานเล็ก ๆ น้อย เช่น การกดปุ่ม หรือการเปิดฝา เพื่อแลกกับของกิน มากกว่าที่จะได้ของกินมาแบบฟรี ๆ โดยไม่ทำอะไรเลย ซึ่งพฤติกรรมการทำงานแลกของกินนี้เรียกว่า Contrafreeloading พฤติกรรมดังกล่าวถูกพบในสัตว์มีกระดูกสันหลังจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ปลา นก หนู สุนัข วานร หรือมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าพฤติกรรมทำงานแลกของกินนี้ทำให้สัตว์เกิดความตื่นเต้น หรือสนุก เปรียบเหมือนกับการได้รางวัลตอบแทน นั่นทำให้การศึกษาความฉลาดของสัตว์มักจะใช้รางวัลซึ่งเป็นอาหารมาเป็นเครื่องล่อใจ เพื่อให้สัตว์แสดงออกถึงความสามารถในการแก้ปัญหา
1
ที่มา : https://dogdiscoveries.com/glossary/what-is-contra-freeloading
อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมานี้เอง ทีมนักวิจัย นำโดย Mikel M. Delgado จาก University of Californiaพ บว่าแมวนั้นเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงชนิดเดียวที่ชอบกินของฟรี โดยไม่ทำงานแลก พวกมันเลือกที่จะหาความสนุกและตื่นเต้นได้เองเมื่อมันต้องการ ดังเช่นที่เราเห็นแมวล่าเหยื่อเล่น ๆ โดยไม่ได้กินเป็นอาหาร การค้นพบนี้อาจนำไปสู่การทบทวนวิธีการวัดความฉลาดของแมว ซึ่งในที่สุดแล้วเราอาจจะพบว่าแมวนั้นไม่ได้ฉลาดน้อยกว่าสุนัขเลย
3
สุนัขนั้นมีบรรพบุรุษที่เป็นสัตว์สังคม พวกมันจึงมีปฏิสัมพันธ์และเอาใจมนุษย์ แต่แมวนั้นเป็นสัตว์ที่สันโดษกว่า มันจึงจะทำตามที่พวกจ้าวมานู้ดต้องการก็ต่อเมื่อมันอยากได้สิ่งแลกเปลี่ยน เมื่อสมใจแล้วก็สะบัดตูดหนี .
ลองคิดดูแล้วกันว่าใครฉลาดกว่ากัน ?
2
ที่มา : Wikipedia
คำเตือน: บทความนี้อาจมีอคติเข้าข้างแมว เนื่องจากผู้เขียนเป็น #ทาสแมว
2
Delgado, M. M., B. S. G. Han, and M. J. Bain. 2021. Domestic cats (Feliscatus) prefer freely available food over food that requires effort. Animal Cognition.
Jensen, G. D. 1963. Preference for bar pressing over "freeloading" as a function of number of rewarded presses. J ExpPsychol65:451-454.
Miklosi, A., R. Polgárdi, J. Topál, and V. Csányi. 1998. Use of experimenter-given cues in dogs. Animal Cognition 1:113-121. https://doi.org/10.1007/s100710050016
Miklosi, A., P. Pongracz, G. Lakatos, J. Topál, and V. Csányi. 2005. A comparative study of the use of visual communicative signals in interactions between dogs (Canisfamiliaris) and humans and cats (Feliscatus) and humans. Journal of comparative psychology (Washington, D.C. : 1983) 119:179-186. https://doi.org/10.1037/0735-7036.119.2.179
โฆษณา