5 ก.ย. 2021 เวลา 02:00 • บ้าน & สวน
บ้านในจังหวัดขอนแก่นหลังนี้มีความน่าสนใจในการเลือกใช้วัสดุและการตีความ “วิถีความเป็นอยู่” ของผู้คนในท้องถิ่นอีสานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีจุดเด่นคือปรับการใช้งานพื้นที่แบบใต้ถุนให้แปรเปลี่ยนเป็นการจัดวางพื้นที่แบบผังเปิด ต่อเนื่องกันระหว่างบ้านกับสวนได้อย่างลงตัว
บ้านพื้นถิ่นอีสานร่วมสมัยคือโจทย์ที่ S Pace Studio ทีมสถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบของบ้าน “ฟ้าบ่กั้น” หลังนี้ได้รับมา ด้วยความประทับใจของคุณจัตวา ชุณหบุญญทิพย์ และคุณอนุสรา แท่นพิทักษ์ เจ้าของบ้าน ที่มีต่อวรรณกรรมจากปลายปากกาของ “ลาว คำหอม” หรือ คำสิงห์ ศรีนอก ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2535 วรรณกรรมในชื่อเดียวกับบ้าน “ฟ้าบ่กั้น” คือเรื่องราวที่เปรียบได้กับภาพตัวแทนของวิถีคนชนบทอีสาน จึงทำให้เจ้าของบ้านเริ่มต้นความคิดในการทำบ้านที่ร้อยเรียงความเป็นอีสานทั้งอดีตและปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกัน และจากจุดนี้เองที่ทีมผู้ออกแบบจึงต้องเริ่มต้นค้นหาความหมายของ “เรือนอีสาน” ที่จะนำมาใช้ในบ้านหลังนี้
สิ่งที่เด่นชัดตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันของเรือนแบบอีสานนั่นก็คือการใช้งานใต้ถุนเป็นพื้นที่อเนกประสงค์อย่างแท้จริง ทั้งใช้รับประทานอาหาร นั่งเล่น นอนเล่น หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในพื้นที่ใต้ถุนบ้านแทบทั้งสิ้น เรือนหลังนี้จึงได้นำลักษณะการใช้งานดังกล่าวมาปรับใช้กับพื้นที่นั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และห้องครัว
สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาจากบ้านแบบ “เรือนอีสาน” เดิม ก็คือพื้นที่เเบบดับเบิ้ลวอลลุ่มในส่วนพื้นที่นั่งเล่น “การเป็นเรือนอีสานในความคิดของผมและเจ้าของบ้านคือ หนึ่งเลยจะต้องไม่มีส่วนตกแต่งที่มากจนเกินไป เราอยากให้ความหรูหราของบ้านหลังนี้ ไม่ใช่เพียงการประดับตกแต่ง แต่คือพื้นที่ที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่า การทำพื้นที่เปิดโล่งตรงนี้ไม่ใช่ลักษณะดั้งเดิมของเรือนอีสานก็จริง แต่ด้วยความต้องการของเจ้าของบ้าน ทั้งชั้นหนังสือ และพื้นที่พักผ่อน สามารถเปิดรับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ เรามองว่านี่เป็นเสน่ห์ที่เติมเข้าไปในบ้านเเบบอีสาน เหมือนเป็นความขัดแย้งเล็กๆ ที่ลงตัว” นี่คือสิ่งที่ผู้ออกแบบบอกกับเรา
“มีการพูดถึงการใช้วัสดุที่ดิบกร้านเพื่อแสดงความเป็นสัจวัสดุ โดยมี ไม้ และอิฐมอญ เป็นตัวแทนของวัสดุที่เราเลือก กรอบบานเปิดต่างๆ หรือพื้นไม้เมื่อยามต้องแสง หรือสัมผัสจะให้ความรู้สึกที่สื่อถือความเป็นพื้นถิ่นได้อย่างลึกซึ่ง สาเหตุอีกอย่างที่เลือกใช้วัสดุเหล่านี้ เพราะหาได้ง่ายในท้องถิ่น และในแง่ของการใช้งานผนังอิฐมอญสามารถช่วยป้องกันความร้อนจากแสงแดดภายนอกได้ แต่หากจะใช้แบบดิบๆ ไปเลยก็คงจะไม่เหมาะ สีขาวจึงเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาตัดความดิบกร้านให้นุ่มนวลขึ้น ผนวกกับการเลือกเฟอร์นิเจอร์และส่วนตกแต่ง เช่น ม่านโปร่งสีขาว ความเป็นสัจวัสดุของบ้านหลังนี้จึงแลดูสะอาดตา แต่ก็ยังมีพื้นผิวที่เป็นธรรชาติอยู่ในที ตอบโจทย์ทั้งสุนทรียภาพ และการใช้งานไปพร้อมกัน”
สิ่งที่ท้าทายที่สุดของการออกแบบบ้านหลังนี้นั้น ทีม S Pace Studio ให้คำตอบว่าไม่ได้อยู่ภายในตัวบ้าน แต่กลับเป็นการจัดการกับพื้นที่ที่บ้านหลังนี้ตั้งอยู่
“ตอนที่มาดูครั้งแรกก็เห็นว่ามีต้นไม้อยู่เพียงไม่กี่ต้น ซึ่งเราตั้งใจจะเก็บต้นไม้เหล่านั้นไว้ให้ได้มากที่สุด และพยายามที่จะเชื่อมโยงความเป็นบ้านกับธรรมชาติโดยรอบเข้าด้วยกัน ซึ่งจุดที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดก็คือ ต้นศรีตรังที่ตั้งอยู่ตรงช่องแสงของกันสาดตรงทางเข้าบ้าน โดยต้นศรีตรังนี้สามารถมองเห็นได้จากห้องนอนใหญ่บนชั้นสอง เป็นการสร้างให้ตัวบ้านและเเลนด์สเคปมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน”
เมื่อพิจารณาตามที่ผู้ออกแบบได้บอกกับเรา แนวกำแพงอิฐมอญและหลังคากันสาดที่ต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่นั่งเล่น โดยมีต้นศรีตรังเป็นแกนกลางนั้น ทำให้อาคารและเเลนด์สเคปโดยรอบกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หลังคากันสาดส่วนนี้สถาปนิกได้ใส่ดีเทลให้กับเส้นสายของโครงสร้างและวัสดุ โดยตั้งใจเว้าอะเสให้ดูมีจังหวะล้อไปกับแนวเสาที่แลดูเป็นเส้นเฉียบคม ทั้งยังเปิดให้เห็นลอนหลังคาเพื่อคงไว้ซึ่งความงามตามเส้นสายของวัสดุ หล่นแนวไม้ปิดลอนเข้าไปด้านใน ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อให้ผืนหลังคาที่ดูใหญ่จางหายไป เหลือไว้แต่เพียง “จังหวะของพื้นที่” ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงบ้านและสวนไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
เจ้าของ : คุณจัตวา ชุณหบุญญทิพย์ และคุณอนุสรา แท่นพิทักษ์
สถาปนิก S Pace Studio
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ >> https://bit.ly/3kQWirM
เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ : S Pace Studio
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา