4 ก.ย. 2021 เวลา 03:56 • หนังสือ
ความสนุกอย่างหนึ่งของการอ่านหนังสือ นอกจากการนำพาตัวตนของเราจากที่ที่เราอยู่ไปยังที่แห่งอื่น โลกใบอื่น หรือชีวิตของคนอื่นผ่านตัวหนังสือแล้ว เรายังอาจได้สัมผัส และรับรู้ถึงมุมมองอื่นๆ ที่คนเขียนมีต่อสิ่งละอันพันละมีที่เขาถ่ายทอดร้อยเรียงออกมาเป็นตัวอักษรอีกด้วย
ใช่ครับ…มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ผมตัดสินใจเลือก “แฮร์รี โฮลกับคดีฆาตกรกรุงเทพ” (Cockroaches) ของ Jo Nesbø แปลโดย ขจรจันทร์มาอ่านนั้น เป็นเพราะฉากหลังในเรื่องที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เนี่ยแหละ ผมอยากเห็นมุมมองของนักเขียนต่างชาติที่มีต่อกรุงเทพดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครองของไทยดูสักหน่อย อยากรู้ว่าเวลาที่ ‘นักเขียนฝรั่ง’ รุ่นใหม่ๆ มองบ้านเราแล้ว เขามีความคิด เขารู้สึกอย่างไร
Jo Nesbø เป็นหนึ่งในนักเขียนคลื่นลูกใหม่ของนอร์เวย์ที่ถูกจับตามองหลังเกิดกระแส Scandinavian Noir อันเป็นผลสืบเนื่องจากนิยาย “The Girl with the Dragon Tattoo” นิยายเรื่องแรกในนิยายไตรภาคชุด Millennium ของ Steig Larsson ได้กลายเป็นที่สนใจในพริบตา และก่อให้เกิดการจับตามองนักเขียนที่มาจากประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย และนิยายแนว Thirller ที่พวกเขาเขียน ซึ่งให้อารมณ์เย็นชา และหนักแน่นแตกต่างจากนิยาย Thriller ของนักเขียนอเมริกัน ผมมีโอกาสได้อ่านนิยายไตรภาคชุด Millennium ครบถ้วนและชื่นชอบรูปแบบของงานของ Larsson พอสมควร
ก่อนหน้าที่จะได้อ่าน “แฮร์รี โฮลกับคดีฆาตกรกรุงเทพ” ผมเคยอ่านนิยายในซีรีส์นักสืบแฮร์รี โฮลนี้มาแล้วหนึ่งเล่ม คือ “แฮร์รี โฮล กับคดีฆาตกรมนุษย์หิมะ” (The Snowman) ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ตอนที่เลือกมาอ่านนั้นก็เพราะเห็นว่าเป็นนิยายที่ถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์ ก็เลยอยากรู้เรื่อง อยากอ่านก่อนตามประสา ยอมรับครับว่าไม่ถึงกับประทับใจอะไรนิยายเล่มแรกในชุดที่เลือกมาอ่านเท่าไรนัก (“แฮร์รี โฮล กับคดีฆาตกรมนุษย์หิมะ” เป็นตอนที่ 7 ในซีรีส์ ส่วน “แฮร์รี โฮลกับคดีฆาตกรกรุงเทพ” เป็นตอนที่ 2 ครับ)
สำหรับผม นิยายซีรีส์ นักสืบแฮร์รี โฮล นี้ ค่อนข้างหม่นมัว และให้อารมณ์เหมือนนิยายสืบสวนเชิงจิตวิทยามากกว่านิยายสืบสวนแบบใครเป็นคนฆ่า อารมณ์ของการอ่านจึงทิ้งดิ่งไปกับสภาพจิตใจที่มืดมนของตัวละครนักสืบโฮล สำหรับผมที่มักชอบอารมณ์ลุ้นว่าใครเป็นฆาตกร หรือฆาตกรจะถูกจับได้ไหม จึงอ่านไปแบบค่อนข้างทุลักทุเล เพราะต้องแบกรับอารมณ์ขึ้งเครียด (ถ้าไม่เครียด ก็จะเป็นอารมณ์เมาๆ หลอนๆ) ของตัวละครนักสืบโฮลควบคู่กันไปด้วย
