1 ก.ย. 2021 เวลา 13:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ
​​“ฮาเย็ก” คู่ดีเบทแห่งศตวรรษของเคนส์ ผู้วางรากฐานแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism)
Friedrich Hayek
สำหรับใครหลายคนที่เห็นชื่อของฟรีดริช ฮาเย็ก คงฟังดูคุ้นกันไม่น้อย เพราะนี่คือชื่อของนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของสำนักเศรษฐศาสตร์ออสเตรีย ซึ่งเชื่อในเรื่องของตลาดเสรี ผู้ซึ่งได้ท้าทายปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์อย่างจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ซึ่งมีอายุมากกว่าเขาเกือบ 20 ปี และนำไปสู่การตอบโต้กันผ่านทางจดหมาย และบทความ จนเป็นที่มาของดีเบทแห่งศตวรรษระหว่างเคนส์และฮาเย็ก ซึ่งได้กลายเป็นบทเรียนให้เหล่านักเรียนเศรษฐศาสตร์ได้ศึกษาและประชันความคิดมาจนถึงทุกวันนี้
📌 “เคนส์” ในฐานะฮีโร่ของ “ฮาเย็ก” ในวัยหนุ่ม
แต่เชื่อหรือไม่ ความจริงแล้ว มีเกร็ดที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง โดยก่อนที่จะมีการประชันแนวคิดกันขึ้นในช่วงปี 1930 หากมองย้อนกลับไปประมาณหนึ่งทศวรรษก่อนหน้า ฮาเย็ก ผู้ซึ่งอยู่ในวัยหนุ่ม และกำลังร่วมรบอยู่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ได้มีโอกาสใช้เวลาที่ว่างระหว่างสงครามในการอ่านหนังสือเศรษฐศาสตร์ฆ่าเวลา และได้กลายเป็นส่วนสำคัญของความชื่นชอบในวิชาเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่นั้นมา (ขณะนั้น เคนส์มีบทบาทสำคัญอยู่ในกระทรวงการคลังของอังกฤษแล้ว) โดยภายหลังที่สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ฮาเย็กเดินทางกลับบ้านไปฐานะผู้แพ้สงคราม พบว่าสภาพออสเตรีย บ้านเกิดของเขาซึ่งแต่เดิมเคยเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของยุโรป ได้กลายมาเป็นซากปรักหัก
ฮาเย็กเคยร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ของกองทัพทหารออสเตรีย
ส่วนเคนส์ทำหน้าที่อยู่ในกระทรวงการคลังของอังกฤษ และเป็นตัวแทนในการเจรจาพูดคุยข้อตกลงสำหรับประเทศที่พ่ายแพ้สงครามใน Paris Peace Conference เมื่อปี 1919 โดยเคนส์ได้วิจารณ์ข้อตกลงที่มีการพูดคุยหารือกันอย่างรุนแรงว่า เป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรม ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่พ่ายแพ้สงครามอย่างเยอรมนีและออสเตรีย พังพินาศ สิ้นเนื้อประดาตัว โดยเคนส์ได้เขียนข้อวิจารณ์ดังกล่าวออกมาเป็นหนังสือที่ชื่อว่า The Economic Consequences of Peace ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชนในชาติที่พ่ายแพ้สงคราม รวมไปถึง ฮาเย็ก ซึ่งได้ประสบพบเจอกับปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมากที่บ้านเกิดอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น Hyperinflation ตลอดไปจนถึงภาวะอดอยาก โดยฮาเย็กได้เคยกล่าวว่า “เคนส์เปรียบเสมือนดั่งฮีโร่ของชาวยุโรปกลาง (Central European)”
ข้อตกลงสันติภาพ ณ Paris Peace Conference ปี 1919
📌 เมื่อสงครามจบ...ฮาเย็กเดินทางเข้าสู่มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ฮาเย็กก็ได้กลับเข้าไปเรียนเศรษฐศาสตร์ตามที่ตั้งใจไว้ ณ มหาวิทยาลัยออสเตรีย และถูกฝึกสอนภายใต้กรอบแนวคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์ออสเตรีย ที่เชื่อในระบบตลาดเสรี การไม่เข้ามาแทรกแซงของภาครัฐ ซึ่งได้กลายเป็นเสาหลักสำคัญของแนวคิดและการสร้างงานเขียนทางเศรษฐศาสตร์ในช่วงต่อจากนั้นมา จนกระทั่งที่เขาได้เดินทางไปเป็นอาจารย์ที่ London School of Economics โดยคำเชิญของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง ไลโอเนล รอบบินส์ ซึ่งในตอนนั้น ที่ต้องการให้เสียงของสำนักเศรษฐศาสตร์ LSE ดังเท่ากับ Cambridge ซึ่งมีเคนส์ประจำอยู่ได้
ในช่วงเวลาที่อยู่ LSE ฮาเย็กได้เริ่มจัดการบรรยาย เขียนบทความ รวมไปถึงเขียนจดหมายไปถึงเคนส์ เพื่อแสดงถึงความไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดของเคนส์ ซึ่งได้มีการเสนอแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบใหม่ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (The Great Depression) ที่ทั่วโลกกำลังประสบอยู่ในขณะนั้น ซึ่งเคนส์ได้เสนอว่า วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำ และเงินออมที่มีอยู่สูงเกินไป
2
