1 ก.ย. 2021 เวลา 13:26 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ดัชนี S&P500 ถึงจุดสูงสุดแล้วจะเป็นไงต่อ
วันก่อนผมเจอบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถิติของดัชนี S&P500 วันนี้ขอเอามาเล่าให้ฟังกันครับ
ต้องบอกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในตลาดที่แข็งแกร่งมาก ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด กว่า 100% และเดินหน้าทำ New high อย่างต่อเนื่อง
ณ วันอังคารที่ 31 ส.ค. 2021 ที่ผมติดตามล่าสุด ดัชนี S&P500 ทำราคาปิดที่ 4,522.68 จุด
นับเป็นระยะเวลาประมาณ 10 เดือนแล้ว (หรือกว่า 200 วันทำการซื้อขาย) นับตั้งแต่ 4 พ.ย. 2020 ที่ดัชนี S&P500 ไม่เจอกับการปรับฐานที่ลดลงจากจุดสูงสุดเกิน 5% และนับถึงวันนี้ สถิตินี้ก็ยังดำเนินต่อไปครับ
แต่ถามว่าครั้งนี้เป็นระยะเวลาที่ดัชนีไม่ปรับตัวลดลงกว่าจุดสูงสุดเกิน 5% ที่นานที่สุดหรือไม่ คำตอบ คือ ยังไม่ใช่ครับ
โดยสถิติที่ยาวนานที่สุดเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. 2016 ถึงวันที่ 2 ก.พ. 2018 เป็นเวลากว่า 19 เดือน (404 วันทำการซื้อขาย) นอกจากนี้ ยังมีอีก 6 ครั้งที่ดัชนี S&P500 ทำสถิติดังกล่าวยาวนานกว่าครั้งปัจจุบัน
คราวนี้ลองมาดูกันว่า ภายหลังจากช่วงเวลาที่สดใสของตลาดหุ้น 7 ครั้งข้างต้น การเคลื่อนไหวของดัชนี S&P500 เป็นอย่างไรบ้าง
ผลการศึกษาให้ตัวเลขที่น่าสนใจครับ หากนับต่อจากช่วงเวลาดังกล่าวไป 1 ปี 2 ปี และ 5 ปี พบว่าค่าเฉลี่ยผลตอบแทนอยู่ที่ 6.5%, 27.4% และ 64% (แต่ก็มีบางปีที่ติดลบ)
ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าบางครั้งตลาดกระทิงที่ร้อนแรงอาจจะไม่จำเป็นต้องจบด้วยการปรับตัวลดลงแรงเสมอไป บางครั้งตลาดหุ้นอาจจะเป็นขาขึ้นได้ยาวนานกว่าที่เราคิด
เมื่อเห็นราคาหุ้นสหรัฐฯ ฟื้นตัวเร็วและแรงขนาดนี้ เราควรจะต้องกังวลมั้ย
ผมได้มีโอกาสอ่านบทความของ Franklin Templeton กับทาง FINNOMENA พบว่า ทาง Templeton มองว่าตลาดยังเป็นขาขึ้นระยะยาว โดยหากมีการปรับฐานนั้นถือเป็นเรื่องปกติ และถือเป็นโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติมครับ
ล่าสุดการประชุมวิชาการที่ Jackson Hole คุณ Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed มองว่าการทำ QE Tapering หรือการลดขนาดวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์มีโอกาสเกิดขึ้นภายในปีนี้ ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยยังไม่ได้จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ยังต้องรอพัฒนาการหลายๆ อย่างจนกว่าที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่การจ้างงานเต็มที่ ทำให้ตลาดไม่ได้กังวลมากเกินไป ดัชนี S&P500 และ Nasdaq จึงยังปิดที่จุดสูงสุดตลอดกาล
มองในมุมบวกไปแล้ว ขอพามาดูในแง่ความเสี่ยงกันบ้าง สำหรับปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความผันผวนของตลาด ตามข้อมูลของ Well Fargo ประกอบไปด้วย อัตราเงินเฟ้อที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มเห็นตัวเลขกลับมาเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลัง เพดานหนี้สินที่เริ่มตึงตัวของสหรัฐฯ รวมถึงตัวเลขหลายตัวมีโอกาสที่อยู่ในจุดสูงสุด เช่น การใช้นโยบายการคลัง สภาพคล่อง การขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน
และอีกปัจจัยหนึ่งที่เคยเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง คือ การขึ้นภาษีนิติบุคคล ซึ่งจะส่งผลเชิงลบต่อกำไรของบริศัทจดทะเบียน ความเสี่ยงข้างต้นเป็นเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิด เพื่อทำการประเมินถึงผลกระทบที่อาจจะก่อให้เกิดความผันผวนกับตลาดได้
สำหรับผู้ที่ลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว เชื่อว่าน่าจะมีกำไรเป็นกอบเป็นกำแน่นอน สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เริ่มลงทุนตอนนี้ล่ะ จะทำยังไงดี
ผมคิดว่า แม้มุมมองตลาดในระยะยาวยังเป็นภาพบวก แต่การปรับตัวขึ้นมารวดเร็วขนาดนี้ ยังมีโอกาสที่ตลาดจะเจอกับการปรับฐานได้อนาคต (ส่วนตัวผมเชื่อว่ามี แต่จะเป็นการปรับฐานที่ไม่ได้รุนแรง) จึงคิดว่าไม่จำเป็นจะต้องเร่งลงทุนจำนวนมากในครั้งเดียว อาจจะรอจังหวะที่ตลาดมีการปรับฐาน เพื่อทยอยสะสมได้ครับ
และอย่าลืมนะครับ ไม่ว่าเราจะชื่นชอบหรือมีมุมมองเชิงบวกกับหุ้นสหรัฐฯ แค่ไหน แต่การลงทุนกระจุกตัวย่อมมีความเสี่ยง ดังนั้น การกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดอื่น หรือการทำ Asset Allocation ยังเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการจัดพอร์ตลงทุนครับ
#ดัชนีs&p500 #ลงทุนหุ้นสหรัฐฯ #ดัชนีหุ้นสหรัฐ #ตลาดหุ้นสหรัฐ #ดัชนีเอสแอนด์พี500 #makemewealth #ไปต่อหรือพอแค่นี้
โฆษณา