“แฮร์รี โฮลกับคดีฆาตกรกรุงเทพ” เปิดเรื่องอย่างรวดเร็วด้วยเหตุการณ์ที่ติ๋ม โสเภณีสาวพบศพทูตนอร์เวย์ถูกมีดโบราณปักกลางหลังในโรงแรมจิ้งหรีด แฮร์รี โฮล ถูกส่งมาสืบเรื่องนี้ทันที โดยได้รับมอบหมายคำสั่งให้ปิดคดีให้เร็วและเงียบที่สุดเพื่อปิดข่าวฉาวที่คนระดับ VVIP เป็นข่าวเช่นนี้ เบาะแสเดียวที่โฮลสืบพบมีเพียงแค่ว่าคนร้ายที่อาจเป็นฆาตกรฆ่าท่านทูตและตัวท่านทูตเองพัวพันกับธุรกิจสีเทาที่มีอิทธิพลใหญ่คับประเทศ ท่ามกลางคนแปลกหน้าที่โฮลไม่มีทางแน่ใจได้เลยว่าใครพูดจริง ใครพูดโกหก และคดีความที่สาวลึกไปถึงกระบวนการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะเด็กสาว ความฉ้อฉลของเกมการเมืองและธุรกิจการพนันที่ดำมืดและลึกลับ แต่ใครคื่อฆาตกร และฆาตกรทำเช่นนั้นไปทำไม
หากให้เทียบกันระหว่างสองเล่มที่ได้อ่านไป ผมคิดว่า “แฮร์รี โฮลกับคดีฆาตกรกรุงเทพ” สนุกกว่า และให้อารมณ์ที่ดิบๆ มากกว่า “แฮร์รี โฮล กับคดีฆาตกรมนุษย์หิมะ” ที่สำคัญ Nesbø ทำการบ้านมาดีมาก เพราะเขาสามารถถ่ายทอดวิถีชีวิต ความคิด และมุมมองที่คนไทยมีต่อสิ่งต่างๆ ออกมาผ่านเรื่องราว เหตุการณ์ และตัวละครในเรื่องได้อย่างจับวาง ผมชอบการที่ Nesbø สร้างตัวละครตำรวจที่เป็นคนต่างชาติ (ลิซ) ที่เป็นเหมือนตัวเชื่อมความแปลกแยกของชาติพันธุ์ระหว่างการสืบสวนดำเนินคดีได้อย่างลงตัว ในขณะเดียวกัน ตำรวจต่างชาติก็ยังเป็นภาพสะท้อนของ “ฝรั่ง” ที่อยู่ในเมืองไทยมานานและมองเห็นชีวิต ความเป็นมาเป็นไป และขนบแบบไทยๆ มีหลายประเด็นที่ตัวละครถกเถียงกันในเรื่องของความเชื่อที่แตกต่างกันของสองวัฒนธรรม ผมว่าเป็นการให้รายละเอียดที่ดี และทำให้นิยายไม่ได้มุ่งไปในทิศทางที่เสนอภาพลักษณ์ที่หม่นมืดของโลกสีเทาในบ้านเราจนเกินไปนัก
ในส่วนของการไขปริศนา สำหรับผม Nesbø วางโครงเรื่องมาแน่นดี และในส่วนของการเฉลยก็หักมุมได้ดีพอสมควร (แต่ผมแอบเดาได้ก่อนนิดหน่อย) เพียงแค่รายละเอียดของการสืบสวนนั้นถูกคละเคล้าไปด้วยมุมมองและชีวิตที่มืดดำของตัวละครนักสืบในเรื่องเหมือนเส้นขนานที่วิ่งไปด้วยกัน คนที่เป็นแฟนนิยายสืบสวนแบบที่เน้นอารมณ์ของการสืบสวนอาจจะรู้สึกไม่ค่อยถูกจริตเท่าไรนัก
1
ผมชอบอารมณ์เปรียบเปรยเรื่องสกปรกลึกลับดำมืดให้เหมือนแมลงสาบ โดยการพรรณนาให้แมลงสาบเปลี่ยนสภาพไปเป็นสัญลักษณ์ มีฉากหนึ่งที่นักสืบโฮลพบว่าห้องพักของเขาในกรุงเทพฯ มีแมลงสาบลอดออกมาจากช่องๆ หนึ่ง เขาคิดในใจว่าแมลงสาบมาพร้อมกับสิ่งสกปรก และเมื่อมันปรากฏตัวขึ้นตัวหนึ่ง ก็มักจะมีตัวอื่นๆ ตามมา เช่นเดียวกับเรื่องราวสกปรกโสมมที่ค่อยๆ ปริ ค่อยๆ เล็ดออกมาเมื่อเราค้นพบมัน
คนที่ชอบอ่านนิยายสืบสวนในอารมณ์จิตๆ อาจจะสนุกกับนิยายเรื่องนี้ได้ไม่ยาก และหากเป็นแฟนนิยายแนวสืบสวนจิตวิทยาที่นอกจากจะไขปมปริศนาว่าใครเป็นคนทำแล้ว ยังได้ช่วยตัวละครหลักแก้ไขปัญหาอึดอัดคับข้องในชีวิต นิยายซีรีส์ “นักสืบแฮร์รี โฮล” นี้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีครับ ส่วนผม คงต้องขออนุญาตใช้คำที่เคยบอกกับเพื่อนรุ่นพี่ที่ถามว่าอ่านนิยายชุดนี้ของ Jo Nesbø แล้วเป็นอย่างไรว่า “อ่านก็ดี ไม่อ่านก็ไม่เสียอะไร” (หมายเหตุ การอ่านและรสนิยมความชอบเป็นเรื่องส่วนบุคคล)
#ReadingRoom #Cockroaches #HarryHole #JoNesbo
โฆษณา