5 ก.ย. 2021 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
ปรับตัวได้ดี จึงไปได้ไกล! รู้จัก "Situational Adaptability" ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
.
.
“ระยะทาง 500 ไมล์จากชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย เรือพายของพวกเรากำลังลอยอยู่ ณ ท่ามกลางมหาสมุทรแปซิฟิกอันเวิ้งว้างและมืดมิด ฉันจำได้ดีว่าคืนนั้นเมฆหนาปกคลุมทุกอย่าง ทั้งแสงจันทร์ แสงดาว และคลื่นยักษ์ขนาด 40 ฟุตที่กำลังจะถาโถมใส่พวกเรา…”
.
ลอร์รา เพนฮอลล์ (Laura Penhaul) เล่าถึงประสบการณ์การพายเรือพายข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกพร้อมกับเพื่อนในทีมอีก 3 คน เป็นการเดินทางที่หลายคนบอกว่า ‘อันตราย’ และ ‘เป็นไปไม่ได้’ เพราะระยะทางจากอเมริกาไปยังออสเตรเลียนั้นไกลถึง 9,000 ไมล์ ซึ่งต้องพายกันนานถึง 6 เดือน แต่เธอไม่เคยย่อท้อตลอดการเตรียมตัว จนกระทั่งย่างเข้าวันที่ 10 ของการเดินทาง
.
เพียงแค่ 10 วันแรกเท่านั้น พวกเธอต้องเผชิญกับพายุฝนถึง 2 ลูก คลื่นสูงถึง 40 ฟุตและอาการเมาเรืออย่างหนัก เท่านั้นยังไม่พอ น้ำยังไหลเข้าไปในที่เก็บแบตเตอรี่จนเกิดไฟลุกอีก เริ่มต้นยังหนักขนาดนี้ อีก 6 เดือนที่เหลือจะขนาดไหน
.
เป็นครั้งแรกที่ลอร์ราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะ ‘ยอมแพ้’ หรือจะ ‘สู้ต่อ’
.
หากเป็นคนอื่นคงยอมแพ้ไปแล้ว แต่ไม่ใช่ลอร์รา เธอและทีมเลือกพายกลับเข้าฝั่งเพื่อซ่อมเรือและออกเดินทางอีกครั้ง จนในที่สุด พวกเธอก็กลายเป็นนักพายหญิงล้วนกลุ่มแรกที่พายเรือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกสำเร็จ แม้จะใช้เวลาทั้งหมดถึง 9 เดือน ซึ่งนานกว่าที่ตั้งไว้ในตอนแรก
.
เจออุปสรรคหนักหนาขนาดนั้น เหตุใดลอร์ราถึงสู้ต่อได้จนสำเร็จ?
.
เพราะเธอมี “ทักษะการปรับตัว” (Situational Adaptability) นั่นเอง!
.
.
รู้จักกับ "Situational Adaptability" ทักษะที่ต้องมีหากคุณอยากประสบความสำเร็จ
.
ทักษะการปรับตัวคือความสามารถในการปรับตัวได้อย่างทันท่วงทีต่อความต้องการและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทักษะความยืดหยุ่นนี้คือความสามารถของเราในการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเดิมๆ แก้ไขปัญหา และหาทางออกด้วยวิธีใหม่ๆ ได้ แม้ว่าจะเจออุปสรรคแบบใดก็ตาม
.
ในโลกปัจจุบันที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลา ทักษะการปรับตัวถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก
เพราะมันแสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้โฟกัสแค่เป้าหมายอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงการปรับเปลี่ยน ‘วิธีการ’ ในการไปถึงเป้าหมายอีกด้วย
.
2
แล้ว Situational Adaptability ดีต่อเราอย่างไร
.
งานวิจัยของ Korn Ferry บริษัทที่ปรึกษาระดับนานาชาติพบว่า ทักษะการปรับตัวเป็นหนึ่งในทักษะที่ฝึก ‘ยากที่สุด’ ในมนุษย์เรา แม้จะพัฒนายาก แต่ถ้าหากทำได้ก็ถือว่าคุ้มค่าสุดๆ เพราะทักษะนี้ส่งผลอย่างมากต่อ ‘ความสำเร็จ’ ในชีวิต ตั้งแต่ผลการทำงาน การได้เลื่อนขึ้น ไปจนถึงการเป็นผู้นำที่ดี ถึงขั้นพูดได้เลยว่า
.
