6 ก.ย. 2021 เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ชะตาเศรษฐกิจไทย ใต้เงาสงครามเทคโนโลยี
1
ในบทความตอนที่แล้ว KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้วิเคราะห์ถึงความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐ ฯ และจีน
7
ว่าเศรษฐกิจโลกและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศอาจแยกออกเป็นสองค่าย
โดยที่ห่วงโซ่อุปทานอาจแยกตัวออกจากจีนกลับไปยังสหรัฐ ฯ หรือ กระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีการบูรณาการเข้ารวมกับห่วงโซ่การผลิตในระดับสูงนั้น ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ
2
จึงทำให้การแข่งขันและการกีดกันในด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯและจีน จะทวีความรุนแรงขึ้นและจะเป็นจุดสำคัญที่จะชี้ชะตาว่าใครจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในทศวรรษข้างหน้าอีกด้วย
1
แล้วความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีมันเกี่ยวข้องกับไทยอย่างไร?
2
ลองนึกภาพว่าเทคโนโลยี 5G ของจีนที่เราใช้จะไม่สามารถเข้าถึงชิปหรือเทคโนโลยีขั้นสูงเนื่องจากถูกกีดกันจากประเทศตะวันตกจนอาจทำให้การพัฒนา 5G ในไทยเกิดความล่าช้า
หรือ บริษัทต่างชาติถูกกดดันจากรัฐบาลประเทศตะวันตกจนตัดสินใจย้ายฐานการลงทุนออกจากไทยเนื่องจากอุปกรณ์ของเทคโนโลยีจีนอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกสอดแนมหรือถูกโจมตีทางไซเบอร์ได้
จนทำให้การค้า การลงทุนได้รับผลกระทบ และการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ไม่สามารถทำได้
เหล่านี้ป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจไทยจากความขัดแข้งทางเทคโนโลยีที่เราไม่อาจมองข้ามได้
1
ในรายงานฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นตอนที่ 2 ของบทความชุด “ลูกหลงต่อเศรษฐกิจไทย เมื่อยักษ์ใหญ่โรมรัน” (A Little Boy in the War of the Titans)
2
KKP Research จะวิเคราะห์ความขัดแย้งทางเทคโนโลยีและความเสี่ยงต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย
ต้นเหตุของสงครามเทคโนโลยี
ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นสัญญาณความขัดแย้งและการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ทั้งสองฝ่ายต่างก็พยายามจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในเทคโนโลยีต่างๆ
เพราะว่าใครก็ตามที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีแห่งอนาคตก็จะสามารถเพิ่มเครื่องยนต์ใหม่ในการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับพลเมือง รวมไปถึงเพิ่มความปลอดภัยและความมั่นคงให้แก่ประเทศได้
1
โดยทางฝั่งของจีนก็ได้ออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ที่จะยกระดับจีนให้กลายมาเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี
1
ในขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ ก็ได้ผ่านกฎหมาย the US Innovation and Competition Act (USICA)
2
ที่เป็นเหมือนแผนแม่บทเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับจีน
1
จากความต้องการของทั้งสองมหาอำนาจที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี
2
โดยมีการลงทุนเพิ่มเติมด้านเทคโนโลยีในหลายด้าน เช่น
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)
เทคโนโลยีในด้านรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) และ
รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicle)
เทคโนโลยีควันตัม (Quantum Technology) และ
เทคโนโลยีด้านอวกาศ (Space Technology)
1
เทคโนโลยีที่กล่าวมานั้นมีศักยภาพในการเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด
1
อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานสำคัญและจะเป็นศูนย์กลางของสงครามเทคโนโลยีในครั้งนี้คือ
เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor)
เทคโนโลยี 5G (5G Technology) และ
2
เทคโนโลยีในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Technology) จาก 3 เหตุผลหลักได้แก่
1. ความสำคัญของเทคโนโลยีและเซมิคอนดักเตอร์ต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ทศวรรษผ่านมา
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 (The Third Industrial Revolution)
ทำให้กระบวนการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงกลายไปเป็น ดิจิทัล มากยิ่งขึ้น
1
ยกตัวอย่างเช่น การใช้คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์โปรแกรม ในสายการผลิตอัตโนมัติและในสายการขาย พัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology)
ที่ทำให้บริษัทสามารถสื่อสารกับโรงงานผลิตในต่างแดนและลดต้นทุนของการส่ง การค้นหา และการจัดเก็บข้อมูลได้อย่างมาก
ทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผลิตภาพของบริษัทและกระแสโลกาภิวัตน์เติบโตอย่างก้าวกระโดด
การที่เศรษฐกิจมีความเป็นดิจิทัล และผนวกกับเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น
1
ทำให้ความสำคัญของ เซมิคอนดักเตอร์ เพิ่มมากขึ้นในฐานะที่เป็นสินค้าขั้นกลางที่สำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
3
หากไปดูข้อมูลจาก Semiconductor Industry Association (SIA) พบว่า รายรับทั่วโลกจาก เซมิคอนดักเตอร์ เพิ่มขึ้นเกือบ 9 เท่าจาก 5.1 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 1990 เป็น 4.39 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2020
2
และในทศวรรษข้างหน้านี้
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution)
1
ซึ่งจะนำไปสู่พัฒนาการของเทคโนโลยี และการเติบโตของตลาดในสาขาต่าง ๆ
เช่น Datacenters, 5G, Smart phone, Artificial Intelligence (AI), Robotics, Autonomous Vehicle, Augmented and Virtual Reality (AR/VR)
1
จะยิ่งทำให้อุปสงค์ของ เซมิคอนดักเตอร์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำให้ความสำคัญของ เซมิคอนดักเตอร์ อยู่ในแทบทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
2. นอกจากด้านเศรษฐกิจแล้วเซมิคอนดักเตอร์ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านการทหาร นอกจากเทคโนโลยีใหม่จะมีอิทธิพลต่อในแทบทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว
1
ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเทคโนโลยีทางกลาโหม
ไม่ว่าจะเป็น เครื่องบินรบ เครื่องบินโดรน ระบบเรดาร์ ระบบชี้เป้าหมาย (targeting system)
การจำลองสถานการณ์ (simulation) ระบบเตือนภัย (warning system)
ระบบการสื่อสาร (communication)
ระบบการสั่งการและควบคุม (command and control system)
รวมไปถึง เทคโนโลยีทางอวกาศ (Space technology) อีกด้วย
การที่จะรักษาและเพิ่มสมรรถนะของระบบต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น
จำเป็นอย่างยิ่งที่ หน่วยประมวลผลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น central processing units (CPUs) graphics processing units (GPUs) หรือ application-specifics integrated circuits (ASICs)
1
จะต้องมีประสิทธิภาพสูงและมีความปลอดภัยไม่บกพร่องเพราะว่า microprocessor เหล่านี้เปรียบเสมือนมันสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI System) ที่มีความจำเป็นต่อการป้องกันประเทศ
2
ดังนั้น กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานทางการทหารของแต่ละประเทศย่อมมีความต้องการจัดหาชิปและหน่วยประมวลผลเหล่านี้จากผู้ผลิตในประเทศที่ปลอดภัยจากอิทธิพลของต่างประเทศนั่นเอง
3. ความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) จะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้การแข่งขันด้านเทคโนโลยีทวีความรุนแรงขึ้น
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราเห็นข่าวเรื่องการคุกคามต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้น
หนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนโดยตรงคือ
ข้อกล่าวหาที่ว่าจีนมีส่วนเกี่ยวข้องในการล้วงข้อมูล (Hacking) และทรัพย์สินทางปัญญาจากบริษัทเอกชน และ หน่วยงานรัฐ ซึ่งทางจีนก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
1
โดยตัวอย่างของช่องทางในการในการโจมตี อาจมาจาก อุปกรณ์ ฮาร์ดแวร์ ที่มีการติดตั้ง มัลแวร์ ไว้เรียบร้อยแล้ว
หรือ ผ่านทาง ซอฟท์แวร์ ที่แฮ็กเกอร์สามารถใช้ในการสอดแนมข้อมูลได้
1
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก IBM Security X-force ชี้ว่า การโจมตีทางด้านไซเบอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ในภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมที่ถูกโจมตีมากที่สุดคือ ภาคการเงิน รองลงมาเป็นภาคการผลิต และ กลุ่มพลังงาน
ซึ่งเป็นสามอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกทั้งสิ้น
ในอนาคตข้างหน้า แนวโน้มต่างๆ เช่น Internet of Things (IoT) จะยิ่งทำให้ความสำคัญของการป้องกันความเสี่ยงด้านไซเบอร์มากขึ้น
ด้วยเหตุผลนี้ จะทำให้รัฐจะเข้ามามีการตรวจสอบและเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ต่อห่วงโซ่อุปทานมากยิ่งขึ้น
ความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน
1
ห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์มีความกระจุกตัวอยู่แค่ในบางประเทศเท่านั้น
ทำให้ความเสี่ยงจาก supply shock และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risk) อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก
เพื่อที่จะเข้าใจรากของการแข่งขันทางเซมิคอนดักเตอร์ ความเข้าใจในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั้งในด้านกระบวนการขั้นตอนและในด้านภูมิศาสตร์จึงเป็นสิ่งสำคัญ
1
กระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชิป สามารถแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
2
ขั้นตอนการออกแบบ (Chip Design)
ขั้นตอนการสร้างวงจรบนแผงเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) และ
