9 ก.ย. 2021 เวลา 00:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ
"Space Race" การแข่งขันด้านอวกาศของอภิมหาเศรษฐี
3
การแข่งขันทางอวกาศรอบใหม่เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งแล้ว
Space Race 2021: การแข่งขันด้านอวกาศของอภิมหาเศรษฐี
หลายคนมีความฝันที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในอวกาศ เพราะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง แต่ในอดีตอาจจะมีผู้คนเพียงไม่กี่คนบนโลกที่มีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์การอยู่นอกโลกเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องอวกาศนั้นสูงเกินกว่าจะเอื้อมถึง
ในปัจจุบันอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอวกาศมีการพัฒนามากขึ้นอย่างมาก การท่องเที่ยวอวกาศมีแนวโน้มที่จะมีค่าใช้จ่ายถูกลง มีความปลอดภัยสูง และบุคคลธรรมดาอย่างเราๆ ที่ไม่ได้เป็นนักบินอวกาศเริ่มมีโอกาสเข้าถึงได้มากขึ้น
ดังนั้นวันนี้ทาง Bnomics จึงอยากจะมานำเสนอที่มาที่ไปเกี่ยวกับกิจการอวกาศตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศ (Space Tourism) ที่กำลังจะมาเป็นธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าให้ทุกท่านได้รู้จักกันครับ
📌 การแข่งขันทางอวกาศ (Space Race) ระหว่างประเทศ
การแข่งขันทางอวกาศ หรือ Space Race เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในช่วงยุคทศวรรษ 1950 โดยเป็นการแข่งขันกันระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตว่าใครจะสามารถส่งดาวเทียมและมนุษย์ขึ้นไปยังอวกาศได้สำเร็จก่อนกัน
ในปี ค.ศ. 1957 สหภาพโซเวียตได้นำสหรัฐฯ ไปก่อน โดยได้ส่งดาวเทียมดวงแรกของโลกที่มีชื่อว่า Sputnik 1 ขึ้นสู่วงโคจรของโลกได้สำเร็จ
1
ความสำเร็จในครั้งนั้นของสหภาพโซเวียตได้สร้างความประหลาดใจและความกังวลให้กับชาวอเมริกันอย่างมากจนเกิดคำเรียกช่วงเวลานั้นว่า “Sputnik Moment” เนื่องจากก่อนหน้านี้ชาวอเมริกันเชื่อว่าชาติของตนนั้นมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกว่าสหภาพโซเวียต แต่ Sputnik 1 ชี้ให้เห็นแล้วว่าความเชื่อนั้นเป็นความเชื่อที่ผิด และอเมริกายังคงตามหลังอยู่มากทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ
2
Sputnik 1 ดาวเทียมดวงแรกของโลก โดยสหภาพโซเวียต
ต่อมาในปี ค.ศ. 1961 หรือแค่เพียง 4 ปีหลังการส่ง Sputnik 1 ขึ้นสู่วงโคจร สหภาพโซเวียตก็ประสบความสำเร็จอีกครั้งในการส่งมนุษย์คนแรกไปสัมผัสชั้นบรรยากาศนอกโลก โดยนักบินอวกาศนายนี้มีชื่อว่า Yuri Gagarin ซึ่งเขาเดินทางออกจากโลกด้วยยานที่มีชื่อว่า Vostok 1
1
Yuri Gagarin นักบินอวกาศโซเวียต มนุษย์คนแรกในอวกาศ
ความสำเร็จในครั้งนี้ของสหภาพโซเวียตสร้างแรงกดดันให้กับสหรัฐฯ อีกระลอกหนึ่ง จนในปี ค.ศ. 1962 ประธานาธิบดี John F. Kennedy ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้นต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะต้องสามารถกลับมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศให้ได้ และกล่าวย้ำในสุนทรพจน์ว่า “We choose to go to the moon” หรือว่า “เราเลือกที่จะไปดวงจันทร์”
1
เพื่อกระตุ้นให้ชาวอเมริกันตื่นตัวและยอมจ่ายภาษีให้กับโครงการอวกาศที่วางแผนจะทุ่มเงินมูลค่ากว่า 7 - 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งคนไปยังดวงจันทร์และพาเขากลับมายังพื้นโลกอย่างปลอดภัย
[สุดท้ายรัฐบาลสหรัฐฯใช้งบประมาณไปมากกว่าที่คิดไว้มาก โดยตั้งแต่ปี 1960 - 1973 ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นกว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งถือว่าเยอะมากในยุคนั้น]
จนในที่สุดในปี ค.ศ. 1969 ก็เป็นปีแห่งความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ เมื่อ NASA สามารถส่งยานอวกาศ Apollo 11 ที่มีลูกเรือ 3 คน ได้แก่ Neil Armstrong, Buzz Aldrin และ Michael Collins ไปลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ
“That’s one small step for man, one giant leap for mankind. นั่นเป็นก้าวเล็ก ๆ ของคนคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่สำหรับมนุษยชาติ” Niel Armstrong ได้กล่าวประโยคนี้ไว้หลังจากลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์เป็นคนแรกของโลก
Neil Armstrong นักบินอวกาศชาวอเมริกัน มนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์
หลังจากนั้นเป็นต้นมา สหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ ก็ยังคงมีการแข่งขันทางด้านอวกาศกันอยู่เรื่อยมา แต่มีความตึงเครียดน้อยลงเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ความตึงเครียดของสงครามเย็นที่เริ่มคลี่คลายลง และเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนมากสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ
จนในที่สุดในช่วงปี ค.ศ. 1975 สหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ ก็ได้หันมาร่วมมือกันพัฒนาโครงการ Apollo – Soyuz เพื่อทดสอบระบบการเชื่อมต่อยานอวกาศ ซึ่งหลายฝ่ายก็มองว่าโครงการนี้เปรียบเสมือนจุดสิ้นสุดของการแข่งขันทางอวกาศของทั้งสองชาติ
📌 Space Race ระหว่างมหาเศรษฐี
เมื่อวันและเวลาผ่านไป เทคโนโลยีถูกพัฒนาให้มีความทันสมัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับโอกาสและความท้าทายที่ยังมีอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ จึงก่อให้เกิดการแข่งขันทางอวกาศรอบใหม่ขึ้น
แต่รอบนี้ไม่ใช่การแข่งขันกันระหว่างประเทศดังเช่นในอดีต แต่เป็นการแข่งขันกันระหว่างอภิมหาเศรษฐี 3 คน ซึ่งได้แก่ Jeff Bezos จากบริษัท Blue Origin, Elon Musk จากบริษัท SpaceX และ Richard Branson จากบริษัท Virgin Galactic
กรณีที่แสดงให้เห็นถึงการขับเคี่ยวกันล่าสุดของวงการนี้ก็คือการที่ Richard Branson ได้จัดการทดลองเที่ยวบินในวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมาและขึ้นแท่นเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทด้านยานอวกาศคนแรกที่ได้เดินทางไปอวกาศ ตัดหน้า Jeff Bezos ที่กำลังจะบินกับ Blue Origin ไปเพียง 9 วัน
1
บริษัท Blue Origin ถูกก่อตั้งขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 2000 ด้วยความตั้งใจที่จะช่วยให้ผู้คนในอนาคตสามารถอยู่อาศัยและทำงานบนอวกาศ เพื่อสร้างประโยชน์กลับคืนสู่โลกได้ โดยทางบริษัทได้เล็งเห็นถึงอุปสรรคที่สำคัญสำหรับการส่งมนุษย์ไปยังอวกาศ
นั่นก็คือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนมหาศาล จึงตั้งใจที่จะผลิตจรวดภายใต้คอนเซ็ปต์ “LAUNCH LAND REPEAT” หรือการปล่อยจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่เหมือนกับในอดีตที่สามารถใช้ได้ครั้งเดียวแล้วต้องทิ้งไป เพื่อลดต้นทุนในการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ โดยในช่วงที่ผ่านมา Blue Origin ก็ได้ประสบความสำเร็จในการส่งจรวดภายใต้แนวคิดดังกล่าวในโครงการอย่าง New Shepard มาแล้ว เป็นต้น
1