1
“ชีวิตนี้จะประสบความสำเร็จมากขนาดไหน อาจขึ้นอยู่กับว่าเราปรับตัวได้ดีแค่ไหน”
.
ขนาดนั้นเชียวหรือ ถ้าอย่างนั้นเรามาดูกรณีศึกษาความล้มเหลวจากการปรับตัวช้ากันดีกว่า คิดว่าทุกคนยังจำ ‘Blackberry’ ได้ดี เพราะโทรศัพท์ยี่ห้อนี้เป็นที่นิยมมากในช่วง 10 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อ Android และ Apple ปล่อยสมาร์ตโฟนแบบหน้าจอสัมผัสออกมา Blackberry เริ่มเสียส่วนแบ่งทางการตลาด แต่แทนที่จะปรับตัวและออกสมาร์ตโฟนลักษณะคล้ายกันออกมาบ้าง พวกเขากลับทุ่มเต็มหน้าตักให้กับฟีเจอร์แป้นพิมพ์อันเป็นเอกลักษณ์เหมือนเดิม
.
2
ผลที่ตามมาคือยอดขายร่วงไม่เป็นท่า จน CEO ทั้งสองถูกเชิญออก
.
ภายหลังบริษัทออกมาให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขา ‘ปรับตัวช้า’ และพลาดโอกาสเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง 4G กับจอสัมผัส แต่กว่า Blackberry จะปรับตัวทันก็สายไปเสียแล้ว จากรายได้เกือบ 20,000 ล้านเหรียญในปี 2010 ปัจจุบันรายได้ของบริษัทลดลงถึง 96% เหลือเพียง 800 ล้านเหรียญเท่านั้น
.
เห็นหรือยังว่าจะไปได้ใกล้หรือไกล ขึ้นอยู่กับว่าปรับตัวได้ดีแค่ไหนล้วนๆ
.
.
1
ย้อนกลับมาที่ลอร์รา ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่ดีของความสำเร็จในการปรับตัว แต่ที่น่าสนใจคือเธอไปเรียนรู้ทักษะเหล่านี้มาจากไหน
.
สำหรับลอร์รา เหตุการณ์นั้นไม่ใช่ครั้งแรกที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน ก่อนเริ่มการเดินทาง เธอต้องปรับตัวและผ่านความผิดหวังมานับไม่ถ้วน เธอใช้เวลาถึง 4 ปีในการเตรียมตัว ระหว่างนั้นเธอต้องตามหาสปอนเซอร์ที่ยินยอมจ่ายเงินถึง 250,000 เหรียญ (หรือกว่า 8 ล้านบาท) ซึ่งเธอถูกปฏิเสธหลายต่อหลายครั้ง ส่วนเพื่อนร่วมทีมก็เข้าร่วมและลาออกไปแล้วถึง 8 คน แต่เธอก็หาทางออกด้วยวิธีการใหม่จนเริ่มการเดินทางได้ในที่สุด
.
1
นอกจากนั้น เธอยังมีโอกาสได้พบคนปรับตัวเก่งมามากมาย ในฐานะนักกายภาพบำบัดในการแข่งขันพาราลิมปิก นักแข่งผู้พิการเหล่านั้นล้วนได้พบกับความสูญเสียที่ไม่คาดฝันจนชีวิตต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล พวกเขาเหล่านี้อาจตื่นมาในเช้าวันหนึ่งและเลือกที่จะยอมแพ้ก็ได้ แต่พวกเขากลับเลือกที่จะใช้ชีวิตที่มีอย่างเต็มที่ หาเป้าหมายใหม่อีกครั้ง แน่นอน การสูญเสียขาหรือแขนไม่ได้อยู่ในแผนที่พวกเขาวางไว้ แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว พวกเขาก็ต้องปรับตัวและอยู่กับวิถีชีวิตแบบใหม่นี้ให้ได้
.
ประสบการณ์เหล่านี้นี่แหละที่สอนให้เธอรู้จักปรับตัว หากลองทำอะไรแล้วไม่ได้ผล ให้ลองอีกครั้งด้วยวิธีการใหม่ ไม่ใช่ล้มเลิก
.
.
3
แล้วถ้าหากเราอยากมีทักษะการปรับตัวบ้าง จะสร้างอย่างไร? มีหลายวิธีที่จะช่วยให้เราฝึกทักษะนี้ โดยที่เราไม่ต้องพายเรือข้ามมหาสมุทร
.
1) รับฟังและสังเกตสิ่งรอบตัว
การจะปรับตัวได้ดีต้องเริ่มจากการมี Awareness ที่ดีเสียก่อน บนโลกนี้ไม่มีสถานการณ์ ใดที่เหมือนกัน 100% ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือสังเกตรายละเอียด และปรับตัวเพื่อตอบสนองกับแต่ละสถานการณ์นั้นๆ ให้ได้
.
2) เปิดใจรับสิ่งใหม่
ไม่มีแนวคิดไหนที่หยุดยั้งการพัฒนาตนเองและองค์กรได้มากเท่ากับความคิดประเภท ‘ที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้มาตลอด’ แล้ว จริงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงนั้นน่าหวาดหวั่น แต่หากเราไม่เปิดรับความคิดใหม่ๆ หรือวิธีการใหม่ๆ เราจะพลาดโอกาสในการพัฒนา เรียนรู้ และเติบโต
.
ดังนั้นเลิกปิดกั้นและหันมาเปิดกว้าง ให้โอกาสตัวเองได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ผ่านความคิดของตัวเอง หรือผ่านความเห็นของผู้อื่น แต่นอกจากเราจะเปิดใจตัวเองแล้ว เราควรสนับสนุนให้ผู้อื่นเปิดใจด้วย หากทุกคนอยู่ในบริบทที่ให้อิสระทางความคิด อาจผุดแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย เพราะไม่มีอะไรดีกว่าหลายหัวช่วยกันคิดแบบไม่มีลิมิตกั้นแล้ว
.
1
3) กล้าเสี่ยง
สำหรับบางคน หากได้ยินคำว่า ‘เสี่ยง’ คงอยากหนีไปให้ไกลที่สุด แต่เราลืมไปหรือเปล่าว่าทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีความเสี่ยง ดังนั้นแทนที่จะโฟกัสไปที่ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เราเบนความสนใจไปที่ ‘วิธีรับมือ’ ดีกว่า
.
4) เรียนรู้ให้เป็นชีวิตจิตใจ
คนที่รู้จักตั้งคำถามและสนใจเรื่องราวรอบตัวที่เกิดขึ้นมักจะปรับตัวได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นเราควรเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้เป็นนิสัย ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารบ้านเมือง เทรนด์ เทคโนโลยี และการพัฒนาตัวเอง ไม่จำเป็นเสมอไปว่าเราต้องเรียนรู้จากการอ่านหรือการเข้าร่วมสัมมนา อย่าลืมว่าเรายังสามารถเรียนรู้ผ่านการทดลอง ผ่านความผิดพลาด และผ่านการพูดคุยกับผู้อื่นได้อีกด้วย
.
1
5) มี Self-Control
ทักษะการปรับตัวนั้นเกี่ยวข้องกับการทักษะอื่นๆ อย่างการมี Self-Control ด้วย หากเราต้องพบเจออุปสรรคที่ไม่คาดฝัน การมีสติและรู้จักควบคุมอารมณ์ ช่วยให้เราไม่จมอยู่กับอุปสรรค และมุ่งหน้าหาวิธีแก้ปัญหาแทน
.
.
กว่าวิวัฒนาการของมนุษย์จะพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน บรรพบุรุษของเราต้องเจอบททดสอบมากมาย แต่พวกเขาก็ผ่านมาได้ด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอด เราจะเห็นได้ว่าจริงๆ ‘ทักษะการเอาตัวรอด’ มีอยู่ในตัวทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะฝึกฝนและนำไปใช้จริงมากแค่ไหน
.
โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาราวกับทะเลที่ผันผวน เราทุกคนล้วนต้องเจออุปสรรคใหม่ทุกวัน ไม่ต่างจากที่ลอร์รา เพนฮอลล์ต้องเจอในการพายเรือข้ามทะเลเลย แต่เราก็สามารถใช้โอกาสนี้ฝึกทักษะการเอาตัวรอดได้ตามข้อคิดที่ลอร์ราได้ทิ้งท้ายไว้
.
“อย่าปล่อยให้การยอมแพ้เป็นตัวเลือกของเรา เอามันออกไปจากหัว และดูว่าเราจะปรับตัวได้มากแค่ไหน”
.
.
4
โฆษณา