3 ก.ย. 2021 เวลา 11:00 • สุขภาพ
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือ OAB
คือภาวะที่มีอาการ ปวดปัสสาวะแบบเร่งรีบ คือปวดขึ้นมาแบบฉับพลัน ไม่สามารถกลั้นได้นานเนื่องจากเหมือนจะปัสสาวะราด ในบางรายอาจมีปัสสาวะเล็ดราดออกมาได้ มักพบร่วมกับอาการปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะในเวลากลางคืน
ภาวะนี้สามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่า
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิด OAB
- เพศหญิง
- อายุที่มากขึ้น
- ภาวะหมดประจำเดือน
- กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง
- การอุดกั้นทางออกของปัสสาวะเป็นระยะเวลานาน เช่น ต่อมลูกหมากโต
ในขั้นตอนของการวินิจฉัย แพทย์จะทำการตรวจโดยละเอียดเพื่อตัดสาเหตุอื่นๆ ออกไปก่อน เช่น การติดเชื้อ มะเร็งทางเดินปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
หลังจากนั้นก็อาจจะให้จดบันทึกการดื่มน้ำและการปัสสาวะเพื่อดูว่าความผิดปกติอยู่ส่วนไหน ระดับความรุนแรงแค่ไหน
การรักษา
การรักษาในเบื้องต้น แพทย์จะแนะนำให้ทำการปรับพฤติกรรม ได้แก่
- หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะ เช่น ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ โซดา อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของ citrus เช่น มะนาว อาหารปและเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของมะเขือเทศ ช็อคโกแลต อาหารรสเผ็ด น้ำตาลเทียม
- หมั่นคอยสังเกตและจดบันทึกว่าอะไรทำให้อาการแย่ลง
- ฝึกการกลั้นปัสสาวะโดยให้กลั้นเพิ่มขึ้นครั้งละ 2-3 นาที จนได้ระยะห่างของการปัสสาวะแต่ละครั้งประมาณ 2-3 ชั่วโมง
- หากปัสสาวะไม่หมดให้ไปถ่ายปัสสาวะซ้ำ
- ฝึกการถ่ายปัสสาวะให้เป็นเวลา เช่น ทุก 4 ชั่วโมง เพื่อช่วยในการฝึกสุขนิสัยการถ่ายปัสสาวะ และฝึกการกลั้นปัสสาวะ
- ไม่ควรลดปริมาณน้ำที่ดื่ม เนื่องจากจะทำให้ยิ่งเกิดการระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะ ควรดื่มน้ำวันละ 2 ลิตร
- ฝึกกายบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
หากอาการไม่ดีขึ้นแพทย์อาจให้การรักษาร่วมกับการรับประทานยา
ที่มา : อ.พญ.วลีรัตน์ เศวตสุทธิพันธ์
ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
สามารถติดตามช่องทางต่างๆของโรงพยาบาล ได้ที่
• Call center : 0-2926-9999
• LINE Official : https://lin.ee/C9QBk04
• Youtube :
รายการ 5 นาทีกับแพทย์ธรรมศาสตร์ :https://www.youtube.com/channel/UCMkq9zBgdYzw8WOmfFddLYg
โฆษณา