6 ก.ย. 2021 เวลา 10:13 • ข่าว
ฏอลิบานยึดจังหวัดสุดท้ายในประเทศได้แล้ว
6 ก.ย. 64 ฏอลิบานแถลงสามารถยึดจังหวัดปันชีร์ได้สำเร็จแล้วเป็นจังหวัดสุดท้ายของประเทศ สร้างความประหลาดใจให้หลายฝ่ายที่เคยติดตามสถานการณ์ในอัฟกานิสถานมานานกว่า 2 ทศวรรษเนื่องจากเชื่อกันว่าพื้นที่นี้เจ้าที่แรงไม่มีใครอยากเข้ามาลองของ หรือลองแล้วเป็นได้เจอดี
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของจังหวัดที่เป็นเทือกเขาที่ยากต่อการเข้ายึดครองโดยกองกำลังจากภายนอกพื้นที่ซึ่งบรรดาขุนศึกและพันธมิตรที่ไม่เอาด้วยกับฏอลิบานได้ร่วมมือกันใช้ทักษะการรบที่มีและความได้เปรียบในพื้นที่ตลอดจนการสนับสนุนจากชาติตะวันตกจนสามารถต้านฏอลิบานไว้ได้ในสมัยที่ฏอลิบานปกครองประเทศช่วงปีค.ศ.1996-2001
วันนี้ผมต่อสายพูดคุยกับดร.รุสตั้ม หวันสู อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ เกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดในอัฟกานิสถาน คัดย่อส่วนสำคัญมาให้อ่านกันครับ
การประเมินที่ผิดพลาด
ตอนแรกแนวร่วมต่อต้านแห่งชาติ (NRF) ประกาศกร้าวว่าไม่ยอมจำนนต่อฏอลิบาน ถึงขั้นประกาศขอความช่วยเหลือจากตะวันตกโดยเฉพาะด้านอาวุธเพื่อเตรียมพร้อมสู้รบปรบมือกับฏอลิบานด้วยความมั่นใจว่าเอาอยู่ แต่สุดท้ายกลายเป็นการประเมินที่ผิดพลาดเพราะฏอลิบาน 2.0 มีศักยภาพทางทหารที่ไม่เหมือนเก่าแล้ว
ในคราแรกฏอลิบานลั่นไม่ต้องการสงครามอีกแล้วในประเทศจึงเริ่มต้นเจรจากับฝ่าย NRFแต่ฝ่ายหลังกลับเรียกร้องมากเกินไปจนฏอลิบานส่ายหัวโดยเฉพาะการขอสิทธิ์ในการครอบครองอาวุธต่างๆ ต่อไปหากยอมให้ฏอลิบานเข้าครอบครองพื้นที่ซึ่งเรื่องนี้ฏอลิบานเคยมีบทเรียนจากอดีตแล้วจึงไม่ยอมทำผิดซ้ำสอง เมื่อเจรจาไม่รู้เรื่องการสู้รบก็เกิดขึ้น เจรจากันไปสู้รบกันไปพร้อมด้วยความคืบหน้าในการยึดพื้นที่เขตต่างๆ รอบเมืองเอกของจังหวัด
ผู้นำ NRF ประกาศพร้อมเจรจา
เมื่อคืนวันอาทิตย์ อะห์มัด มัสอูด ผู้นำ NRF ประกาศทางเฟซบุ๊กพร้อมเข้าใจเจรจากับฏอลิบานเพื่อแสวงหาสันติภาพที่ยั่งยืน เรื่องนี้มองได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณของคนที่รู้แล้วว่าไม่มีทางต่อสู้ขัดขืนฏอลิบานได้อีกแล้ว หรือแม้แต่จะมองว่ารู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะสู้ไม่ได้ ทว่าด้วยฟอร์มของนักรบและขุนศึกที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง การยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่สู้อาจเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีเท่าไหร่ สู้ยอมประมือกันประมาณหนึ่งแล้วค่อยยอมที่โต๊ะเจรจายังไว้ลายชายชาตินักรบได้ดีกว่า
อีกฟากหนึ่งฏอลิบานเองก็ไม่ได้ต้องการจะขยี้อีกฝ่ายให้แหลกลาญตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ก็ยอมทำศึกเพื่อกดดันอีกฝ่ายให้ขึ้นโต๊ะเจรจาและสุดท้ายก็สามารถพิชิตจังหวัดที่ 34 ของประเทศได้
อะไรคือหลักประกัน?
การยึดเมืองเอกของจังหวัดได้ถือเป็นหลักประกันแรกทางกายภาพ ตามมาด้วยการที่ทั้งสองฝ่ายน่าจะมีการลงนามในสัญญาระหว่างกันอย่างเป็นทางการ อาจออกมาในแนวของข้อตกลงหยุดยิงหรืออื่นๆ รวมถึงการยึดอาวุธสงครามของ NRF ให้ได้มากที่สุด และการให้ผู้นำของกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในทางหนึ่งทางใด
แนวโน้มการแบ่งอำนาจ
แนวทางแรก รัฐบาลของฏอลิบานจะเป็นรัฐบาลผสมของกลุ่มคนที่หลากหลายซึ่งคงมีเก้าอี้สำหรับผู้นำ NRF อยู่ในรัฐบาลด้วย
แนวทางที่สอง อาจให้จังหวัดปันชีร์ได้สิทธิ์เป็นพื้นที่ปกครองพิเศษ
แนวทางแรกน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าและสร้างความมั่นคงให้ฏอลิบานได้มากกว่า เพราะถ้าให้พื้นที่ปกครองพิเศษ ในอนาคตเมื่อมหาอำนาจตะวันตกตั้งตัวได้และอยากกลับมาสร้างความปั่นป่วนในอัฟกานิสถาน ดินแดนแห่งขุนศึกแห่งนี้ก็อาจกลายเป็นปัญหาได้อีกครั้งเช่นในอดีต
นอกจากนี้ฏอลิบานยังน่าจะดึงบรรดาขุนศึกและนักรบในปันชีร์เข้ามาทำงานให้รัฐในตำแหน่งต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ แล้วรับเงินเดือนจากรัฐ ก็ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการปกครองและทำงานในพื้นที่ของตนแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น
หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าฏอลิบานกับ NRF จะรักษาสัญญาระหว่างกันหรือไม่ รูปร่างหน้าตาของรัฐบาลฏอลิบานจะเป็นอย่างไร และจะสามารถสร้างการยอมรับจากนานาชาติด้วยวิธีใดและจะประสบความสำเร็จหรือไม่ พัฒนาการของอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของฏอลิบาน 2.0 จะกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เราไม่สามารถละสายตาได้เลยครับ
โฆษณา