เพราะฉะนั้น การจะออกจากวิกฤติดังกล่าวให้ได้ รัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้คนนำเงินออมของตัวเองไปใช้จ่าย ขณะเดียวกัน ทำให้ต้นทุนกู้ยืมถูกสำหรับบริษัทต่างๆ เพื่อจะได้กู้เงินไปลงทุน พร้อมกันนั้น รัฐบาลก็ควรกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้จ่ายขาดดุล สร้างโครงการสาธารณะ (Public Works) ต่างๆ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้นการจ้างงาน
แต่ฮาเย็กเห็นต่าง สิ่งที่เขาเชื่อก็คือ วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้นเกิดขึ้นจากการตั้งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไปโดยธนาคารกลาง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเงินออมและเงินลงทุนเสียสมดุล ส่งผลให้เกิดการขยายตัวที่ไม่ยั่งยืนของสินเชื่อ และนำไปสู่การลงทุนที่ผิดพลาด ก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด โดยทางออกที่ฮาเย็กได้เสนอเอาไว้คือการไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้กลไกตลาดพยายามปรับตัวเองจนเข้าสู่ดุลยภาพในที่สุด เพราะยิ่งแทรกแซง ก็จะยิ่งก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรังแต่จะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นในระยะยาวเสียอีก
3
ดีเบทของฮาเย็กกับเคนส์ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อฮาเย็กได้เขียนบทความวิจารณ์งานของเคนส์อย่างรุนแรง ขณะเดียวกัน เคนส์ก็ได้เขียนโต้กลับฮาเย็กอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน โดยการดีเบทของปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ทั้งสองได้ดำเนินไป ทั้งผ่านบทความ ไปถึงจดหมายที่ทั้งคู่เขียน เพื่อตอบข้อโต้แย้งของกันและกัน และสิ้นสุดลงเมื่อเคนส์ได้เขียนจดหมายโต้ตอบฮาเย็กเพื่อขอบคุณที่ได้พยายามชี้แจงข้อสงสัยของตัวเองอยู่เรื่อย และขอจบการดีเบทแต่เพียงเท่านั้น เพราะเคนส์จะหันไปให้ความสำคัญกับสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการโต้เถียงด้านวิชาการ นั่นคือการผลักดันทางออกจากวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนั้นนั่นเอง ซึ่งภายหลังก็ได้เกิดเป็นงานเขียนชื่อดังที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อ The General Theory of Employment, Interest, and Money
1
อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังจากนั้น ก็ยังมีการประชันความคิดกันอยู่เรื่อย ๆ ผ่านลูกศิษย์ลูกหาของปรมาจารย์ทั้งสอง มีการเขียนบทความเพื่อแย้งกันอยู่ตลอด แต่แล้ว จุดเปลี่ยนที่สำคัญก็เกิดขึ้นในปี 1936 เมื่อหนังสือ The General Theory of Employment, Interest, and Money ได้ถูกตีพิมพ์และรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกได้ใช้แนวคิดของเคนส์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังเช่น อเมริกาที่มีการใช้นโยบาย New Deal ของประธานาธิบดี Roosevelt ซึ่งได้ทำให้ประเทศเหล่านี้ออกจากวิกฤติในที่สุด ส่งผลให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Keynesian Revolution และฉันทามติเคนส์ (Keynesian Consensus) ขึ้น ซึ่งทำให้แนวคิดของเคนส์ได้กลายมาเป็นเสาหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในช่วงราวครึ่งศตวรรษต่อมา
หลังจากนั้น ฮาเย็กก็ได้เก็บตัวเงียบไป และเขียนงานชื่อดังของเขาที่ชื่อ The Road to Serfdom ออกมาในปี 1944 เพื่อวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจ ที่บทบาทของภาครัฐได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเขาได้บอกว่านโยบายเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ ที่ภาครัฐมีบทบาทมากเช่นนี้ ท้ายสุดแล้ว จะนำพาเราไปสู่สังคมอำนาจนิยมในที่สุด ดังเช่นในอิตาลี หรือเยอรมนี ที่พรรคอำนาจนิยมได้ขึ้นมามีอำนาจ จากที่ภาครัฐมีบทบาทในนโยบายเศรษฐกิจที่มากเกินไป
1
นอกจากนี้ ฮาเย็กยังได้ก่อตั้ง The Mont Perelin Society ซึ่งเป็นที่พบปะกันของนักเศรษฐศาสตร์ นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ ที่เชื่อในเรื่องของตลาดเสรี มุ่งค้านแนวคิด Big Government ร่วมกัน แต่ในช่วงแรกนั้น ก็ยังไม่ได้มีอิทธิพลมากนัก เนื่องจากสังคมยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของ Keynesian Consensus อยู่
ฮาเย็กก่อตั้ง The Mont Perelin Society ในทศวรรษ 1940 ซึ่งรวมคนที่เชื่อเรื่องของตลาดเสรี
📌 จุดจบของฉันทามติเคนส์...สู่การหวนคืนสู่แนวคิดตลาดเสรี (The Demise of Keynesian Consensus to the Return of Laissez-faire)
