10 ก.ย. 2021 เวลา 02:00 • ข่าว
กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ กับภารกิจการดูแลและบริการคนไทยในยุค New Normal
ในยุค “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” อาจจะส่งผลให้ใครหลายคนต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ดังเช่นการเปลี่ยนสถานที่ทำงานในช่วงนี้ มาเป็นที่บ้าน หรือ การสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ ทำให้ทุกคนต้องปรับตัว เช่นเดียวกันกับภารกิจของนักการทูตไทยทั่วโลก ซึ่งวันนี้ผมจะขอถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘บทบาทหน้าที่ของนักการทูตไทยที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค​ New Normal’ ที่ผมได้ฟังมาจากรายการ Spokesman Live เมื่อวันศุกร์ที่ ๒ กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการพูดคุยกันระหว่างท่านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกับท่านทูตป้ายแดง คุณจักรกฤดิ กระจายวงค์ อดีตกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยในขณะนั้น คุณจักรฤดิกำลังจะเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งมา คือ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด
ก่อนจะทำความรู้จักกับภารกิจการดูแลคนไทยในต่างประเทศในยุค New Normal เรามาทำความรู้จักกับบทบาทหน้าที่ของสถานกงสุลใหญ่กันก่อน ตามปกติแล้วในประเทศต่าง ๆ จะมีสถานทูตตั้งอยู่เป็นหลักในเมืองหลวงของประเทศ แต่หากในเมืองอื่นใดของประเทศนั้น ๆ มีผลประโยชน์ของไทย หรือมีคนไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กระทรวงการต่างประเทศอาจพิจารณาความเหมาะสมในการจัดตั้งสถานกงสุลใหญ่ขึ้นเพื่อสามารถให้บริการและช่วยเหลือชาวไทยในเขตพื้นที่ดังกล่าวหรือในพื้นที่ใกล้เคียง (เขตอาณา) ได้สะดวกรวดเร็วและคุ้มค่ากับงบประมาณหลวงที่ต้องลงทุน
ภารกิจหลักของสถานกงสุลใหญ่มีทั้งบริการทำหนังสือเดินทาง งานรับรองนิติกรณ์เอกสาร การจดทะเบียนสมรส ทำบัตรประจำตัวประชาชน หรือแม้กระทั่งหนังสือรับรอง/การมอบอำนาจ เรียกได้ว่ายกกรมการกงสุลและกระทรวงมหาดไทยไปอยู่ในต่างประเทศเลยก็ว่าได้ ดูแลคนไทยตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ และตาย ครบถ้วนทุกกระบวนการ นอกจากนี้ สถานกงสุลใหญ่ยังมีภารกิจในการพิจารณาออกวีซ่าเพื่ออนุญาตให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตทางด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทย
นอกเหนือจากภารกิจที่เอ่ยถึงไปแล้ว สถานกงสุลใหญ่ยังมีบทบาทหน้าที่ที่หลายคนอาจจะไม่ทราบ เช่น การดูแลช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลคนไทยทั้งหมดในรัฐนิวเซาท์เวลส์ถึง ๕๐,๐๐๐ คน คิดเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของคนไทยที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียทั้งประเทศ แต่สำหรับสถานกงสุลใหญ่ นั้น ไม่ได้มองภารกิจนี้เป็น ‘ภาระ’ แต่มองว่าเป็น ‘โอกาส’ มากกว่า เพราะสถานกงสุลใหญ่ฯ จะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชนชาวไทย ซึ่งก็ทำให้ชาวต่างชาติได้ตระหนักรู้ถึงความเข้มแข็งและความสำคัญของคนไทยในออสเตรเลีย ทำให้เกิดการยอมรับและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมออสเตรเลีย ตามที่ท่านทูตย้ำว่า “ถ้าไม่มีเขา ก็คงไม่มีเรา”
ท่านทูตได้ยกตัวอย่างการจัดงาน Thai Festival ที่ถือเป็นงานใหญ่ประจำปี ซึ่งประสบความสำเร็จทุกปีและได้รับคำชมจากชาวออสเตรเลีย ก็สำเร็จได้เพราะสถานกงสุลใหญ่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนชาวไทยและหลายหน่วยงานทั้งของไทยและของท้องถิ่นออสเตรเลีย โดยในงานมีการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย อาหารไทย รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับไทย เช่น เคยมีการจัดนิทรรศการ “ถ้ำหลวง” จากเหตุการณ์ช่วยเหลือสมาชิกทีมฟุตบอลหมูป่าที่ติดอยู่ภายในถ้ำเมื่อปี ๒๕๖๑ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติ รวมถึงจากออสเตรเลียด้วย นิทรรศการดังกล่าวจึงอยู่ให้ความสนใจของชาวออสเตรเลีย เช่นกันกับงาน Thai Festival ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติและพลาดไม่ได้ที่จะต้องแวะเวียนมาร่วมงานกันทุกปี
นอกจากนี้ ภารกิจของสถานกงสุลใหญ่ยังมีการช่วยเหลือคนไทยที่ประสบเหตุภัยทุกชนิด เช่น การถูกโจรกรรม การถูกทำร้ายร่างกาย หรือเหตุการณ์ไฟป่า ในช่วงปี ๒๕๖๒-๒๕๖๓ สถานกงสุลใหญ่ก็ได้เข้าไปเยี่ยมเยียนและนำสิ่งของไปช่วยเหลือคนไทยที่อยู่ในพื้นที่และได้รับผลกระทบ
แล้วในยุคปกติใหม่ หรือ New Normal ล่ะ จะมีความแตกต่างอย่างไร??
ท่านทูตเล่าถึงภารกิจท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ว่า ภารกิจแรก คือการช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาไทยที่มาศึกษาต่อในออสเตรเลีย โดยปกตินักเรียนนักศึกษาไทยจะทำงานในร้านค้าเพื่อหารายได้เสริม แต่การระบาดของโควิด-๑๙ ทำให้ร้านค้าเหล่านั้นต้องปิดตัวลง ทางสถานกงสุลใหญ่จึงเข้าไปให้ความช่วยเหลือในเรื่องของข้าวสารอาหารแห้ง รวมถึงการประกอบอาหารปรุงสุกมอบให้ชุมชนต่าง ๆ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ
นอกจากสถานกงสุลใหญ่แล้ว ยังมีความช่วยเหลือที่มาจากชุมชนไทยด้วยกันเองด้วย ทำให้ชาวต่างชาติชื่นชมชุมชนไทยเป็นพิเศษ ภารกิจต่อมา คือการบริหารจัดการเที่ยวบินพิเศษให้คนไทยได้เดินทางกลับบ้าน โดยสถานกงสุลใหญ่มีบทบาทในการประสานงานกับสายการบินต่าง ๆ จัดหาที่พักสำหรับกักตัวเมื่อเดินทางถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในกรณีที่มีเอกสารสูญหายทางสถานกงสุลใหญ่ก็เตรียมการประจำที่สนามบินเพื่อออกเอกสารให้ใหม่ได้ทันท่วงที กระทั่งการจัดเตรียมโรงพยาบาลสำหรับออกเอกสาร Fit to Fly อีกด้วย ในกรณีที่มีคนไทยในออสเตรเลียที่มีอาการสาหัสโดยที่ญาติอาจจะเดินทางมาเยี่ยมไม่ทันเนื่องจากอยู่ระหว่างการกักตัว สถานกงสุลใหญ่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือในเรื่องการสื่อสาร ทำให้อย่างน้อยญาติได้เห็นภาพการรักษาก่อนจะเสียชีวิต
เป็นที่ทราบกันว่ายุค New Normal ก่อให้เกิดการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสภาวะใหม่ สถานกงสุลใหญ่ก็มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานบริการคนไทยเช่นกัน เช่น ผู้ติดต่อขอรับบริการสามารถทำการสแกน QR Code ผ่านโทรศัพท์มือถือก่อนเข้าพื้นที่เพื่อรับบัตรคิวและสามารถกรอกใบคำร้องผ่านโทรศัพมือถือเพื่อส่งข้อมูลเข้าฐานระบบได้ในทันที นอกจากนี้ ยังสามารถชำระค่าธรรมเนียมผ่านบัตรเครดิตได้ด้วย ทำให้ลดการสัมผัส และยังทำให้เป็นระเบียบ เป็นลำดับขั้นตอนมากยิ่งขึ้น
จากคำบอกเล่าของท่านทูตจักรกฤดิ...ผมเชื่อว่า นักการทูตต้องมีความตื่นตัว ยืดหยุ่น และต้องพร้อมที่จะปรับตัว เพื่อให้ภารกิจลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย และยังต้องรู้จักอัพเดทตัวเองให้เกิดความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยทุ่นแรงในการทำงานได้เยอะ ที่สำคัญที่สุดคือ สภาพจิตใจของทั้งพี่น้องชาวไทย และข้าราชการจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ประจำการอยู่ในต่างประเทศ จะต้องมีความเข้มแข็งและมีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ...ท้ายสุด ท่านทูตได้ให้คำมั่นกับพี่น้องคนไทยว่า ไม่ว่าจะเป็นวิถีไหน หรือสถานการณ์ใด นักการทูตทุกคนก็จะยังยึดมั่นกับนโยบายที่ว่า “การทูตเพื่อประชาชน ทุกแห่งหนเราดูแล”
นายสิรภพ เดชะบุญ
เจ้าหน้าที่ประมวลและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา