Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ดร.สุวิจักขณ์ ต้นสาระ รวมเรื่องสาระ
•
ติดตาม
8 ก.ย. 2021 เวลา 19:28 • ประวัติศาสตร์
ตะเกียง ต้นกำเนิดของแสงสว่าง ในสมัยรัชกาลที่ 5
สยามนี้มีเรื่องเล่าตอนที่ 409
โดยดร. สุวิจักขณ์ ภานุสรณ์ฐากูร
ก่อนที่ผมจะเขียนถึงบทความนี้ผมได้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับตะเกียง พอจะได้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไปเล่าให้ฟังกันก่อน เรื่องของเรื่องก็คือ
ทำไมถึงเรียกว่า "ตะเกียงเจ้าพายุ" จริงแล้วรูปภาพที่ผมวาดนี้ไม่ได้เป็นตะเกียงเจ้าพายุแต่อย่างใด เป็นตะเกียงธรรมดาผมซึ่งหาประวัติไม่ได้ว่าเกิดขึ้นแต่เมื่อไหร่ เอาเป็นว่าขอคุยเรื่องตะเกียงเจ้าพายุแล้วกัน
ที่เรียกว่าตะเกียงเจ้าพายุนั้น เพราะว่าทนต่อแรงลมได้ดี หมายว่าไม่ว่าจะลมพัดมาขนาดไหนตะเกียงก็ไม่ดับนั่นเอง
คราวนี้มาพูดถึงแสงสว่างที่เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในสมัยของพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ว่ากันว่าก่อนที่ไฟฟ้าจะมีกันอย่างแพร่หลายเป็นแต่เพียงกระจุกตัว อยู่ในบ้านของผู้ที่มีฐานะ และตามพื้นที่สาธารณะเท่านั้น
โดยขอพูดถึงพื้นที่ในสาธารณะก่อน เล่ากันว่าเมื่อก่อนนี้การจะไปไหนมาไหนในเขตกรุงเทพฯแท้ ๆ ต้องอาศัยแสงจันทร์เป็นหลัก เพราะให้แสงสว่างพอที่จะเห็นหนทางได้
ส่วนเสาไฟฟ้านั้น ก็มีหลอดไฟ แต่มีความสว่างเพียงแค่ 10 แรงเทียนเท่านั้น 10 แรงเทียนถือว่าน้อยมาก ไม่รู้ว่าจะให้แสงสว่างกันอย่างไร อีกครั้งก็ไม่ได้มีอยู่ทุกต้นเสาไฟฟ้า
ดังนั้นจึงอาศัยแสงจันทร์ ในการเดินทางเวลาค่ำคืน ซึ่งในเขตพระนครแค่ช่วง 20:00 น ก็เงียบแล้ว ยังเล่ากันไปอีกว่า แสงสว่างจากตะเกียงเจ้าพายุนั้นสว่างกว่าไฟฟ้าที่อยู่ตามเสาด้วยซ้ำ
อีกทั้งการเปิดไฟเพื่อให้แสงสว่าง ยังมีเวลาช่วงข้างขึ้นข้างแรม ถ้าเป็นช่วงข้างแรมจึงจะได้เปิดไฟ แต่เป็นช่วงค่ำขึ้นจะไม่เปิดเพราะใช้แสงสว่างจากพระจันทร์อยู่แล้ว อย่างนี้ก็มีด้วย นั่นเป็นเรื่องเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว
เป็นว่าความสว่างในยุคก่อนนั้นได้มายากจริง ๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เพียงแค่ศตวรรษที่แล้วเท่านั้น
นอกจากไฟตามสถานที่สาธารณะแล้วไฟตามบ้านเรือนที่มีการติดหลอดไฟฟ้าใช้ซึ่งเมื่อก่อนนี้ก็มีแต่เป็นหลอดไส้ให้แสงสีเหลืองเท่านั้น
ปัจจุบันนี้หลอดไส้ก็ไม่เห็นกันแล้วไม่ได้ผลิตแล้ว ผมคิดว่าเพราะส่วนใหญ่เป็นหลอด LED แม้กระทั่งหลอดนีออนที่ต้องใช้บลาส และสตาร์ทเตอร์ก็แทบจะหาไม่เจอแล้ว
เรื่องของความสว่าง วิวัฒนาการเร็วมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง จะสังเกตได้ว่า ไฟฉายกระบอกเดียว สว่างเหมือนกับหลอดไฟนับ 100 ดวง
กลับมาเรื่องของโบราณกันต่อ บ้านที่มีหลอดไฟก็มีเพียงดวงสองดวงเท่านั้น และที่สำคัญไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่ใช้วิธีเช่าเอาดวงละ หนึ่งบาทห้าสิบสตางค์ อันนี้น่าจะเก็บเป็นรายเดือนจากการไฟฟ้าสมัยก่อน ข้อมูลมีแค่นี้ไม่ละเอียดผมจึงเดาไว้ประมาณนี้ก่อน
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พวกน้ำมันก๊าดเพิ่งจะเข้ามาในสยามประเทศได้ไม่นาน จึงมีตะเกียงที่ให้แสงสว่างจากน้ำมัน ใช้กันตามบ้านเรือน แต่เนื่องจาก ความไม่ชำนาญเพราะเป็นของใหม่ทำให้เกิดกรณีไฟไหม้หลายครั้ง ดังมีคดีซึ่งเป็นตัวอย่างมาให้อ่านกันด้วย
