6 ก.ย. 2021 เวลา 12:26 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กบข. มองเศรษฐกิจจีนชะลอตัวในระยะสั้น แต่แข็งแกร่งในระยะยาว
ภาพ: ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers' Index หรือ PMI) ทั้งด้านการผลิต (manufacturing) การบริการ (services) และโดยรวม (composite) ของประเทศจีน (จัดทำโดย Caixin) ซึ่งแสดงการคาดการณ์กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า บ่งชี้แนวโน้มการขยายตัวที่ชะลอตัวลง สอดคล้องกับดัชนีหลักอื่น ๆ เช่น ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น (ข้อมูลล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2564 ที่มา : Bloomberg)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มชะลอตัวค่อนข้างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีชี้นำ เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMIs) ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ เนื่องด้วยหลายสาเหตุ ได้แก่
1) การที่จีนออกจากวิกฤตการระบาดระลอกแรกและเริ่มฟิ้นตัวเป็นชาติแรก แต่ล่าสุดกลับต้องมาเผชิญกับสายพันธุ์ Delta ทำให้ทางการดำเนินมาตรการ lockdown อีกครั้งถึงแม้ว่าจะมียอดผู้ติดเชื้อต่ำกว่าระลอกแรกอย่างเทียบกันไม่ได้
2) การบริโภคภาคเอกชนและครัวเรือนแข็งแกร่งน้อยกว่าหลายปีก่อนหน้า (โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจหลังจากเกิดความกังวล China hard landing ในปี 2558)
3) นโยบายลดปริมาณหนี้ (deleveraging)
4) นโยบายเข้มงวด (regulatory crackdown) ต่อบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในหลายภาคอุสาหกรรม ทั้งการเงิน e-commerce การศึกษา เกมออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อความการเติบโตที่มั่นคงในระยะยาว กล่าวคือ ลดความเสี่ยงด้านสินเชื่อในระดับมหภาคให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน ลดการผูกขาดในการทำธุรกิจของบริษัทรายใหญ่แต่เพิ่มการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ลดความไม่เท่าเทียม เพิ่มความเข้มงวดต่อความปลอดภัยของข้อมูลผู้บริโภค และเพิ่มการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (inclusive growth) แต่อาจรวมไปถึงเหตุผลทางการเมืองด้วยเช่นกัน อาทิ การสร้างคะแนนนิยมในกลุ่มคนชั้นกลางของพรรคคอมมิวนิสต์
อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางจีน (PBoC) เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินอีกครั้งผ่านการปรับลดอัตราส่วนสำรองขั้นต่ำในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคาร (reserve requirement ratio หรือ RRR) ลง 0.5% ซึ่งเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงินประมาณ 1 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 150 พันล้าน USD นับเป็นการดำเนินการอย่างทันท่วงทีในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อ Covid ที่ปรับตัวน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 สัปดาห์ล่าสุดน่าจะทำให้รัฐบาลทยอยลดความเข้มงวดมาตรการ lockdown ในระยะถัดไปด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์และนักกลยุทธ์การลงทุนส่วนหนึ่งคาดว่ารัฐบาลจะออกมาตรการทางการคลังระยะยาวยาว เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มเติม รวมทั้งคาดว่า PBoC อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (medium-term lending facility (MLF) แล้วตามด้วย loan prime rate (LPR) ทั้งอายุระยะสั้นและกลาง) สอดคล้องกับการปรับลด RRR ในระยะถัดไปได้เช่นกัน กระนั้น เศรษฐกิจจีนอาจมีความเสี่ยงเนื่องจากทางการอาจดำเนินการ regulatory crackdown เพิ่มเติมในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ธุรกิจ healthcare และประกันภัย
สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสัญชาติจีน กบข. มองว่า ในระยะสั้น ปัจจัยเชิงลบค่อนข้างชัดกว่าเชิงบวก โดยเฉพาะจาก regulatory crackdown และการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในระยะยาว เศรษฐกิจจีนยังคงแข็งแกร่งจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนโดยรัฐบาล
ข้อมูลข่าวเศรษฐกิจและมุมมองการลงทุน โดยฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน กบข. (GPF Investment Strategy) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2564
โฆษณา