4 ก.ย. 2021 เวลา 02:00 • บ้าน & สวน
บ้านไม้ไผ่แสนสบายในรูปแบบสมัยใหม่ที่กลมกลืนไปกับบริบทของสิ่งแวดล้อมแบบชนบทของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งตั้งใจมาเปิดคลินิกในคอนเซ็ปต์ธรรมชาติบำบัด
บ้านพักและคลินิกในรูปแบบบ้านไม้ไผ่ของ คุณหมอนพ – นพรัตน์ บิดจันทึก และ คุณพิ้งค์ – กัญญาภัค ศิลวัฒนาวงศ์ ซึ่งคุณหมอนพเล่าถึงที่มาให้ฟังว่า "มีโอกาสเป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนและเปิดคลินิกกายภาพบำบัดในกรุงเทพฯ ก่อนจะมาเปิดสาขาที่สองในอำเภอปากช่อง ซึ่งตอนแรกเราเปิดคลินิกอยู่ในตัวเมืองเพราะต้องการจะทดลองดูว่าหากเปิดที่ต่างจังหวัด ต่อมาเราต้องการพื้นที่ธรรมชาติให้ผู้ป่วยเพราะอยากให้ผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาได้รับความรู้สึกสงบสบาย ทั้งแสง ลม ต้นไม้ และอยากให้ผู้ป่วยหรือญาติที่มาไม่รู้สึกเกร็งเหมือนเวลาไปโรงพยาบาลทั่วไป”
คุณพิ้งค์เล่าต่อว่า "เราตระเวนหาพื้นที่ที่เหมาะสมตามที่เราต้องการ ประจวบกับคุณแม่ของพิ้งค์เคยซื้อที่ดินที่ปากช่องเก็บไว้ประมาณ 20 ปีที่แล้ว ทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นป่ารกร้าง ก่อนจะช่วยกันถางป่า ปูหญ้าใหม่และปลูกต้นไม้ไว้ เพื่อจัดงานแต่งงาน เราจึงผูกพันกับที่แห่งนี้มาตั้งแต่ต้น ก็เลยตัดสินใจปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัยและย้ายคลินิกในเมืองมาสร้างไว้ใกล้ ๆ กัน"
เมื่อพื้นที่อุดมด้วยธรรมชาติอันสมบูรณ์เอื้ออำนวย แน่นอนว่าวัสดุที่เจ้าของเลือกใช้ในการก่อสร้างจึงเป็นวัสดุธรรมชาติ โดยเลือกใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างหลัก ด้วยความพิเศษของไม้ไผ่ที่ทั้งหาง่าย ราคาไม่แพง แถมยังกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เจ้าของบ้านหลงรัก ไผ่ที่เลือกใช้คละกันหลายชนิด อย่างโครงสร้างเสา คาน เลือกใช้ไผ่ตงและไผ่ซางหม่นที่มีลำขนาดใหญ่ ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ อย่างหลังคา ฝ้า ผนัง เลือกใช้ไผ่เลี้ยง ซึ่งมีลักษณะลำเล็กกว่าไผ่ตงและไผ่ซางหม่น บวกกับการผสมผสานวัสดุสมัยใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีปัจจุบัน
เสน่ห์ของบ้านหลังนี้ไม่ได้มีเพียงวัสดุที่เลือกใช้ แต่ยังรวมถึงฟังก์ชันและพื้นที่การใช้งาน โดยยกพื้นสูงขึ้นเล็กน้อยตามแนวพื้นที่ และเพื่อลดปัญหาความชื้นจากดินในขณะเดียวกันก็ช่วยให้อากาศถ่ายเท พร้อมกับมีหลังคาทรงจั่ว ชายคายื่นยาวตามสไตล์บ้านไทย หากแต่ไม่ธรรมดาด้วยการดีไซน์ ผนังกรุไม้ไผ่เป็นระแนงทั้งแนวตั้งและแนวนอนสลับกับหน้าต่างและช่องแสงคละกันไป ทำหน้าที่คอยรับลม สร้างให้บ้านมีสภาวะน่าอยู่
คุณหมอนพเล่าต่อว่า "ในตอนแรกที่คุยกันว่าจะออกแบบบ้านมารูปแบบไหนเราก็ค้นข้อมูลจากนิตยสาร เว็บไซต์ จนมาได้ทำความรู้จักกับพระที่เป็นคนไข้ ซึ่งท่านเป็นสถาปนิกที่เน้นการพัฒนา โดยนำไม้ไผ่มาทำบ้าน ทำกุฏิ ทำศาลา ผมก็เลยมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสกับบ้านที่ท่านออกแบบไว้ ซึ่งผมกับพิ้งค์ชอบทันที หลังจากนั้นก็ไปเรียนรู้การสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่อยู่เกือบสองปี จนค่อนข้างมั่นใจว่าการสร้างบ้านไม้ไผ่นั้นสามารถอยู่ได้นาน แข็งแรง และปลอดภัย"
1
ทั้งคู่ต้องการพื้นที่ภายนอกพอ ๆ กับพื้นที่ภายใน บ้านหลังนี้จึงมีชานโล่ง มีระเบียงบนชั้น 2 และสนามหญ้ากว้างขวาง ในขณะที่ภายในออกแบบพื้นที่แบบเชื่อมต่อถึงกันหมด เริ่มจากโถงกลางที่เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่มีเพดานสูงและมีชั้นลอยเท่ๆอยู่มุมหนึ่งของบ้าน ส่งผลให้บ้านดูโปร่งโล่งตามคอนเซ็ปต์ต่อเนื่องกันเป็นครัวดีไซน์เรียบง่าย ดูลื่นไหลไปกับพื้นที่ส่วนอื่น ๆ สามารถทำกับข้าวไปคุยไปหรือเดินไปล้อมวงกินข้าวในมุมรับประทานอาหารได้ไม่ยาก ต่อเนื่องไปยังห้องนอน ที่เจ้าของบ้านออกแบบให้อยู่บริเวณชั้นล่างเพื่อให้ง่ายต่อการอยู่อาศัย โดยแบ่งแยกห้องนอนเป็นสัดส่วนตกแต่งตามการใช้งาน จัดวางเพียงเตียงนอนและเฟอร์นิเจอร์ไม่กี่ชิ้น พร้อมประตูทางเชื่อมที่สามารถเดินออกไปยังระเบียงหลังบ้านเพื่อความเป็นส่วนตัว
2
คุณพิ้งค์เล่าว่า "คนส่วนใหญ่อยากมีบ้านต่างจังหวัด อยู่กับธรรมชาติ แต่ด้วยข้อจำกัดของหน้าที่การงานที่ต้องอยู่กรุงเทพฯ ทำให้หลายคนต้องรอจนถึงวัยเกษียณ แต่เราไม่อยากรอจนจึงอายุ 60 ปีแล้วถึงได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการ เราจึงทดลองดูว่าหากย้ายมาทำงานที่นี่จะอยู่ได้ไหม ซึ่งก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะทั้งเสี่ยง ลึก ไกล แต่หากเรากล้าที่จะเปลี่ยนวิถี เปลี่ยนความคิด ก็ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้"
จากที่ได้พูดคุยกับเจ้าของบ้านทั้งคู่ ทำให้เราได้ค้นพบบางสิ่งที่แฝงอยู่คือ ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ที่วัดความสุขของชีวิตได้นอกจากการที่เราได้ทำ ได้เห็น ได้อยู่กับสิ่งที่เรารัก ทัศนคติ ความเชื่อมั่น ความตั้งใจ เหล่านี้เองที่หลอมรวมให้บ้านหลังนี้น่าอยู่ เรียบง่าย ยั่งยืน สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ลงตัวของผู้อยู่อาศัยได้โดยแท้
เจ้าของ – ออกแบบ : คุณกัญญาภัค ศิลวัฒนาวงศ์ และนายแพทย์นพรัตน์ บิดจันทึก
ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ >> https://bit.ly/3Bv3r7S
เรื่อง : นภสร ศรีทอง
ภาพ : ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู , อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา