7 ก.ย. 2021 เวลา 13:19 • สุขภาพ
บุคลากรการแพทย์สหรัฐ กำลังเจ็บป่วยทางจิตเพิ่มสูงขึ้น
หลังเผชิญเหตุสะเทือนใจรุนแรงซ้ำๆ จากการรักษาผู้ป่วยโควิด
ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาที่โลกเข้าสู่ยุคสมัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ที่ดูเหมือนจะรับศึกหนักมาอย่างต่อเนื่องมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องคอยดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย หรือแม้แต่เป็นผู้ส่งให้ร่างกายของผู้ที่พ่ายแพ้ในการต่อสู้เพื่อมีชีวิตรอดได้หลับไหลไปตลอดกาล
สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนกับการสร้างบาดแผลในใจทีละเล็กทีละน้อยของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องพบเจอกับเรื่องสะเทือนใจรุนแรงถี่และบ่อยครั้ง จนเริ่มส่งผลร้ายกับตัวของผู้ทำหน้าที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะนี้พยาบาลและบุคลากรการแพทย์ในสหรัฐ กำลังประสบกับภาวะป่วยทางจิตหลังการเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง หรือที่วงการแพทย์เรียกว่า PTSD (Post-traumatic stress disorder)
โดยปกติแล้วสภาวะ PTSD มักจะพบในเหล่าทหารผ่านศึก หรือในกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ การถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ และเหตุการณ์ที่สร้างความกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรงอื่น ๆ
แต่ปัจจุบัน บุคลากรการแพทย์จำนวนไม่น้อยกำลังเจ็บป่วยด้วยอาการ PTSD จากการที่ต้องทำงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในแผนกผู้ป่วยหนัก หรือ ICU พยาบาลบางคนมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ปากแห้ง ฝันร้ายถึงผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิต บางคนรู้สึกโกรธฉุนเฉียว บางคนมีอาการเหล่านี้มากกว่าหนึ่งเดือน และรุนแรงมาก จนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD
การศึกษาวิจัยก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 เผยว่า อัตราการเป็น PTSD ของบุคลากรการแพทย์ด่านหน้านั้น อยู่ในระดับ 10% - 50% ในขณะที่อัตราการฆ่าตัวตายของแพทย์นั้นสูงกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า
ด้วยเหตุนี้ สมาคมการแพทย์อเมริกัน หรือ AMA (American Medical Association) จึงได้นำเอานักจิตวิทยากองทัพ และจากศูนย์ PTSD แห่งชาติสหรัฐฯ ในสังกัดกระทรวงทหารผ่านศึกสหรัฐฯ (Department of Veteran Affairs) มาช่วยประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อบุคลากรการแพทย์ของประเทศ
ดร. ฮูเซยิน บายาซิท จิตแพทย์ประจำ Texas Tech University Health Science Center ในรัฐเท็กซัส ได้ร่วมกับนักวิจัยในตุรกี ประเทศบ้านเกิดของเขา เพื่อทำการสำรวจบุคลากรการแพทย์ 1,833 คนเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่ผ่านมา ผลการสำรวจพบว่าบุคลากรการแพทย์มีอัตราการเกิดภาวะ PTSD 49.5 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มคนที่ไม่ใช่แพทย์ และ 36 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มแพทย์ ส่วนความคิดที่จะฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ต้องทำงานในแผนกดูแลผู้ป่วยโควิด-19
สหภาพแรงงานบุคลากรการแพทย์ได้ตั้งกฎขึ้นเพื่อจำกัดจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การดูแลของพยาบาลหนึ่งคน เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพจิตใจของพวกเขา ส่วนพยาบาลได้ออกมาเรียกร้องว่าพวกเขาไม่ควรต้องจ่ายค่าดูแลรักษาสภาพจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นค่ายา ค่ารักษา หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
นอกจากนี้ สมาคมการแพทย์อเมริกัน หรือ AMA และกลุ่มอื่น ๆ ยังขอให้การรักษาสุขภาพจิตแก่แพทย์เป็นความลับมากขึ้น
โรงพยาบาลบางแห่ง เช่น Mount Sinai Health System ในนิวยอร์ก และ Rush University System ในชิคาโก ได้ให้บริการด้านสุขภาพจิต โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและเป็นความลับแก่บุคลากรการแพทย์ในสังกัด และได้จัดสรรโปรแกรมสุขภาพจิตพิเศษ เช่น Battle Buddies ซึ่งเป็นการจับคู่ดูแลกันระหว่างพยาบาล เลียนแบบระบบคู่หูในกองทัพ หรือโครงการสนับสนุนพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยในแผนก ICU โดยเฉพาะ
ดร. คริสตีน ซินสกี (Christine Sinsky) รองประธานของ AMA เผยว่า แพทย์ในสหรัฐฯ ประมาณ 5,000 คนลาออกจากงานทุก ๆ สองปี เพราะภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ burnout ซึ่งการลาออกของแพทย์เหล่านี้คิดเป็นค่าเสียหายประมาณ 4,600 ล้านดอลลาร์ เพราะทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ และเกิดค่าใช้จ่ายในการจ้างแพทย์คนใหม่มาแทน
ผลการสำรวจและเก็บข้อมูลของโรงพยาบาลในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชนสหรัฐฯ (Department of Health and Human Services) เตือนว่า การขาดแคลนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีผลกระทบต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย ในขณะที่ความเหนื่อยล้าและความกระทบกระเทือนต่อจิตใจ มีผลต่อสุขภาพจิตของบุคลากรการแพทย์
ศัลยแพทย์ ดร. คารี เจอร์เก เคยอาสาไปช่วยงานแผนกผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ในช่วงฤดูหนาวปีที่ผ่านมา แต่ในวันนี้ เธอปฏิเสธที่จะกลับไปทำงานที่แผนก ICU อีกครั้งหลังจากที่ยอดผู้ป่วยโควิดเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าเธอจะได้รับการเสนอค่าตอบแทนอย่างงามก็ตาม
ดร. เจอร์เก บอกว่าเธออยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับการดูแลสภาพร่างกายและจิตใจของตนเอง แต่ขณะเดียวกันเธอก็เป็นห่วงว่า การหันมาดูแลตัวเองของบุคลากรการแพทย์จะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาล เช่น พยาบาลที่มีประสบการณ์ 20 ปีในแผนก ICU เป็นต้น
ส่วนพยาบาล พาสคาลีน มูฮินดูรา วัย 40 ปี ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในเมืองแคนซัสซิตี รัฐมิสซูรี ได้รณรงค์ให้เพื่อนร่วมงานของเธอรักษาความปลอดภัย หลังจากที่เธอต้องสูญเสียเพื่อนพยาบาลคนหนึ่งไป เพราะโควิด-19
เธอบอกว่าสภาพที่ทำงานมีแต่จะย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ พยาบาลต้องกลับไปเจอสภาพเหล่านั้นทุกวัน และต้องจัดการกับความรู้สึก ผลกระทบต่อจิตใจที่เกิดขึ้น นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่า โรงพยาบาลหลายแห่งไม่ได้จัดสรรประกันสุขภาพที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับบริการด้านสุขภาพจิต หรือการเยียวยาที่เพียงพอ
พยาบาลบางคนกล่าวว่า การทำงานร่วมกันในแผนก ICU ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ต่างจากทหารที่ร่วมรบในสนามรบเดียวกัน พยาบาลบางกลุ่มได้แสดงออกด้วยการพากันไปสักรอยสักเดียวกัน บางกลุ่มกอดคอกันร้องไห้ในระหว่างการเดินทางกลับบ้าน ให้กำลังใจกันและกันทางโซเชียลมีเดีย หรือผลักดันให้เพื่อนพยาบาลเข้ารับความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต เป็นต้น พวกเขามองว่าการรู้สึกท้อแท้ ภาวะจิตใจที่ย่ำแย่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็จะต้องหาทางจัดการความรู้สึกและผลกระทบต่อจิตใจเหล่านั้นให้ได้เช่นกัน
แหล่งอ้างอิง
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
1
โฆษณา