6 ก.ย. 2021 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
Axie Infinity เกมเวียดนาม ที่สร้างรายได้หมื่นล้าน ใน 2 เดือน
3
เมื่อพูดถึงเกม คนเรามักจะนึกถึงความสนุกสนานและความเพลิดเพลินอยู่เสมอ
ยกตัวอย่างเช่น The Sims เกมใช้ชีวิตบนโลกจำลองสุดหรรษา ที่เราจะสามารถออกแบบชีวิตอย่างไรก็ได้ หรือ Among Us เกมหนีตายจากฆาตกรที่แฝงตัวในกลุ่มเพื่อนของเรา
1
แต่ปัจจุบัน ก็ได้มีเกมประเภทใหม่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายมอบความสนุกสนานเท่านั้น แต่สร้างขึ้นมาให้ผู้เล่นสามารถสร้างรายได้ ได้เช่นกัน
1
หนึ่งในเกมประเภทนี้ ที่กำลังเป็นกระแสชื่อว่า “Axie Infinity” ที่ให้ผู้เล่นนำมอนสเตอร์มาสู้กัน
เช่นเดียวกับโปเกมอน เพื่อชิงทรัพยากรต่าง ๆ ภายในเกมและเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี
1
โดยทั้งทรัพยากรและคริปโทเคอร์เรนซีที่เราได้ เราก็สามารถนำไปขายต่อเป็นสกุลเงินจริงได้
จุดนี้เอง ก็ได้ทำให้ Axie Infinity กลายมาเป็นกระแสทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย
1
แล้ว Axie Infinity มีโมเดลอย่างไร
และได้รับความนิยมขนาดไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
3
Axie Infinity ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 2018 โดยบริษัทสตูดิโอเกมสัญชาติเวียดนาม
ชื่อว่า “Sky Mavis” ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก 2 นักธุรกิจชาวอเมริกัน
นั่นก็คือ Mark Cuban มหาเศรษฐีเจ้าของทีมบาสเกตบอล NBA และ Alexis Ohanian ผู้ก่อตั้ง Reddit
Axie Infinity เป็นเกมที่ถูกสร้างและพัฒนาอยู่บนเครือข่ายบล็อกเชน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจการพัฒนารูปแบบการเล่นมาจากโปเกมอนของ Nintendo
ซึ่งรูปแบบที่ว่านั้นก็คือผู้เล่นจะต้องเลี้ยงดู ฝึกฝน จับคู่ผสมพันธุ์มอนสเตอร์ชื่อ “Axie” ไปเรื่อย ๆ แล้วนำไปสู้กับผู้เล่นคนอื่น เพื่อที่จะได้ชิงโทเคนชื่อว่า Smooth Love Potion หรือ SLP
โดย SLP มีความสำคัญสำหรับการเล่นเกมนี้เป็นอย่างมาก เพราะผู้เล่นสามารถนำไปใช้ในการผสมพันธุ์ Axie ใหม่ เพื่ออัปเกรดให้มันมีพลังการต่อสู้มากขึ้น
3
และเมื่อเราได้ตัวมอนสเตอร์ใหม่ที่มีพลังมากขึ้น
โอกาสที่เราจะเอาชนะการต่อสู้ได้จึงมากขึ้น
นำไปสู่โอกาสที่จะได้รับ SLP มากขึ้น ตามไปด้วย
ทั้งหมดนี้ จึงเกิดเป็น Ecosystem ของ Axie Infinity ในปัจจุบัน
2
นอกจาก SLP แล้ว Axie Infinity ยังมีอีกเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีหนึ่งที่จะแจกเป็นรางวัล
เรียกว่า Axie Infinity Shards หรือ AXS ที่มีคุณสมบัติคล้ายกับ SLP แต่มีความพิเศษกว่า
1