ขั้นตอนการประกอบและทดสอบ (Assembly and Testing)
ซึ่งบริษัทที่อยู่ในแต่ละขั้นตอนของห่วงนั้นจะมีระดับการลงทุนและการสร้างมูลค่าเพิ่มที่แตกต่างกันอย่างมาก
1. การออกแบบ
ข้อมูลจากรายงานโดย BCG ร่วมกับ SIA (Semiconductor Industry Association) ชี้ให้เห็นว่า
ในขั้นตอนของการออกแบบ (Chip design) นั้น พึ่งพาการลงทุนในการวิจัยและการพัฒนาอย่างสูง
1
ยิ่งเป็นชิปที่มีองค์ประกอบทุกอย่าง อาทิ CPU, GPU, หน่วยความจำ RAM และ โมเด็มสำหรับการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สาย ไว้ในชิปเดียว (System-on-chip processor) ซึ่งถูกนำมาใช้ใน สมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ต
ยิ่งต้องใช้ความรู้ ทักษะเฉพาะทาง และเวลายาวนานในการพัฒนาชิป
จึงทำให้ขั้นตอนนี้ถือได้ว่าเป็นต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ (Upstream) และเป็นขั้นตอนที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มสูงที่สุด
2. การสร้างวงจรบนแผงเวเฟอร์
ในส่วนของขั้นตอนการสร้างวงจรบนแผ่นเวเฟอร์ (Wafer fabrication)
ถึงแม้ว่าจะพึ่งพาระดับการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาน้อยกว่าขั้นตอนการออกแบบ
แต่การลงทุนใน CAPEX มีความจำเป็นสูงมากจากขั้นตอนการผลิตที่มีความซับซ้อนสูงและอุปกรณ์ที่มีลักษณะจำเพาะสูงและมีราคาแพง
ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี Extreme ultraviolet (EUV) lithography ที่ใช้ในการผลิต ชิปไฮเอนด์ระดับ 5 นาโนเมตร โดยการฉายแสง extreme ultraviolet ที่มีความยาวคลื่นที่สั้นมาก ลงบนแผ่นซิลิคอนเวเฟอร์ ในการพิมพ์ลายของแผงวงจรนั้น
มีอยู่ไม่กี่บริษัทในโลกที่สามารถผลิตเครื่องสแกนไมโครชิปด้วยเทคโนโลยีนี้ได้
รวมถึง บริษัท ASML จากเนเธอร์แลนด์
นอกจากนี้ ยังมีกระบวนผลิตอีกมากมายที่ต้องใช้ทักษะและเครื่องมือเฉพาะทาง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การผลิตชิปโดยเฉพาะระดับไฮเอนด์เป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ
3. การประกอบและทดสอบ
หลังจากขั้นตอนการผลิตเสร็จสิ้นลง แผ่นซิลิคอนเวเฟอร์ที่บรรจุ Integrated Circuits (IC) ขนาดเล็กเป็นจำนวนมากจะถูกทำการตัดแบ่งและ IC เหล่านี้จะถูกนำไปทดสอบและบรรจุลงในเฟรมเพื่อป้องกันความเสียหาย
ขั้นตอนการประกอบและทดสอบเป็นขั้นตอนที่เน้นการใช้แรงงานเป็นหลักและถือได้ว่าเป็นปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มได้น้อยที่สุด
ด้วยห่วงโซ่อุปทานที่มีความซับซ้อนและพึ่งพาการลงทุนในระดับสูง
ทำให้การผลิตเซมิคอนดักเตอร์มีความกระจุกตัวอยู่ภายใน 6 แหล่งหลักเท่านั้น
1
ได้แก่ สหรัฐ ฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ เกาหลีใต้
จากข้อมูลรายรับของบริษัทในห่วงโซ่อุปทานและข้อมูลกำลังการผลิตพบว่า ต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานกระจุกตัวอยู่ในสหรัฐฯและยุโรป
ในขณะที่ตรงกลางและปลายน้ำของห่วงโซ่อยู่ในเอเชียเป็นส่วนมาก ในด้านการผลิต จากข้อมูลจะพบว่า 75 % ของกำลังการผลิตทั้งหมดกระจุกอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไฮเอนด์ชิป (high-end chip) ระดับต่ำกว่า 10 นาโนเมตร ที่กำลังการผลิตทั้งโลกกระจุกอยู่ในไต้หวันถึง 92% และเกาหลีใต้ 8%
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า หากห่วงโซ่อุปทานเผชิญกับ supply shock ต่างๆ จากภัยธรรมชาติหรือหากไต้หวันต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางการทหารระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะรุนแรงมาก
1
และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมภาคการผลิตและอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่ต้องพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์อย่างสูง
นโยบายภาครัฐและภาคเอกชนจะมีบทบาทมากขึ้นในการผลิตชิป
1
ความกระจุกตัวของกำลังการผลิตและเปราะบางต่อความเสี่ยงด้านอุปทาน ทำให้ สหรัฐฯ และจีนจำเป็นจะต้องมีนโยบายที่มุ่งเน้นไปยังการสร้างความมั่นคงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ในอดีตที่ผ่านมา ถึงแม้ว่า สหรัฐฯ จะเป็นผู้นำในด้านการออกแบบและการขายเซมิคอนดักเตอร์ แต่กำลังการผลิตถูกย้ายไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย
เนื่องจากการขยายกำลังการผลิตในประเทศมีต้นทุนค่อนข้างสูง
แต่ในยุคของประธานาธิบดีไบเดน จุดมุ่งหมายของ สหรัฐฯ คือการทำให้สหรัฐฯกลับมาเป็นผู้นำในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รวมไปถึงการเสนอนโยบายโครงสร้างพื้นฐาน
ที่จะเพิ่มงบประมาณการลงทุนภาครัฐในการวิจัย การออกแบบ การขยายกำลังการผลิต และ การพัฒนาศักยภาพแรงงานในอุตสาหกรรม
1
นอกจากนี้ สหรัฐฯยังเพิ่มแรงจูงใจโดยการสนับสนุนบริษัท TSMC และ Samsung สองบริษัทใหญ่ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ในการเปิดโรงงานผลิตในสหรัฐฯ อีกด้วย
ทางฝั่งของจีน ถึงแม้ว่าจีนจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด แต่ในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์
1
จีนถือว่ายังคงอยู่ปลายน้ำที่เน้นการประกอบและการทดสอบซึ่งมีการสร้างมูลค่าเพิ่มน้อย
ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างจีนและประเทศตะวันตกที่เริ่มถดถอยลง ทำให้จีนมีความต้องการที่จะสร้างห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดเอาไว้ในจีน
ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี รัฐบาลจีนกล่าวไว้ชัดเจนว่า เซมิคอนดักเตอร์ คือยุทธศาสตร์ทางเทคโนโลยีที่สำคัญ และตั้งเป้าหมายของจีนไว้
นั่นคือการขยับไปยังต้นน้ำมากขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองในด้านเทคโนโลยี
ตัวอย่างของนโยบายที่จีนใช้ในการกระตุ้นอุตสาหกรรม ได้แก่ การลงทุนภาครัฐ การสนับสนุนผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ผ่านเงินสนับสนุนหรือการให้เงินกู้ที่มีดอกเบี้ยต่ำ และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
2
เป้าหมายในการพึ่งพาตนเองอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด
การจะบรรลุเป้าหมายของทั้งสองประเทศอาจเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักและต้องเจอกับความท้าทายที่ต่างกัน
จากการประเมินของ BCG และ SIA ชี้ว่า หากสหรัฐฯ ต้องการที่จะพึ่งพาตนเองทั้งหมดในการผลิต เซมิคอนดักเตอร์ อาจต้องใช้การลงทุนล่วงหน้า สูงถึง 4.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และการลงทุนรายปีสูงถึง 1.5 หมื่นล้านเหรียญต่อปีเลยทีเดียว
1
ด้วยต้นทุนของการพึ่งพาตนเองที่สูงมากจึงทำให้การเสริมสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานในหมู่ประเทศพันธมิตรอย่าง ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ดูจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่า
2
ในฝั่งตรงข้ามนั้น ถึงแม้ว่าจีนจะมีกำลังการผลิตและครองสัดส่วนตลาดใหญ่ในขั้นตอนการประกอบและทดสอบ ทำให้มีต้นทุนการลงทุนน้อยกว่า
1
แต่ว่าการที่จีนจะขยับตนเองขึ้นไปยังต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานและสามารถผลิต ไฮเอนด์ชิป (high-end chip) ระดับต่ำกว่า 10 นาโนเมตรได้
1
ต้องใช้การลงทุนในการวิจัย ทักษะแรงงาน และเวลา ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าจีนจะประสบความสำเร็จ
1
ยิ่งไปกว่านั้น หากสหรัฐฯ และกลุ่มพันธมิตรยังคงกีดกันส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงจากต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทาน
1
อาจจำกัดการถ่ายเทคโนโลยีและการนำเข้าอุปกรณ์ที่จำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยี EUV ในการผลิตไฮเอนด์ชิประดับ 7 และ 5 นาโนเมตรจำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนกว่า 100,000 ชิ้นจากผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญในสหรัฐฯ เยอรมัน และญี่ปุ่น
1
การที่สหรัฐฯมีสัดส่วนสำคัญในการผลิตเพิ่มแรงกดดันต่อ ASML ในการส่งอุปกรณ์ EUV ไปให้แก่บริษัทจีนซึ่งมีกระทบความสามารถในการการผลิตไฮเอนด์ชิปของจีน
1
อีกหนึ่งปัญหาคือการอุดหนุนจากภาครัฐที่มากเกินไปที่อาจทำให้นวัตกรรมในอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ เกิดขึ้นน้อยลง
1
ถึงแม้ว่าการสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มการพัฒนาและเพิ่มกำลังการผลิต แต่การที่รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากโดยเฉพาะรัฐบาลจีนอาจส่งผลเสียในด้านการพัฒนานวัตกรรมได้
2
เพราะว่าการอัดฉีดเงินสนับสนุนจำนวนมากอาจทำให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ท้องถิ่นที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขันยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้และจะลดสัดส่วนในตลาดโลกของผู้ผลิตอื่นๆ
1
สัดส่วนที่ลดลงอาจทำให้ผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพต้องลดค่าใช้จ่ายลงเพื่อที่จะคงความสามารถในการแข่งขันได้ แต่ก็จะทำให้แรงจูงใจและงบประมานในการพัฒนานวัตกรรมลดลงไปด้วย
2
เมื่อโลกของอินเตอร์เน็ตอาจแยกเป็นสองค่าย
ความปลอดภัยด้านข้อมูลและความเสี่ยงด้านไซเบอร์อาจทำให้โลกของอินเตอร์เน็ตถูกแยกออกเป็นสองค่าย (Splinternet)
การแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐ ฯ กับจีน ไม่ได้มีแค่ในด้านของ เซมิคอนดักเตอร์ เท่านั้น
แต่รวมถึงในด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมอีกด้วย ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้าน 5G ทั้งในด้านอุปกรณ์และในด้านการกำหนดมาตรฐานของ 5G
2
หากไปดูข้อมูลจาก iPlytics จะพบว่า Huawei ครองสัดส่วนการถือสิทธิบัตรในด้าน 5G สูงที่สุด และยังมีส่วนช่วยในการกำหนดมาตรฐานของ 5G มากที่สุดอีกด้วย
โดยสาเหตุที่ Huawei ครอบครองสัดส่วนตลาดสูงสุดนั้น มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ต้นทุนการติดตั้งที่ถูกกว่าถึง 30% เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ และ
นโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนที่ขยายการลงทุนจากจีนไปยังหลายประเทศในภูมิภาค เอเชีย แอฟริกา และ อเมริกาใต้
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศมีความกังวลในเรื่องภัยสอดแนมและปัญหาความปลอดภัยข้อมูลจากอุปกรณ์ของ Huawei
1
บางประเทศถึงขั้นออกมาตรการในการจำกัดการใช้อุปกรณ์จาก Huawei ในอนาคตข้างหน้าทีความปลอดภัยไซเบอร์จะมีความสำคัญมากขึ้น
อาจเพิ่มแรงกดดันที่ทำให้มาตรฐานของเทคโนโลยีแยกออกเป็นสองค่าย นั่นคือ ค่ายสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร และอีกฝั่งก็คือค่ายจีน
1
ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนในเรื่องรายละเอียดของการเกิด Splinternet ยังมีอยู่ค่อนข้างมาก
แต่หากมาตรฐานของเทคโนโลยีหรือโลกของอินเตอร์เน็ตถูกตัดขาดหรือแยกออกเป็นสองค่ายจริงๆ
อาจทำให้ต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มสูงขึ้นส่งผลทำให้ผลิตภาพของโลกลดลงและอาจเร่งทำให้ห่วงโซ่อุปทาน การลงทุน และการค้าโลก เกิดการสับเปลี่ยนมากขึ้น
ในกรณีนี้ ประเทศไทยอาจถูกบังคับให้ต่องเลือกค่ายและต้องรับต้นทุนในการติดต่อสื่อสารรวมไปถึงต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูลที่จะเพิ่มสูงขึ้น
ห่วงโซ่อุปทานแห่งอนาคตจะคำนึงถึง cyber security
เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางไซเบอร์และปกป้องข้อมูลที่สำคัญของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตัวอย่างของนโยบายและมาตรการที่หลายประเทศทอาจนำมาใช้มากขึ้นในอนาคตอันใกล้ คือ
1. เพิ่มการลงทุนภาครัฐใน cyber security และเพิ่มมาตรการในการลดความเสี่ยง
ในแผนการลงทุนโครงสร้างของสหรัฐฯ ได้จัดสรรงบประมานถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในการปรับปรุงและเพิ่มการวิจัยในระบบป้องกันการโจมตีไซเบอร์ต่อโครงสร้างพื้นฐานและหน่วยงานรัฐ
นอกจากนี้ ยังจัดสรรถึง 6.5 หมื่นล้านเหรียญในการพัฒนา high-speed broadband โดยหน่วยงานหรือบริษัทที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ จะต้องจัดหาอุปกรณ์จากผู้ขายที่มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย
ในขณะที่จีนเองก็มีแผนที่จะลงทุนในการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในการป้องกันการโจมตีไซเบอร์เช่นเดียวกัน
และอาจออกมาตรการเพื่อให้บริษัทในอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้แก่ โทรคมนาคม เทคโนโลยี ภาคการเงิน ลงทุนในระบบป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น
หนึ่งในตัวอย่างนโยบายของจีนคือ การออกกฎเกณฑ์และการประเมินความเสี่ยงด้านไซเบอร์ที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นต่อบริษัทที่ระดมทุนในต่างประเทศ
2
ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งต่อการแยกกันทางด้านการเงิน (Financial Decoupling) ระหว่างสหรัฐฯกับจีนอีกด้วย
2. เจรจาเข้าร่วมความตกลงทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Agreement)
ในการที่จะส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) เช่น E-commerce, telemedicine, remote working, smart factory จำเป็นต้องอาศัยการโอนย้ายข้อมูลที่รวดเร็ว ไร้รอยต่อ (seamless) และปลอดภัย
ความตกลงทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะสร้างกฎกติกาและ กำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยีไปในทิศทางเดียวระหว่างประเทศสมาชิก
2
ในการที่จะส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัล หลายประเทศเริ่มมีการเสนอหรือเจรจาข้อตกลงทางด้านเศรษฐกิจแล้ว
1
โดยสหรัฐฯ กำลังพิจารณาการตั้ง ความตกลงการค้าดิจิทัล (Digital trade pact) ที่จะรวมประเทศแถบอินโดแปซิฟิก โดย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงค์โปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา
อาจตัดสินใจเข่าร่วมข้อตกลงนี้ สิงค์โปร์เริ่มมีการเจรจาความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับ ชิลี นิวซีแลนด์ และออสเตรเลียแล้ว
ในขณะที่ทางจีนคาดว่ายังคงจะใช้ Belt and Road Initiative (BRI) ในการกำหนดมาตรฐานเทคโนโลยีในภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป
การแข่งขันในการตามหาเทคโนโลยีใหม่
ในระยะสั้น การแข่งขันระหว่างสหรัฐ ฯ และจีนจะโฟกัสอยู่ที่ เซมิคอนดักเตอร์ และ เทคโนโลยี 5G
แต่พอเวลาผ่านไปเมื่อเทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรมเริ่มโตเต็มที่หรือกำลังเข้าใกล้ขีดจำกัด การตามหาเทคโนโลยีใหม่เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างเครื่องยนต์ในการเติบโต
1
ในอนาคตข้างหน้า เมื่อการพัฒนาประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ใกล้ถึงขีดจำกัด เทคโนโลยี quantum computing จะเป็นกุญแจสำคัญในการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯและจีน
การพัฒนาประสิทธิภาพในการคำนวณของคอมพิวเตอร์มาจากความสามารถในการบรรจุทรานซิสเตอร์ในชิป
เพราะฉะนั้นยิ่งทรานซิสเตอร์มีขนาดเล็ก ยิ่งทำให้ชิปสามารถบรรจุได้มากและเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผล
ณ ตอนนี้ IBM ได้ประกาศว่าสามารถผลิตชิประดับ 2 นาโนเมตรได้แล้ว
ซึ่งเมื่อเทียบกับชิประดับ 7 นาโนเมตรแล้ว มีประสิทธิภาพสูงกว่าถึง 45% และประหยัดพลังงานมากกว่าถึง 75% และ TSMC ก็ได้ประกาศว่ากำลังพัฒนาชิปในระดับ 1 นาโนเมตร
อย่างไรก็ตาม ขีดจำกัดในการพัฒนากำลังใกล้จะมาถึงเนื่องจากขนาดของทรานซิสเตอร์กำลังย่างเข้าใกล้ขนาดของอะตอม
นักวิจัยจึงนำหลักการของกลศาสตร์ควอนตัมเข้ามาประยุกต์และพัฒนาเครื่อง Quantum computer เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการคำนวณต่อไปได้
1
ด้วยประสิทธิภาพในการคำนวณที่รวดเร็วขึ้น จะเปิดโอกาสในการสร้างแบบจำลองที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำได้เนื่องจากขาดกำลังในการคำนวณ นักวิจัยสามารถทำแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ในการคิดค้นสูตรยาใหม่ๆ
นักเศรษฐศาสตร์สามารถสร้างแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์แบบใหม่ในการวางนโยบายที่ดีขึ้น
หรือการจำลองพฤติกรรมของตลาดการเงินที่จะสามารถทำให้เกิดกลยุทธ์ในการลงทุนแบบใหม่
ด้วยประโยชน์เหล่านี้จะทำให้ทั้งสหรัฐฯและจีนต่างจะลงทุนและเร่งพัฒนาเครื่อง quantum computer ให้มีเสถียรภาพเพื่อที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และเพิ่มผลิตภาพให้แก่้เศรษฐกิจของตัวเอง
นอกจาก quantum computing แล้ว
1
ยังมีเทคโนโลยีอีกมากมายที่จะได้รรับการพัฒนาจากการแข่งขันทางเทคโนโลยีในครั้งนี้ งบประมานการลงทุนในการวิจัยที่เพิ่มขึ้นจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าในเทคโนโลยีต่างๆ และมาตรการภาครัฐจะมีส่วนช่วยในการเร่งการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาบูรณาการเข้ากับธุรกิจ
ยกตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการภาคการบริการและการผลิต เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ เทคโนโลยีทางอวกาศที่จะเปิดโอกาสสำหรับธุรกิจใหม่ๆ เช่น การท่องเที่ยวอวกาศ เป็นต้น
1
แต่มาตรการที่เข้มงวดเกินไปอาจก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิด
ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ และจีนจะวางนโยบายเพื่อที่จะพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น
แต่ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นความพยายามที่ภาครัฐจะควบคุมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการคุมเข้มในหลายด้าน ตั้งแต่ การห้ามไม่ให้บริษัท Ant Group เสนอขายหุ้นครั้งแรก
การกีดกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี หรือ การถอดแอพลิเคชั่นของบริษัท Didi ออกจาก App store
1
ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ความเสี่ยงในหุ้นจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับตลาดสหรัฐฯ
โดยเหตุผลสำคัญหลักของการคุมเข้มมาจากข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับแนวนโยบายภายในประเทศ 5 หลักด้วยกัน
(1) การผูกขาดในด้านตลาดและด้านข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยี
(2) ความปลอดภัยทางข้อมูลและความมั่นคงของชาติจากอิทธิพลตะวันตก
(3) เสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability) จากบริษัท Fintech ที่มีบทบาทในการเป็นสถาบันการเงินต่อภาคครัวเรือนมากยิ่งขึ้น
1
(4) ผลกำไรหรือผลตอบแทนต่อนักลงทุนที่สูงกว่าผลตอบแทนต่อสังคม และ
(5) มาตรการที่ขัดต่อความต้องการของภาครัฐ เช่น การกำหนดชั่วโมงในการเล่นเกมส์ของเยาวชน หรือ การห้ามเยาวชนตั้งกลุ่มแฟนคลับหรือเข้าร่วมกิจกรรมของคนดังที่มีค่าใช้จ่ายสูง
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเหตุผลระยะยาวทั้งสิ้น
ทำให้มาตรการกำกับดูแลอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ คาดว่าจะยังคงมีอยู่ไปอีกสักพัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเทคโนโลยีและภาคการเงิน ถึงแม้ว่าการส่งเสริมการแข็งขันเป็นสิ่งที่ดีในการกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ
แต่มาตรการที่เข้มงวดเกินไปอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สวนทางกับกรอบเป้าหมายของนโยบาย
ความพยายามที่จะกีดกันไม่ให้ต่างชาติลงทุนที่อาจทำให้ ต้นทุนเงินทุน (Cost of capital) เพิ่มสูงขึ้น
รวมไปถึง มาตรการที่บั่นทอนผลกำไรของภาคเอกชน อาจลดแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ
ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจก็เป็นได้
ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย
แม้ว่าเรื่องนี้จะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่การแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯกับจีนรวมไปถึงความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ อาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
1. ความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทานของการผลิตและราคาสินค้า
1
ในอนาคตข้างหน้าที่ เซมิคอนดักเตอร์ จะมีความสำคัญต่อแทบทุกสินค้าและบริการ ทำให้ชิปมีความคล้ายคลึงกับน้ำมันที่จำเป็นอย่างในยิ่งในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ
ด้วยความที่ห่วงโซ่อุปทานชิปมีเปราะบางและกระจุกตัวสูง หากเกิด supply shock จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และประเทศต่างๆไม่สามารถยกระดับกำลังการผลิตได้
ผลกระทบจาก supply shock ต่อห่วงโซ่อุปทานชิปอาจส่งผลกระทบส่งผ่านต่อราคาสินค้าและบริการอื่นๆ
1
และทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มสูงขึ้น คล้ายกับวิกฤตน้ำมันในปี 1979 ที่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยเพิ่มขึ้นถึงระดับ 25%
1
ในกรณีของประเทศไทย มีสัดส่วนการนำเข้า integrated circuits สูงจากมาเลเซีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น รวมกันถึง 54%
เพราะฉะนั้นหากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีน ในเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้รวมไปถึงไต้หวัน ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งทางการทหาร ก็จะมีผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. ความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมรถยนต์
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อไทยและพึ่งพา เซมิคอนดักเตอร์ชิป อย่างสูง
คืออุตสาหกรรมรถยนต์ ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นแล้วว่า
ภาวะขาดแคลนชิปที่เกิดขึ้นส่งผลทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการผลิตและทำให้การผลิตรถยนต์ชะลอตัวลง
ปัญหาการขาดแคลนชิปในปัจจุบันคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องในระยะสั้นจนกว่าผู้ผลิตชิปคาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง
ในขณะที่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสหรัฐฯกับจีน (และไต้หวัน) เป็นความเสี่ยงที่ละเลยไม่ได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ ในอนาคตข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกจะเกิดขึ้นในหลายด้าน
ไม่วาจะเป็น EV, Autonomous vehicle และ Connected vehicle เทรนด์เหล่านี้จะทำให้อุปสงค์ของ เซมิคอนดักเตอร์เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ Autonomous vehicle
เนื่องจากจำนวนเซนเซอร์ที่ต้องใช้มากขึ้นและจำเป็นต้องใช้ ไมโครโพรเซสเซอร์ ที่มีประสิทธภาพที่ดีขึ้น
ดังนั้น หากอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเปลี่ยนไปตามแนวโน้มเหล่านี้มากยิ่งขึ้น ช็อกที่เกิดขึ้นต่อห่วงโซ่อุปทานอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการผลิตรถยนต์และการส่งออกรถยนต์
เพื่อที่จะลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยจากความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์
การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้ไทยเป็นฐานการผลิตชิปเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะมีส่วนช่วยในการลดผลกระทบจากความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่ใช่งานง่ายที่ไทยจะสามารถดึงดูดการลงทุนในภาคการผลิตเซมิคอนดักเตอร์จากอุปสรรคดังต่อไปนี้
1
1. คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์และความสามารถในการดึงดูดผู้เปี่ยมศักยภาพ (Talent):
หนึ่งในปัญหาในการสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายกำลังการผลิตของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์คือ
การขาดแคลนผู้เปี่ยมศักยภาพ ในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์
1
หากไปดู Global Innovation Index ในรายองค์ประกอบจะพบว่าไทยยังขาดคุณภาพในด้านการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ รวมไปถึงการขาดความสามารถในการดึงดูดผู้เปี่ยมศักยภาพ จากต่างประเทศได้
ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายในการลงทุนเพื่อขยายการผลิตของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์จะเป็นประเทศที่ยังขาดกำลังการผลิตและมีทรัพยากรมนุษย์ที่พร้อมกว่าเช่น สหรัฐฯ สิงค์โปร์ เป็นต้น
2. กฎหมายธุรกิจและการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา:
ด้วยความที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการลงทุนในการวิจัยสูงมาก
ทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเลยเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
1
จากข้อมูล Intellectual Property Rights Index ชี้ว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญายังเป็นจุดอ่อนในด้านกฎหมายธุรกิจของไทย