กระทั่งในปี 1970 ที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้ง จากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูง ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจฝืดเคือง การว่างงานที่อยู่ในระดับที่สูง หรือที่เรียกกันว่า Stagflation ซึ่งวิกฤติดังกล่าวส่งผลให้นโยบายการกระตุ้นแบบเคนส์ที่เคยทำมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาไม่เวิร์คอีกต่อไป เพราะยิ่งทำสถานการณ์ก็ยิ่งแย่ลง
1
ทำให้รัฐบาลละทิ้งนโยบายเศรษฐกิจแบบเคนส์ที่เคยทำมา เป็นจุดสิ้นสุดของ Keynesian Consensus ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน และหันกลับไปพึ่งตลาดเสรีอีกครั้ง โดยส่วนสำคัญของเรื่องนี้ก็คือจาก The Mont Pelerin Society ซึ่งฮาเย็กได้ก่อตั้งมา ที่แม้ว่าจะไม่มีอิทธิพลในช่วงแรก แต่ในช่วงที่ผ่านมา ก็ได้ผลิตลูกศิษย์ลูกหาต่างๆ ออกไปอยู่ตามมหาวิทยาลัย สื่อ สถาบันการเงิน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ตั้งแต่ Institute of Economic Affairs ในอังกฤษ The Heritage Foundation ในสหรัฐฯ ไปจนถึง IMF และธนาคารโลก
1
ในช่วงดังกล่าว รัฐบาลที่ได้ขึ้นชื่อในเรื่องการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้มากที่สุดก็คือรัฐบาลของโรนัลด์ เรแกน ในสหรัฐฯ และรัฐบาลของมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ในอังกฤษ จนก่อกำเนิดเป็นคำที่เรียกนโยบายเศรษฐกิจของผู้นำทั้งสองว่า Reaganomics และ Thatcherism ตามลำดับ โดยนโยบายของผู้นำทั้งสองเน้นไปที่การสนับสนุนตลาดเสรี อย่างเช่นในสหรัฐฯ ก็มีการลดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ ลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
1
นโยบายเศรษฐกิจ Reaganomics ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน
ในอังกฤษ ก็มีการลดกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่นเดียวกัน ตลอดไปจนถึงการลดรัฐสวัสดิการต่างๆ เพื่อไม่ให้ภาครัฐมีบทบาทมากเกินไป รวมทั้งการแปรรูปสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เนื่องจากในช่วงก่อนหน้าที่แทตเชอร์จะขึ้นดำรงตำแหน่งนั้น แรงงานของรัฐวิสาหกิจมีการหยุดงานประท้วงทุกวัน ไฟฟ้าดับ ขยะล้นเมือง
Thatcherism นโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของพรรคอนุรักษ์นิยมนำโดย มาร์กาเร็ต แทตเชอร์
นโยบายทางเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก และได้นำไปสู่การเกิดขึ้นของเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ซึ่งเชื่อในเรื่องของตลาดเสรี การจำกัดอำนาจรัฐ ซึ่งได้กลายเป็นแนวคิดหลักที่นำนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจตั้งแต่นั้นมา
แนวคิดตลาดเสรีต่างๆ ที่ถูกริเริ่มโดยฮาเย็กและ The Mont Pelerin Society อย่างเช่นการลดกฎเกณฑ์ (Deregulation) การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน (Liberalization) ได้ถูกนำไปใช้แพร่หลาย จนกระทั่งถูกนำไปบรรจุในฉันทามติวอชิงตัน (The Washington Consensus) ซึ่งใช้เป็นเงื่อนไขสำหรับประเทศที่ประสบวิกฤติเศรษฐกิจปฏิบัติตาม เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศอย่าง IMF และธนาคารโลก
จอห์น วิลเลียมสัน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้ให้กำเนิด Washington Consensus
ขณะเดียวกัน แม้ว่าแนวคิดของเคนส์จะไม่ได้มีอิทธิพลเมื่อดังช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว แต่ก็ไม่ได้หายไปไหน แนวคิดของเคนส์ยังคงเป็นเสาหลักของหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ที่นักเรียนทุกคนยังเรียนกันจนถึงปัจจุบัน และนโยบายที่รัฐบาลและธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกใช้ก็ต่างอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดเคนส์ทั้งสิ้น ควบคู่กับนโยบายตลาดเสรี หรือที่รู้จักกันในฐานะเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism)
1
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่นิยามการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา จึงกล่าวได้ว่า ทั้งฮาเย็กและเคนส์ก็คือปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์สองคนที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ได้วางรากฐานและนิยาม “เศรษฐศาสตร์” และ “นโยบายเศรษฐกิจ” ที่เราได้เห็นกันทุกวันนี้ นั่นเอง
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
Keynes Hayek - The Clash the Defined Modern Economics โดย Nicholas Wapshott
โฆษณา