2 ก.ย. 2021 เวลา 13:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Daniel Kahneman: ผู้นำจิตวิทยามาประยุกต์ผสมผสานกับเศรษฐศาสตร์ และบุกเบิกสาขาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
2
Daniel Kahneman นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิสราเอ
Rationality as defined is completely impractical for human mind
“ความมีเหตุมีผล” ตามที่ให้ความหมายไว้ นั้นไม่สามารถใช้ได้อย่างสิ้นเชิงในห้วงความคิดของมนุษย์
คำกล่าวข้างต้นของศาสตราจารย์ แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นั้นขัดแย้งกับแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ยุคก่อนหน้า ที่มักจะสมมติว่า “มนุษย์นั้นจะตัดสินใจสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุมีผล”
แต่จากการศึกษาของคาฮ์ฮะแมนและสาขาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในยุคหลัง กำลังชี้ให้เห็นว่าหลายครั้งมนุษย์ไม่ได้ใช้เหตุผลอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจ
📌 ศาสตร์แห่งการตัดสินใจ
เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ศึกษาและเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของมนุษย์อย่างมาก ดังที่มีการให้ความหมายของคำว่า “เศรษฐศาสตร์” แบบหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายไว้ว่า “ศาสตร์ของการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่จำกัดของมนุษย์”
การที่จะศึกษาเรื่องราวการตัดสินใจของมนุษย์นี้ นักเศรษฐศาสตร์จำเป็นต้องตั้งสมมติฐานบางอย่างเกี่ยวกับลักษณะของผู้คนขึ้น และหนึ่งในสมมติฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกใช้กันมาอย่างยาวนานก่อนหน้านี้คือ “มนุษย์จะตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุผล” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์หลายต่อหลายทฤษฎี
2
การเข้ามาของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมนั้นกลับชี้ให้เห็นว่าหลายครั้งมนุษย์เราก็ไม่ได้ตัดสินสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุผลจริงๆ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้น เราจะยกตัวอย่างให้ทุกท่านได้ลองคิดตามดู
1
เกม 1
สถานการณ์ คือ มีโรคติดต่อที่กำลังกำลังแพร่ระบาดอยู่ในคน 600 ชีวิต มีสองทางเลือกที่จะทำได้
1) ทางเลือกแรกจะช่วยชีวิตคน 200 ชีวิต
2) ทางเลือกสองจะมีโอกาส 1/3 ที่จะช่วยได้ 600 ชีวิต แต่จะมีโอกาส 2/3 เช่นกันที่จะช่วยไม่ได้เลยสักคน
ท่านเป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยสามารถเลือกได้ว่าจะตัดสินใจเลือกทางเลือกใดจากสองทางเลือกด้านบน ตอนนี้อยากให้ผู้อ่านเก็บคำตอบของเกมแรกไว้ในใจก่อน
เกม 2
สถานการณ์ยังเป็นเหมือนเดิม คือ มีโรคระบาดติดต่อคนอยู่ 600 ชีวิต มีสองทางเลือกที่จะทำได้
1) ทางเลือกแรกจะทำให้มีคนตาย 400 ชีวิต
2) ทางเลือกที่สองมีโอกาส 2/3 ที่จะมีคนตาย 600 คน และก็มีโอกาส 1/3 ที่จะไม่มีการตายเลย
ตอนนี้ท่านผู้อ่านก็คงจะได้คำตอบจากทั้งสองเกมแล้ว โดยจากผลการสำรวจของการทดลองให้คนเล่นสองเกมนี้ ปกติแล้วในเกมแรกผู้คนส่วนใหญ่จะเลือกทางเลือกแรก ส่วนในเกมที่ 2 ผู้คนส่วนใหญ่จะเลือกทางเลือกที่สอง อย่างไรก็ดี แท้จริงแล้วทางเลือกแรกและทางเลือกที่สองจากทั้งเกมที่ 1 และ 2 ต่างเป็นทางเลือกเดียวกัน ถ้าผู้คนมีเหตุมีผลจริงแล้ว ผลของทั้งเกมที่ 1 และเกมที่ 2 ก็ควรจะออกมาเหมือนกัน
ความไม่เป็นเหตุเป็นผล ที่เราเห็นนี้ คือ หนึ่งในตัวอย่างที่เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมพยายามเข้ามาอธิบายนั่นเอง
📌 จากนักจิตวิทยาจนสู่การเป็นผู้บุกเบิกเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics)
ศาสตราจารย์คาฮ์นะแมนนั้นได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2002 แต่ความพิเศษก็คือ แท้จริงแล้วจุดเริ่มต้นของเขานั้นเป็นนักจิตวิทยามาก่อน
แดเนียล คาฮ์นะแมนนั้นเกิดเมื่อปี 1934 ที่เมือง Tel Aviv ประเทศอิสราเอล แต่ได้เติบโตชีวิตในวัยเด็กอย่างลำบากในฝรั่งเศสกำลังอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการที่เป็นคนเชื้อสายยิวที่ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ แต่หลังจากสงครามจบลง คาฮ์นะแมนก็ได้โอกาสที่จะใช้ชีวิตที่ดีอีกครั้ง โดยย้ายมาอยู่ที่ปาเลสไตน์กับครอบครัว
ที่นี่เขาเริ่มมีความคิดและความสนใจเรื่องราวปรัชญาต่างๆ และได้เริ่มตั้งคำถามที่เด็กในวัยเดียวกับเขาหลายคนอาจจะไม่ได้สนใจอย่าง “ความหมายของชีวิตคืออะไร?” “พระเจ้ามีอยู่จริงหรือเปล่า?” และคำถามเหล่านี้ ก็นำคาฮ์นะแมนไปสู่การเลือกเรียนในสาขาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Hebrew ในเมืองเยรูซาเลม
มหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเลม หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศอิสราเอล
หลังจากเรียนจบ คาฮ์นะแมนก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมกองทัพ โดยได้ทำงานเป็นนักจิตวิทยาที่ช่วยประเมินความพร้อมและความสามารถของทหาร ที่นี่เป็นที่แรกๆ ที่ทำให้เขาพบเจอกับประสบการณ์ที่ทำให้เขาได้ฉุดคิด และพบถึงการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผลของผู้คน เช่น การตัดสินใจของผู้เชี่ยวชาญที่มีความมั่นใจมากเกินไป จนประเมินข้อมูลน้อยไปจนผิดพลาด หรือในบางครั้งเป็นการตัดสินใจที่ไม่มีข้อมูลเลยแต่ใช้เพียงวิจารณาญาณส่วนตัว
พอออกจากกองทัพ คาฮ์นะแมนก็ได้รับโอกาสเรียนต่อด้านจิตวิทยาที่ University of California, Berkeley ในดินแดนอเมริกา คาฮ์นะแมนได้เจอผู้คนและเหตุการณ์ที่จะมีบทบาทสำคัญในชีวิตภายภาคหน้ามากมาย
แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดในชีวิตกลับเกิดขึ้นเมื่อเขากลับมาสอนที่มหาวิทยาลัย Hebrew ที่เยรูซาเลม เหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดการนั่นก็คือ ก็คือการได้พบและได้ร่วมทำงานกับเอมอส ทเวอร์สกี้ (Amos Tversky)
มิตรภาพของเวอร์สกี้ กับ คาฮ์นะแมน มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์งานสำคัญอย่างมากมาย
📌 Prospect Theory ทฤษฎีการตัดสินใจของมนุษย์ที่ไม่ได้มีเหตุผลตลอด
ถึงแม้คาฮ์นะแมนจะทำงานวิจัยร่วมกับทเวอร์สกี้จำนวนมาก แต่ถ้าต้องเลือกเพียงงานวิจัยเดียวของพวกเขาที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อวงการเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องเป็นงาน Prospect Theory: An Analysis of Decision under Risk ที่เป็นงานสำคัญที่พาให้คาฮ์นะแมนได้รางวัลโนเบลในปี 2002 (น่าเสียใจที่ศาสตราจารย์ ทเวอร์สกี้ ไม่ได้รับรางวัลด้วย เนื่องจากท่านเสียชีวิตในปี 1996)
งานวิจัยนี้เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงถึงมากที่สุดในวงการเศรษฐศาสตร์ อธิบายวิธีการตัดสินใจของมนุษย์ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง และได้ผลการทดลองที่สำคัญหลายประการ อาทิ มนุษย์ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่หลีกเลี่ยงการสูญเสีย หรือจะเป็นผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าคนเราไม่สามารถประเมินความน่าจะเป็นได้อย่างถูกต้องมีเหตุมีผล (เหมือนกับเกมที่ผู้อ่านได้เล่นตอนต้น) ซึ่งงานวิจัยนี้ก็ได้ส่งผลกระตุ้นให้เกิดการศึกษาในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมออกตามมาอย่างมาก
นอกจากงานวิจัยจำนวนมากที่เคยทำแล้ว คาฮ์นะแมนยังได้เขียนหนังสือที่เป็น New York Bestselling อย่าง Thinking, Fast and Slow หรือชื่อไทยว่า คิด เร็ว และช้า ที่แสดงให้เห็นกระบวนการคิดของมนุษย์ที่ทั้งส่วนที่คิดได้อย่างรวดเร็วผ่าน “ระบบ 1” และส่วนที่คิดได้ช้าผ่าน “ระบบ 2” ที่ถูกอธิบายในหนังสือเล่มนี้ได้อย่างน่าสนใจ และหนังสือเล่มใหม่อย่าง Noise ก็ได้แสดงถึงความแปรปรวนในจิตใจของมนุษย์ในช่วงเวลาต่างๆ เช่น ผลทีมฟุตบอลที่แพ้จากสุดสัปดาห์สามารถทำให้การตัดสินของผู้พิพากษาแย่ลงได้ในวันจันทร์ เป็นต้น
หนังสือ Thinking, Fast and Slow อีกหนึ่งงานเขียนที่โด่งดังของคาฮ์นะแมน
📌 ออกแบบทางเดินทางความคิด
เมื่อเศรษฐศาสตร์รับรู้และเข้าใจวิธีการคิดของผู้คนมากขึ้น การสร้างทฤษฎีหรือนโยบายทางเศรษฐศาสตร์ที่เข้าถึงและตอบโจทย์เรื่องของสังคมมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่มองเห็นใกล้ขึ้นเรื่อยๆ
แม้ในปัจจุบัน ในเรื่องที่ใหญ่มากๆ อย่างการผลักดันเรื่องภาวะโลกร้อน การแก้ปัญหาความอดอยากในระดับนานาชาติ หรือการจัดการโควิด-19 การเข้าใจในกระบวนการคิดของผู้คนเพียงอย่างเดียวจะยังไม่พอที่จะสร้างวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยตัวมันเองได้
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่เรากำลังเห็นในตอนนี้คือ แนวคิดของการออกแบบทางเดินทางความคิดของผู้คน ให้เห็นว่าการตัดสินใจที่ถูกต้อง เหมาะสม นั้นเป็นทางเลือกที่ทำได้ง่ายและมีต้นทุนน้อยกว่า ที่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนไปทีละนิด
พอประกอบกับอนาคตเมื่อเราเข้าใจกระบวนการคิดของผู้คนมากขึ้นกว่านี้อีก เราก็อาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนสมมติฐานข้อหนึ่งทางเศรษฐศาสตร์แล้ว แต่อาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ในแบบที่ทฤษฎีแบบเก่าไม่สามารถจัดการได้มาเนิ่นนานก็ได้
#Daniel_Kahneman #นักเศรษฐศาสตร์ #เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
โฆษณา