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนในด้านมาตรการภาครัฐและการขาดหลักนิติธรรมภาครัฐ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ไทยไม่น่าดึงดูดต่อการลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย
2
3. ความเสี่ยงต่อการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ:
อีกหนึ่งความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยจากสงครามเทคโนโลยี คือ ความเสี่ยงต่อการค้าและการลงทุนซึ่งเป็นผลมาจากความไม่ทันโลกในด้านเทคโนโลยี
จากรายงาน Technology and Innovation Report ซึ่งจัดทำโดย United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD) จัดให้ไทยอยู่อันดับ 46 ของโลกที่มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีแห่งอนาคต (Frontier Technology) มาใช้
ได้แก่ AI, Robotics และ Biotechnology หากไปดูในรายองค์ประกอบจะพบว่า การเข้าถึงทุนการเงินอยู่ในระดับที่ดี
แต่สิ่งที่ไทยต้องปรับปรุงคือ ทักษะแรงงาน ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT Infrastructure) และระดับของกิจกรรมในด้านการวิจัยและพัฒนา
เพราะว่าในทศวรรษที่การแข่งกันด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะทวีความรุนแรงขึ้น
จะทำให้เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นในอัตราที่เร็วยิ่งขึ้นและผนวกเข้ากับระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
หากประเทศไทยไม่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนากระบวการผลิตแบบใหม่ อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยและตำแหน่งของไทยในห่วงโซ่อุปทานโลกถดถอยอย่างต่อเนื่อง
ในอนาคตที่ห่วงโอุปทานจะมีความเป็นดิจิทัลมากยิ่งขึ้น อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการลงทุนจากต่างประเทศคือ
การป้องกันความเสี่ยงจากการโจมตีทางด้านไซเบอร์
อย่างไรก็ตาม ระดับการพัฒนาของไทยยังไม่ดีเท่าที่ควร หากไปดู Global Cybersecurity Index ซึ่งวัดความมุ่งมั่นของประเทศในการพัฒนาความปลอดภัยทางไซเบอร์
ประเทศอยู่ในระดับที่ 44 ของโลก เป็นรองเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่าง สิงค์โปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ถ้าลงลึกไปในรายละเอียดจะเห็นได้ว่า ไทยยังมีช่องว่างในการพัฒนามาตรการทางเทคนิค (Technical measures) อีกมาก
หากภาครัฐและภาคเอกชนไม่ให้ความสำคัญในป้องกันข้อมูลและลดความเสี่ยงจากการโจมตีทางด้านไซเบอร์
จะทำให้ความน่าดึงดูดของไทยลดลงไปอีกในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ
นอกจากนี้ มาตรฐานของเทคโนโลยีที่อาจจะกำลังแยกออกเป็นสองค่ายจะทำให้ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยจำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์และระบบที่สอดคล้องกับมาตรฐานของทั้งสองค่ายเพื่อที่จะคงอยู่ห่วงโซ่อุปทานของทั้งสหรัฐฯและจีน
ในกรณีนี้ ต้นทุนที่จะสูงขึ้นจะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่อาจเร่งการสับเปลี่ยนของห่วงโซ่อุปทานให้แยกออกเป็นสองค่าย
ด้วยความที่การค้าไทยนั้นพึ่งพาทั้งสหรัฐฯและจีน ทำให้ความเสี่ยงนี้อาจมีผลกระทบต่อการค้าไทยในอนาคตข้างหน้า
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า
การที่จะลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นรวมไปถึงการรักษาตำแหน่งในห่วงโซ่อุปทานโลกในอนาคต
ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรมีการติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิดและภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายดังนี้
1. ส่งเสริมและพัฒนาทักษะแรงงานให้เพื่อปรับตัวให้พร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ
2. ลงทุนเพื่อพัฒนา soft infrastructure ได้แก่ ระบบฐานข้อมูล และ High-speed broadband
3. ลดกฎระเบียบที่ยุ่งยากและเพิ่มความชัดเจนของนโยบายทางภาษีและนโยบายส่งเสริมการลงทุน และส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ ในไทย
4. ลงทุนในการเสริมความแข็งแกร่งในด้าน Cyber security และ data protection ทั้งในกิจกรรมของภาครัฐและภาคเอกชน
นโยบายที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ไทยสามารถพลิกจากความเสี่ยงที่มีผลกระทบขนาดใหญ่กลายเป็นโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซอุปทานแห่งอนาคตและเพิ่มผลิตภาพให้กับเศรษฐกิจไทย
ในตอนถัดไปของบทความชุดนี้ KKP Research จะมาเจาะประเด็นกึ่งความขัดแย้งกึ่งความร่วมมือที่สำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมและเศรษฐกิจในอนาคตที่กำลังจะมาถึง คือ สงครามสภาพอากาศ (Climate war)
#การแข่งขันทางเทคโนโลยี #ความขัดแย้งทางเทคโนโลยี #สหรัฐฯและจีน #มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ #ความขัดแย้ง #เซมิคอนดักเตอร์ #5G #CyberSecurity #ห่วงโซ่อุปทาน #ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ #มาตรฐาน #เทคโนโลยี #อินเตอร์เน็ต #การลงทุน #การค้าโลก #KKPResearch #KKP #KiatnakinPhatra
โฆษณา