แต่ก่อนที่จะ ได้อ่านเกี่ยวกับคดี เรื่องเกี่ยวกับไฟไหม้ ผมตั้งข้อสังเกตว่า ตะเกียงน้ำมันก๊าดเพิ่งจะเข้ามาในสยามประเทศเมื่อศตวรรษที่แล้ว ผู้คนในสมัยก่อนอาศัยความสว่างจากอะไร เป็นเพียงจุดไต้จุดคบเท่านั้นใช่ไหม คำตอบก็น่าจะเป็นเช่นนั้น
ปัจจุบันแสงสว่างเป็นความจำเป็น ไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาทุกระบบ
มองกันไปยังอนาคต ยังคงมีเรื่องต้องเปลี่ยนแปลงกันอีก เพราะคนเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วก็คงคิดไม่ถึง ถึงความสะดวกและง่ายดายต่อการได้มาซึ่งแสงสว่างเหมือนอย่างเช่นปัจจุบัน
แต่ในอดีตการได้มาซึ่งแสงสว่าง ก็มีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ ไม่ต่างกับปัจจุบัน ที่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่สะดวกในการใช้ หากแต่ไม่ระวังก็เป็นทุกข์อย่างสาหัสได้
กรณีศึกษา เรื่องของอดีตเกี่ยวกับ อุปกรณ์ที่ให้แสงสว่าง มีดังนี้
ผลจากเชื้อเพลิงชนิดใหม่ปรากฏในรูปของคดีไฟไหม้จำนวนมากเนื่องจากความไม่คุ้นชินของบรรดาราษฎร เช่นที่พระยาอนุมานราชธนกล่าวไว้ ดังนี้
“เขาว่าเมื่อมีน้ำมันก๊าดใช้ใหม่ๆ มักเกิดไฟไหม้บ้านเรือนบ่อยๆ เพราะไปเข้าใจว่าเหมือนน้ำมันมะพร้าว ไม่รู้พิษสงของมันว่า มันลุกผึบได้ทันทีถ้าใกล้ไฟ พอรู้ก็หวาดเกรงกัน จึงยังมีผู้ดื้อใช้น้ำมันมะพร้าวอยู่ก็เป็นอันมาก ถ้าซื้อน้ำมันก๊าดทั้งปีบมาใช้ เวลาจะเปิดเอาปีบน้ำมันออก ถ้าอยู่ในสวน ก็ต้องหิ้วปีบไปเปิดหรือเก็บไว้ในสวนให้ห่างไกลจากตัวเรือน เพราะกลัวจะระเบิดเกิดลุกเป็นไฟไหม้บ้านเรือนขึ้น”
ราษฎรในเมืองหลวงสามารถซื้อหาน้ำมันก๊าดได้จากโรงขายน้ำมันของชาวจีน พร้อมกับซื้อตะเกียงสำหรับให้แสงสว่างที่มีขายในกรุงเทพฯ อีกด้วย เช่น คดีไฟไหม้ตึกแถวอำแดงผาด ย่านถนนเฟื่องนคร เมื่อปี พ.ศ. 2450 ให้รายละเอียดดังนี้
“วันนี้เวลาบ่าย 3 โมงอำแดงช่วยได้วานผู้มีชื่อคือนายเคล้าซึ่งอยู่ห้องเดียวกันไปซื้อตะเกียงแก้วตั้ง คือดวงที่ลุกขึ้นนี้ จากร้านสี่กั๊กเสาชิงช้า ครั้นเมื่อซื้อมาแล้ว นายเคล้าเปนผู้เติมน้ำมันในคืนวันเดียวกันนั้นเองเวลา 2 ทุ่มเศษ ข้าพเจ้าได้ลองจุดแล้วเอาไปตั้งริมฝา พอจุดขึ้นไฟในตะเกียงก็พุบขึ้นโคมแตกน้ำมันก็ไหลซึมไปตามพื้นไปอิกห้องหนึ่ง คือห้องของอำแดงเจิมไปลุกที่หมอน 1 ใบ ที่นอนน้ำมันผ้าห่มปะลังเก้ด 1 ผืน”
คดีของอำแดงผาดนอกจากจะบอกถึงการซื้อหาอุปกรณ์ให้แสงสว่างแล้วยังบ่งชี้ถึงอันตรายจากน้ำมันก๊าด หรือที่เรียกกันว่าน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งราษฎรจำนวนไม่น้อยประมาทจนเกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินหนึ่งในนั้นรวมถึงคดีของหญิงชาวจีนชื่ออำแดงหมุย เกือบต้องสูญเสียห้องพักของตนเมื่อปี พ.ศ. 2449 จากความประมาท ดังนี้
“อำแดงหมุยหญิงจีนเจ้าของห้องเติมตะเกียงเหล็กวิลาดจุดเพลิงแล้วติดไว้ที่ฝาครัวเพลิงลุกขึ้นเพราะน้ำมันปิโตรเลียมที่เติมมากเกินไป เพลิงลุกจนหูตะเกียงอันบัดกรีไว้สำหรับแขวนละลายตะเกียงตกยังพื้นน้ำมันหกเพลิงลุกขึ้นที่พื้นนั้น”
น้ำมันก๊าดจึงเป็นเชื้อเพลิงชนิดใหม่ที่ราษฎรเริ่มให้ความนิยมแต่ต้องแลกมาด้วยอันตรายจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงเท่านั้น เชื้อเพลิงชนิดนี้ยังนับเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งของการก่อคดีสำคัญในกรุงเทพฯ คือคดีลอบวางเพลิง ที่กระทบต่อความสงบสุขและสร้างความหวาดหวั่นให้กับบรรดาราษฎรไปจนถึงพระมหากษัตริย์
บันทึก
7
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย