3 ก.ย. 2021 เวลา 09:29 • หุ้น & เศรษฐกิจ
มองประเทศเวียดนาม ย้อนมองประเทศไทย
1
สภาเศรษฐกิจโลก World Economic Forum: WEF ประกาศ Global Competitiveness Index 4.0 เมื่อปี พ.ศ.2562 ประเทศไทยมีคะแนนดัชนีความสามารถทางการแข่งขัน 68.1 คะแนน จากเดิมที่มีคะแนน 67.5 ในปี พ.ศ.2561 แต่อันดับกลับลดลงอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก จากทั้งหมด 141 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ จากปี พ.ศ.2561 ที่อยู่ในอันดับ 38
ในขณะที่ประเทศเพื่อบ้าน อย่างประเทศเวียดนาม คะแนนดัชนีความสามารถทางการแข่งขันที่ดีขึ้นจาก 58.1 เป็น 61.5 ทำให้อันดับขยับขึ้นจากอันดับที่ 77 เมื่อปีที่ผ่านมา ขึ้นเป็นอันดับที่ 67 ของโลก ประเทศกัมพูชา อันดับที่ 106 สปป.ลาว อันดับที่ 113 และเมียนมา อันดับที่ 131
เกณฑ์ในการประเมินใช้ 4 ประการ คือ 1. สิ่งแวดล้อมในการทำธุรกิจ เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ Enabling Environment 2. ทักษะความสามารถของคน Human Capital 3. ความหลากหลายของสินค้า รวมทั้งตลาดการเงิน Markets และ 4. การมีสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างนวัตกรรม Innovation Ecosystem
นักเศรษฐศาสตร์หลายประเทศ ประเมินแนวโน้มว่า ประเทศเวียดนามจะขึ้นแซงประเทศไทยในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) หรือเร็วกว่านั้น
ด้วยเวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านการค้าและการลงทุน จำนวนประชากร 97-98 ล้านคน ทำให้มีแรงงานเพียงพอรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจ สามารถผลิตสินค้าในต้นทุนที่ต่ำกว่าหลายประเทศ สิ่งที่เห็นชัดเจนในช่วงการแพร่ระบาดโควิดที่ผ่านมา ประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะหดตัว ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน แต่เศรษฐกิจเวียดนาม โตสวนกระแส ถึงร้อยละ 2.9 และประมาณการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2564 จะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.5 ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด
ที่ผ่านมาทุกคนได้เห็นว่ามีนักลงทุนจากต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้น ประเทศที่เคยมีฐานการผลิตในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง ก็ย้ายฐานการผลิตเข้าไปในเวียดนามจำนวนมาก ปัจจัยสำคัญ คือ รัฐบาลจริงจังกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนอย่างมาก ถึงขนาดกำหนดเป้าหมายในการเป็นชาติแห่งอุตสาหกรรมและยกระดับสู่ประเทศ “รายได้ปานกลางระดับสูง” ก่อนปี พ.ศ.2578 เพราะเป็นปีที่เวียดนามครบรอบ 60 ปีหลังจบสงครามเวียดนาม และครบรอบ 90 ปีแห่งอิสรภาพของประเทศ
เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในปี พ.ศ.2529 รัฐบาลเวียดนามได้กำหนดแผนปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า “ดอยเหม่ย” (Doi Moi) ด้วยการเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองมาเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด ส่งเสริมบทบาทของเอกชนมากขึ้นและการกระจายอำนาจลงที่ภาคธุรกิจและท้องถิ่นมากขึ้น
หลังจากนั้นเวียดนามก็พยายามขยายการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับทุกประเทศในโลก โดยไม่คํานึงถึงระบอบทางสังคมหรือการเมืองการปกครองของประเทศเหล่านั้น เริ่มจากธันวาคม พ.ศ.2535 การทําข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าสิ่งทอและผลิตภัณฑ์ เครื่องแต่งกายกับสหภาพยุโรป ปีต่อมา พ.ศ.2536 รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปีต่อมาเวียดนามก็รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้ากับ สหรัฐอเมริกาขึ้นใหม่ พ.ศ. 2538 เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนและยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ต่อมา พ.ศ.2541 เป็นสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APEC)