โดยพิเศษตรงที่เหรียญจะมีอยู่อย่างจำกัดและมีหลักการเดียวกันกับ Governance Token บนแพลตฟอร์ม DeFi ทำให้ผู้เล่นที่ถือเหรียญ สามารถโหวตเปลี่ยนแปลงนโยบายต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มได้อีกด้วย
1
นั่นจึงส่งผลให้เหรียญ SLP และ AXS กลายเป็นที่ต้องการของผู้เล่น จนเกิดการซื้อขายด้วยเงินจริงขึ้นมานั่นเอง
หลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ที่วงการเกมจะมีการซื้อขายไอเทม ด้วยเงินจริง แต่ที่ Axie Infinity ทำแตกต่างจากเกมอื่น ๆ นั่นก็เพราะว่าพวกเขาได้สร้าง Marketplace สำหรับซื้อขายสิ่งต่าง ๆ ภายในเกมขึ้นมาเป็นของตัวเองเลย
1
ในขณะที่เกมอื่น ผู้เล่นต้องทำการเจรจาซื้อขายตัวต่อตัวกันเอง
ความสะดวกสบาย รวมถึงความปลอดภัยจึงค่อนข้างแตกต่างกัน
จากเหตุผลเหล่านี้ นำไปสู่การดึงดูดผู้คนทั่วไปที่ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเกมเมอร์ ให้เข้ามาร่วมเล่นเกมด้วยเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ซึ่งโมเดลธุรกิจแบบนี้ถูกเรียกว่า “Play to Earn” หรือยิ่งเล่น ยิ่งมีโอกาสในการหารายได้
1
อย่างไรก็ตาม การจะเข้าเล่นเกม Axie Infinity ใช่ว่าเราสามารถเข้าไปเล่นได้ทันที
ผู้เล่นจำเป็นต้องมีเงินทุนก้อนหนึ่ง เพื่อใช้ซื้อเหล่ามอนสเตอร์สำหรับเล่นไว้ถึง 3 ตัวก่อน
ซึ่งมอนสเตอร์ที่พอเล่นได้ มีราคาเฉลี่ยตัวละ 6,500 บาท
หากซื้อขั้นต่ำ 3 ตัว รวมค่าใช้จ่ายแล้วจะอยู่ที่ 19,500 บาทเลยทีเดียว
Cr.i3siam
แน่นอนว่ามูลค่าดังกล่าวนับเป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับใครหลายคน
มันจึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้คนที่ต้องการเข้ามาเล่นเกมอย่างมาก
ผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีเงินทุนหนาแต่ไม่ค่อยมีเวลา เลยก่อตั้ง Scholar หรือให้ทุนแก่ผู้คนที่ไม่มีเงินทุนเพียงพอ สามารถเข้ามาเล่นได้ โดยจะมีมอนสเตอร์เตรียมไว้ให้พร้อมเริ่มเกมครบ 3 ตัว
ส่วนผลตอบแทนจากการเล่นจะแบ่งตามที่ตกลงกันเอง
ปัจจุบันประเทศที่ผู้คนกำลังนิยมเล่นเกม Axie Infinity มากที่สุดคือ ประเทศฟิลิปปินส์
รองลงมาคือ ประเทศเวเนซุเอลา เมื่อรวมจำนวนผู้เล่นจากสองประเทศนี้จะคิดเป็น 45% ถึง 50% ของผู้เล่นทั้งหมด
1
หากสังเกตจากข้อมูลจะพบว่า ผู้เล่นส่วนใหญ่นั้นมาจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
เหตุผลเพราะว่า พวกเขาต้องพยายามหารายได้ เพื่อชดเชยจากการลดลงของค่าจ้างหรือตกงาน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ซึ่งต่างจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีรัฐสวัสดิการคอยช่วยเหลือผู้คนเพียงพออยู่แล้ว
ผู้คนในประเทศเหล่านั้น จึงไม่ต้องขวนขวายหางานเสริมเพิ่มหรืองานใหม่เช่นเดียวกัน
Vincent Gallarte ชาวฟิลิปปินส์ วัย 25 ปี คือตัวอย่างที่อธิบายถึงปรากฏการณ์ฮิตได้อย่างชัดเจน
1
ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นพนักงานไอทีของบริษัทแห่งหนึ่ง แต่ถูกไล่ออกจากสถานการณ์โควิด 19
ต่อมา Gallarte ได้รับการบอกต่อเรื่อง Axie Infinity ว่าเป็นเกมที่สามารถสร้างเงินได้ จากญาติและเพื่อนฝูง เขารู้สึกสนใจทันที แต่ด้วยความที่เป็นคนว่างงาน จึงติดปัญหาตรงที่ไม่มีเงินทุนเพียงพอนัก
โชคดีที่มี Scholar ทุนสำหรับให้ผู้เล่นจากเหล่าสปอนเซอร์
ทำให้เขาสามารถเข้าร่วมเล่นเกมได้ในที่สุด
ภายในเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ เขาสามารถสร้างรายได้ถึง 24,000 บาทหรือ 3 เท่าจากเงินเดือนเดิมที่เคยได้รับ ส่วนสปอนเซอร์ก็คืนทุนได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่เดือน
1
เรื่องราวเหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนสามารถผลักดันให้ผู้เล่นเติบโตอย่างรวดเร็ว
จากเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว Axie Infinity มีผู้เล่นเพียง 7,500 คนเท่านั้น
แต่ปัจจุบันกลับมีผู้เล่นแตะยอด 1 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2
และจากผู้เล่นที่มากขึ้นก็ส่งผลให้เหรียญ AXS มีมูลค่าตลาดทั้งหมดที่ 142,111 ล้านบาท
ส่วนโทเคน SLP มีมูลค่าตลาดทั้งหมดที่ 9,100 ล้านบาท
1
นอกจากราคาพวกเหรียญแล้ว ราคาตัวละครและที่ดินภายในเกมก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
ราคาสูงสุดของเจ้ามอนสเตอร์อยู่ที่ 4.3 ล้านบาท
ขณะที่ราคาที่ดินเคยแตะสูงสุดที่ 49 ล้านบาทเลยทีเดียว
แน่นอนว่าความนิยมอย่างนี้ส่งผลให้ 2 เดือนล่าสุด เจ้าของเกมอย่าง Sky Mavis สร้างรายได้จากการขายไอเทมภายในเกม รวมถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ถึง 1.7 หมื่นล้านบาท
2
อย่างไรก็ตาม มีคนวิเคราะห์ว่า ธุรกิจแบบ Axie Infinity นั้นจะไม่มั่นคงในระยะยาว
เนื่องจากผู้เล่นต้องจ่ายเงินหลายหมื่นบาทล่วงหน้าเพื่อเล่น โดยที่ยังไม่รู้ว่าเกมนี้เกี่ยวกับอะไร
หากวันข้างหน้าเกมได้รับความนิยมลดลง โอกาสที่ผู้คนจะยอมจ่ายก็คงยากขึ้นตามเช่นกัน
อีกเรื่องที่น่าคิดต่อว่า หากวันหนึ่งเกมได้รับความนิยมเล่นน้อยลงกว่าเดิม
สุดท้ายแล้วผู้คนจะยังให้มูลค่าแก่เหล่ามอนสเตอร์และเหรียญในเกมอีกต่อไปหรือไม่
2
ดังนั้นสิ่งที่ Sky Mavis ควรทำต่อ คงไม่ใช่แค่การจูงใจผู้คนด้วยเงินเท่านั้น
แต่ต้องพัฒนาเกมให้มีความสนุกสนานและสมดุลควบคู่ไปด้วย
1
เพื่อเป็นการการันตีให้แน่ใจว่ามูลค่าสมมติที่ถูกสร้างขึ้นมา
และทุกคนกำลังเชื่อมั่น ณ วันนี้ จะอยู่ต่อไปได้ ในระยะยาว..
โฆษณา