8 ก.ย. 2021 เวลา 03:03 • ประวัติศาสตร์
แยงกี้พระนายกอง : ทหารเอกมะริกันของฟิเดล คาสโตร
ตอนที่ 2 : กำเนิดแยงกี้พระนายกอง
ในตอนนี้ผมจะพาทุกท่านไปพบกับจุดกำเนิดและบทบาทของ บิลลี่ มอร์แกน ที่อยู่ในคณะปฏิวัติที่นำโดย ฟิเดล คาสโตรกันครับ ว่าเขาจะมีที่มาและสามารถไต่เต้าไปจนถึงยศคอมมันดันเต้ หรือนายกองได้อย่างไร
ความเดิมตอนที่แล้ว เมื่อบิลลี่ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อยไร้จุดหมาย เขาเคยเป็นคนในแก๊งลักเล็กขโมยน้อย เคยร่อนเร่พเนจรไปเรื่อยๆ เคยเป็นทหารเกณฑ์ เคยติดคุกทหาร รวมทั้งล่าสุดเคยเข้าไปมีส่วนพัวพันกับแก๊งมาเฟีย บิลลี่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไร้ค่าจนวันหนึ่งเขาได้มาพบกับข่าวคราวของประเทศที่ไม่ไกลจากบ้านเกิดของเขา นั่นคือคิวบา ประเทศที่บอบช้ำจากระบอบเผด็จการ จนกระทั่งมีคนลุกขึ้นมาต่อต้าน มันถึงเวลาแล้ว ที่บิลลี่จะต้องทำอะไรสักอย่างที่มีคุณค่า นั่นคือการเข้าร่วมกับกลุ่มกบฎที่นำโดยฟิเดล คาสโตร ทนายหนุ่มผู้รักประชาธิปไตย เขาคนนี้แหละที่เคมีตรงกันกับบิลลี่ เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปคิวบา
สถานการณ์ที่คิวบาตอนนั้นประสบกับการกดขี่ข่มเหงโดยประธานาธิบดี ฟุลเฮนซิโอ บาติสต้า เขาไต่เต้ามาจากนายสิบในกองทัพ ซึ่งมองเห็นโอกาสในการปลุกระดมจนก่อการปฏิวัติจนได้รับชัยชนะ โดยอ้างสาเหตุในการปฏิวัติคือเพื่อล้างการคอรัปชั่นและขับไล่อิทธิพลอเมริกา จากนั้นมาตั้งแต่ปี 1933 บาติสต้าก็อยู่เบื้องหลังในการปกครองของคิวบามาตลอด จนกระทั่งปี 1940 จึงลงสมัครเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกและได้รับเลือกจนถึงปี 1944 และอีกสมัยหนึ่งเมื่อปี 1952 ซึ่งครั้งนี้เขาทำการรัฐประหารโดยอ้างเหตุสุดคลาสสิกว่ามีการคอรัปชั่นเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือล้มการเลือกตั้ง การเป็นผู้นำของเขานอกจากจะไม่ทำตามสัญญาแล้ว กลับให้อเมริกามากอบโกย มีการดีลกับมาเฟียให้เปิดคาสิโน ไนท์คลับกันเต็มที่ แลกกับค่าคุ้มครองที่ต้องจ่ายให้เขา นอกจากนี้บาติสต้ายังเข่นฆ่ากลุ่มคนเห็นต่างและศัตรูทางการเมืองมากมายจนมีคนต่อต้านเรื่อยๆ ฟิเดล คาสโตรและพรรคพวกก็เช่นกัน
อีกครั้งที่บิลลี่ต้องทิ้งครอบครัวไว้ข้างหลังเพื่อการผจญภัย เมื่อเขาบินไปถึงฮาวาน่าก็เข้าเช็คอินในโรงแรม จากนั้นเขาเดินออกไปจากโรงแรม เดินตามถนนที่เลียบกำแพงป้อมปราการเก่าของค่าย ลา คาบาน่า บิลลี่แต่งกายด้วยสูทขาวทั้งชุดราคา 200 ดอลล่าร์ เพื่อทำตัวให้เหมือนกับนั่งท่องเที่ยวที่มาติดต่อธุรกิจที่คิวบา เขาได้ติดต่อกับกลุ่มกบฏคนหนึ่งเพื่อคุยเรื่องอาวุธ เมื่อเขาไปรออยู่ที่ตู้โทรศัพท์แห่งหนึ่งในแถวนั้น ชายหนุ่มไว้หนวดก็เข้ามาหาเขา ชายหนุ่มคนนั้นชื่อ โรเชร์ โรดริเกซ เขาเป็นอดีตนักศึกษาที่ร่วมเข้ากับฝ่ายกบฎและหนีเข้าป่าไป “ชั้นอยากเข้าร่วมกับกบฎ” บิลลี่เอ่ยขึ้น ในตอนแรกโรเชร์ก็ตกใจและก็ไม่ได้ไว้วางใจเขาซะทีเดียว เพราะเขาอาจจะเป็นซีไอเอ หรือสายลับของบาติสต้าเพื่อมาแทรกซึมองค์กรก็ได้ โรเชร์จึงถามเหตุผลว่าทำไม “ทหารบาติสต้าฆ่าเพื่อนของชั้น ชั้นอยากจะแก้แค้น” โรเชร์จึงยอมพาบิลลี่เข้าป่า แต่ก็ยังไม่ไว้ใจ
เมื่อบิลลี่ได้เข้าป่า ในตอนแรกเขาก็นึกว่าจะได้ไปหาฟิเดลและกลุ่มกบฎที่เทือกเขา เซียร่า มาเอสโตร แต่โรเชร์มองว่าไม่ปลอดภัยและพาเขาไปที่เทือกเขาเอสคัมเบรย์แทน ที่ตอนนั้นมีแนวรบที่สองแห่งเอสคัมเบรย์เป็นกองกำลังฝ่ายกบฎในด้านทิศตะวันตกอยู่ เมื่อบิลลี่ไปถึงเขาก็เข้าไปพบกับ อาลอย กูเตียเรส เมโนโย หนุ่มชาวสเปนท่าทางปัญญาชนร่างบางที่เป็นผู้บัญชาการอยู่ขณะนั้น เมโนโย ได้รับดีเอ็นเอนักรบมาจากครอบครัวของเขา พี่ชายของเขาก็ตายในการสู้รบกับฝ่ายเผด็จการนายพลฟรังโกในสงครามกลางเมืองของสเปน ก่อนที่ต่อมาครอบครัวจะลี้ภัยมายังคิวบา เมโนโย ทนการกดขี่ของบาติสต้าที่เป็นเผด็จการเช่นกันไม่ไหวจนสุดท้ายเขาก็นำคนเข้าจับปืนและสู้กับฝ่ายเผด็จการจนถึงปัจจุบัน
ในตอนแรกบิลลี่ไม่ได้รับการยอมรับนัก เพราะเขาดูท่าทางน่าสงสัย และท่าทางก็ดูอ้วนท้วนสมบูรณ์ตัวขาวซีดหยั่งกะไข่ปลอก คงอยู่ในป่าไม่ไหวหรอก เมโนโยปรามาสไว้ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง เขามีปัญหาในการเคลื่อนที่เพราะไม่เคยออกกำลังกายหนักๆ เลยในชีวิต แถมภาษาสเปนก็ยังไม่ได้อีก มีครั้งหนึ่งพวกกบฏแกล้งเขา โดยหลอกให้เดินเข้าพงหนามที่มีพิษราวกับโดนต่อต่อย เขาก็เดินออกมาจากพงหนามนั้นพร้อมกับลำตัวที่มีสีแดงราวกับโกรธใครมาสุดขีด เขานอนไม่ได้ไปหลายวันเพราะพิษไข้ แต่สุดท้ายบิลลี่ก็เอาชนะใจของเมโนโยจนได้ ด้วยความอดทน พากเพียร อุตสาหะ โดยมีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้พวกกบฏยอมรับก็คือ มีอยู่วันหนึ่งเด็กหนุ่มอายุเพียง 18 ปี พลาดท่าตกเขาขาหัก บิลลี่แบกเขาพาเดินตลอดเส้นทางเกือบร้อยไมล์ ทำให้ได้ใจฝ่ายกบฎไปเต็มๆ
ต่อมาก่อนที่จะเริ่มมีการปะทะกับฝ่ายรัฐบาล บิลลี่ก็พยายามบอกกับ เมโนโย ว่าตนมีความสามารถด้านการใช้ปืน ต่อสู้มือเปล่า และการใช้มีด เมโนโยก็หัวเราะหึๆ บิลลี่จึงหยิบมีดขึ้นมา แล้วเขวี้ยงไปอย่างแรง มีดปักตรงกลางต้นไม้ดัง ปั๊ก!!!! พวกกบฏถึงกับอ้าปากค้าง ยอมรับในฝีมือของเขา ซึ่งในตอนนั้นฝ่ายกบฏเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในการสู้รบมากนัก การเข้ามาของบิลลี่จึงเป็นการดีสำหรับการฝึกฝน ต่อมาเมื่อเริ่มมีการปะทะเกิดขึ้นฝ่ายกบฎก็เริ่มชนะฝ่ายตรงข้ามขึ้นเรื่อยๆ จากที่ใครๆ ก็เรียกบิลลี่ว่าแยงกี้เฉยๆ เขาก็เริ่มมีหมู่ของตัวเอง จนพัฒนาเป็นกองร้อยของตัวเองที่ชื่อว่า หน่วยพยัคฆ์แห่งพงไพร (Tigre de la Jungla) จนสุดท้ายเขาก็ได้เป็นผู้บัญชาการควบคุมพื้นที่หลายร้อยตารางกิโลเมตรในตอนเหนือ จนได้รับสมญาว่า แยงกี้คอมมันดันเต้ หรือแยงกี้พระนายกองในที่สุด ซึ่งมีชาวต่างชาติเพียงสามคนเท่านั้นที่ได้รับตำแหน่งสูงในระดับนี้
ในที่สุดความสัมพันธ์ของบิลลี่กับเมโนโยก็พัฒนาจนเมโนโยรักเขาเหมือนน้องชาย เขาก็ให้ความเคารพในตัวเมโนโยว่าเป็นลูกพี่และพี่ชาย ในระหว่างที่พักการสู้รบอยู่นั้นบิลลี่ก็พบรักอีกครั้งกับหญิงสาวฝ่ายกบฎ เธอมีชื่อว่าโอลก้า โรดริเกซ เธอมีความสดใส กระตือรือร้น และมีเสน่ห์ บิลลี่ตกหลุมรักแทบจะทันที เช่นเดียวกับโอลก้า ครั้งนึงแนวรบที่สองแห่งเอสคัมเบรย์ก็ตกอยู่ในวงล้อมของฝ่ายรัฐบาล ทั้งคู่ก็คอยสู้รบกันเคียงบ่าเคียงไหล่จนสุดท้ายก็ตีฝ่าวงล้อมจนสำเร็จ “ชั้นนึกว่าชั้นจะตายไปเสียแล้ว แต่ถึงจะตายอย่างน้อยชั้นก็ได้ตายอยู่เคียงข้างคนที่ชั้นรัก” โอลก้าระลึกความหลัง
แต่แล้วเมื่อถึงปลายปี 1958 ผู้บัญชาการรบของแนวรบที่สองแห่งเอสคัมเบรย์ก็ต้องเปลี่ยนตัว เมื่อฟิเดล คาสโตรเล็งเห็นว่าจะปล่อยให้แนวรบฝั่งนี้โดดเด่นกว่าฝั่งตนไม่ได้ เขาจึงส่งคนสนิทของเขาเพื่อเข้าไปควบคุม ซึ่งก็คือนายแพทย์นักปฏิวัติชาวอาร์เจนไตน์ เช เกบารา หรือเช กูวาร่านั่นเอง ในตอนแรกนั้นฝ่ายบิลลี่และเมโนโยไม่ไว้วางใจในตัวเช จึงต่อต้านไม่ยอมให้เชเป็นผู้นำ ซึ่งเชเองก็รู้สึกเช่นเดียวกัน นั่นเป็นเพราะว่าตัวของบิลลี่และเมโนโยเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกและเกลียดคอมมิวนิสต์มาก และก็รู้ดีว่าเชนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ตัวเอ้ แต่เมื่อสถานการณ์บังคับ ทั้งคู่ก็จำต้องเชื่อใจกันเพราะเล็งเห็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนส่วนตน จนช่วงปลายเดือนธันวา ฝ่ายกบฏก็รุกคืบจนใกล้ถึงกรุงฮาวานาในระยะทางไม่ถึง 100 ไมล์
อันที่จริงแล้วในกองกำลังปฏิวัติของฟิเดลคาสโตรนั้น ไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนแน่นอนว่าจะปกครองประเทศในระบอบใด เพียงแต่ฟิเดล คาสโตรนั่นพร่ำบอกและป่าวประกาศในการโฆษณาชวนเชื่อเสมอว่า จะล้มล้างรัฐบาลเผ็ดกลาง และจะนำเอารัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งมาให้ประชาชน แนวความคิดด้านปกครองในกลุ่มก็ต่างกัน แนวรบที่สองแห่งเอสคัมเบรย์นำโดยเมโนโย และบิลลี่ ที่รบไปทางตะวันตกก็มีความคิดไปแนวประชาธิปไตยตะวันตก ส่วนทางแนวรบที่หนึ่งที่ไปทางตะวันออก ที่ตอนแรกมี เช และ ราอูล ก็มีแนวความคิดสังคมนิยม ส่วนตัวของฟิเดลนั้น แม้เขาจะบอกว่าจะมีการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ฟันธงว่าตัวเองจะเลือกระบอบไหนกันแน่ เพียงแต่เมื่อมีคนถามก็มักจะตอบว่า "ผมไม่ใช่คอมมิวนิวต์ ถ้าผมจะเป็น เดี๋ยวผมจะบอกเอง"
ต่อมาในค่ำคืนของวันที่ 31 ธันวาคม 1958 ต่อเนื่อง 1 มกราคม 1959 เวลาตีสี่ ขณะที่กำลังมีการเฉลิมฉลองปีใหม่กัน ฟุลเฮนซิโอ บาติสต้า ก็แอบขึ้นเครื่องบินหนีไปลี้ภัยยังโดมินิกัน เพราะทนแรงกดดันจากฝ่ายกบฎและสหรัฐไม่ไหว ทั้งที่ความเป็นจริงกองทัพฝ่ายตนก็มีกำลังพลและยุทโธปกรณ์เหนือกว่าฝ่ายปฏิวัติหลายเท่าตัว แต่เพราะกลยุทธ์อันชาญฉลาดและโฆษณาชวนเชื่อของฟิเดล คาสโตร ทำให้รัฐบาลก็พ่ายแพ้ไป ที่สำคัญเป็นเพราะชัยชนะในการสู้รบในสมรภูมิยิบย่อยต่างๆ จากสงครามกองโจรของแนวรบที่สองแห่งเอสคัมเบรย์ โดยเฉพาะฝีมือการนำทัพของวิลเลี่ยม มอร์แกน หรือแยงกี้พระนายกองแห่งคณะปฏิวัติที่ได้ชัยชนะมานับครั้งไม่ถ้วน ทำให้ความฝันของเขาที่เคยพูดไว้กับเพื่อนว่า “ชั้นอยากจะเป็นคนมีตัวตน ไม่ใช่คนไร้ตัวตน”นั้นสำเร็จจนได้
ปัจจัยหนึ่งที่นำพามาสู่ชัยชนะของกองกำลังฝ่ายปฏิวัติที่นำโดยฟิเดล คาสโตร คงไม่พ้นการใช้โฆษณาชวนเชื่อ หลายครั้งแม้ว่ากองกำลังของเขาจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ แต่เขาก็จะชิงประกาศว่าตนเองชนะ พอหลายครั้งเข้าผู้คนก็เริ่มเชื่อ เขาใช้การโฆษณาชวนเชื่อทางวิทยุ ซึ่งเข้าถึงคนทุกระดับตั้งแต่รากหญ้าจนถึงเศรษฐี แม้แต่ทหารของฝ่ายรัฐบาลเองก็ฟังด้วย ประกอบกับเทคนิคการรบแบบกองโจรที่เช เกบารา ได้วางแผน ก็ทำให้การรบแต่ละครั้งนอกจากจะทำลายกำลังของฝ่ายตรงข้ามได้แล้ว ยังทำลายขัญกำลังใจอันเป็นพลังอำนาจที่ไม่มีตัวตน จนทำให้ถึงวันที่ยึดเมืองหลวงฮาวานาได้นั้นไม่มีใครต่อต้านเลย แม้จะมีกำลังมากกว่าหลายเท่าตัว เพราะรัฐบาลนั้นหมดกำลังกายและกำลังใจไปเรียบร้อยแล้ว
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป อดใจรออีกนิดนะครับ รอพบกับตอนต่อไป ตอนที่ 3 : ฮีโร่ของคิวบา
โฆษณา