ปี พ.ศ.2545 ข้อตกลงทางการค้าระหว่างอาเซียนและจีน ปีต่อมาทำข้อตกลงทางการค้ากับเกาหลีใต้ ปีต่อมาทำข้อตกลงทางการค้ากับญี่ปุ่น ปัจจุบันเวียดนามได้ทําข้อตกลงทวิภาคีทางการค้ากว่า 90 ฉบับ ในปี พ.ศ.2551 เวียดนามเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียนญี่ปุ่น ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership (AJCEP) และความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Agreement)
1
วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2550 หลังการเจรจาและการปฏิรูปเป็นเวลากว่า 12 ปี เวียดนามก็เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกและใช้เวลาเพียง 7 ปี สร้างความโดดเด่นเหนือประเทศไทย ด้วยการมีเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศเข้าเวียดนามสูงกว่าไทยนับแต่นั้นมา และในปี พ.ศ.2561 มีมูลค่าส่งออกสินค้าสูงกว่าประเทศไทย
ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2550 เวียดนามได้ทำโครงการที่เรียกว่า “โปรเจ็ค 30” คือ การทำ regulatory guillotine โดยนำกฎหมาย กฎระเบียบ กฎเกณ์ ประมาณ 30% ของกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนั้นมาทำการตัดทอน ปรับปรุงใหม่ ลดความซ้ำซ้อน และรวมศูนย์ข้อมูล กระบวนการมารวมไว้ด้วยกัน โดยให้สอดคล้องกับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และเอื้อต่อการสนับสนุน กระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) เนื่องจากรายงานเรื่องความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก ระบุว่า หากจะเปิดธุรกิจในเวียดนามต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 92 วัน ซึ่งนานมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย
1
กฎหมายที่ดังกล่าวถูกพิจารณาด้วยเกณฑ์ 5Cs คือ Cut คือ การยกเลิกกฎหมายเชย ล้าสมัย Change ปรับปรุงกฎหมายให้เข้ากับยุคสัมย Combine การควบรวมกรณีที่ทับซ้อน Continue กฎหมายที่ดี คงไว้เช่นเดิม จะเอามาใส่ชุด data เดียวกัน และ Create การสร้างกฎหมายใหม่กรณีจำเป็นเท่านั้น และต้องเป็นหลักกฎหมายที่ดี มีความเป็นมิตรกับนักลงทุน ดังนั้น จำนวนกฎหมายของเวียดนามก่อนที่จะได้ดำเนินการมีประมาณ 5,421 ฉบับ หลังจากทำโปรเจ็ค 30 กฎหมายถูกยกเลิก 8.8% มีกฎหมายที่ปรับปรุง เพื่อทำให้ได้รับความสะดวกขึ้น 77% หลังจากที่ปฏิรูปกฎหมาย 8 ปี เวียดนามสามารถลดต้นทุนการทำธุรกิจได้ปีละ 1.4 พันล้านดอลล่าร์ สำหรับภาคเอกชน
2
นักธุรกิจเคยให้ข้อคิดว่า แม้บางประเทศจะมีแรงงานไม่มีฝีมือเราสามารถฝึกทักษะได้ มีทรัพยากรที่ดี แต่ถ้ามีกฎหมายไม่ดี ต้องมีปัญหากับรัฐบาลท้องถิ่น ไม่มีใครอยากไปลงทุน
หลังการปฏิรูปกฎหมายให้เป็นสากลขึ้น เศรษฐกิจเวียดนามดีขึ้น นักลงทุนมองข้ามหัวประเทศไทย ทำให้การลงทุนในเวียดนามมากขึ้น
ว่ากันว่าปี พ.ศ.2563 GDP เวียดนามอยู่ที่ 2.60 แสนล้านดอลลาร์ ธนาคารโลกคาดว่า GDP ของเวียดนามจะเติบโตได้ 6.7% ในปี พ.ศ.2564 นี้
ขณะที่รายได้ต่อหัวของประชากร (GDP per Capita) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี พ.ศ.2560 ประมาณ 1,853 ดอลลาร์ พ.ศ.2561 ประมาณ 1,964.5 ดอลลาร์ พ.ศ.2562 ประมาณ 2,082.2 ดอลลาร์ และปีที่ผ่านมารายได้ต่อหัวของประชากรเวียดนามอยู่ที่ 3,498 ดอลลาร์หรือ 109,813 บาทต่อปี ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลเวียดนามวางไว้ว่าจะนำประเทศไปสู่รายได้ปานกลางระดับสูง
นีลเส็น กรุ๊ป มีข้อมูลว่า ปี พ.ศ.2563 เวียดนามมีกลุ่มชนชั้นกลางในเวียดนาม 44 ล้านคน และเชื่อว่า พ.ศ.2573 จะเพิ่มเป็น 95 ล้านคน
แว่วว่า ประเทศไทยเองก็จะมีการทำ Regulatory Guillotine (RG) เช่นกัน โดยกระบวนงานจาก 16 กระทรวง 47 กรม ร้อยละ 85 เป็นกระบวนงานที่ไม่จำเป็น หากยกเลิกหรือแก้ไข กฎหมาย จะช่วยให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจประหยัดต้นทุนได้ถึง 133,816 ล้านต่อปี หรือคิดเป็น 0.8 % ของ GDP ในปี พ.ศ. 2563
อืม …… ประเทศไทยทำช้ากว่าเวียดนาม ตั้ง 15 ปีเนอะ
1
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
โฆษณา