ส่วนบริษัท SpaceX ที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาภายหลังในปี ค.ศ. 2002 ก็มีพันธกิจที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้บริษัท Blue Origin ซึ่งนั่นก็คือ ความต้องการให้มนุษย์สามารถเป็น “Multi-Planetary Species” หรือความต้องการที่จะให้มนุษย์สามารถไปตั้งถิ่นฐานบนดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ได้
โดยวิธีการเชิงเทคนิคที่ SpaceX ใช้ก็ดูจะมีความคล้ายคลึงกับของบริษัท Blue Origin นั่นคือ การคิดค้นพัฒนายานอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยผลการศึกษาจาก NASA และ The Planetary Society ระบุไว้ว่ายาน SpaceX Dragon 2 ที่สามารถนำชิ้นส่วนบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ได้มีค่าใช้จ่ายต่อที่นั่งสำหรับนักบินอวกาศลดลงอย่างมากหากเทียบกับยานอวกาศในสมัยก่อนอย่าง Apollo ที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียว (มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าแต่ก่อนเกือบ 7 เท่า)
1
บริษัท SpaceX สามารถลดต้นทุนค่าเดินทางไปอวกาศได้มหาศาล
ทางด้านบริษัท Virgin Galactic ที่ตามมาทีหลังสุดในปี ค.ศ. 2004 ก็มีภารกิจที่คล้ายกันกับ 2 บริษัทใหญ่ที่ก่อตั้งมาก่อนหน้า โดยจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์ที่ปลอดภัยที่สุดและดีที่สุดให้กับผู้ที่ต้องการเดินทางไปในอวกาศผ่านการทำงานของยานอวกาศรูปแบบใหม่ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
โดยล่าสุด Virgin Galactic ก็พึ่งประสบความสำเร็จไปในการทดสอบการบินของยาน VSS Unity ที่มีเจ้าของบริษัทอย่าง Richard Branson และลูกเรืออีก 5 คนเดินทางไปด้วย เปิดทางให้กับธุรกิจเที่ยวบินอวกาศ เพื่อการท่องเที่ยวได้อย่างสวยงาม
📌 การท่องเที่ยวอวกาศ (Space Tourism)
ข้อมูลจาก Statista และ Northern Sky Research ระบุไว้ว่ารายได้ทั่วโลกจาก
ธุรกิจการท่องเที่ยวในอวกาศในปี ค.ศ. 2021 นี้จะอยู่ที่ราว 385 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.1 หมื่นล้านบาท)
และคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 555 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.6 หมื่นล้านบาท) ภายในปี ค.ศ. 2030 ที่จะถึงนี้
โดยรายได้หลักคาดว่าจะมาจากการท่องเที่ยวในรูปแบบของเที่ยวบินที่ออกไปถึงระดับขอบอวกาศ (Edge of Space) เนื่องจากเป็นระดับชั้นความสูงที่ผู้เดินทางสามารถสัมผัสกับประสบการณ์ภาวะไร้น้ำหนักได้และมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการเดินทางออกไปนอกโลก
การให้บริการของบริษัท Blue Origin และ Virgin Galactic ในปัจจุบันจะเป็นการเดินทางไปยังขอบอวกาศเพียงเท่านั้นโดยคาดว่าตั๋วที่จะวางขายในอนาคตจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 2 - 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ (6 - 16 ล้านบาท)
ส่วนบริษัท SpaceX นั้นจับกลุ่มตลาดที่แตกต่างออกไปเล็กน้อยโดยจะเน้นการเดินทางออกไปนอกโลก เช่น ดวงจันทร์ หรือดาวอังคาร ส่วนในเรื่องของราคา Elon Musk เคยกล่าวไว้ใน Twitter ว่าตั๋วไปดาวอังคารในอนาคตอาจจะมีราคาอยู่ที่ราว 1 - 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ (3 - 16 ล้านบาท)
1
ตัวเลขคาดการณ์รายได้ทั่วโลกของธุรกิจการท่องเที่ยวในอวกาศ
📌 บทสรุป
ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังอวกาศในปัจจุบันจะลดลงกว่าแต่ก่อนมากแล้ว แต่อย่างไรก็ตามราคาค่าตั๋วไปอวกาศก็ยังอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าคนที่มีฐานะปานกลางไม่ได้เป็นมหาเศรษฐีจะจ่ายไหวอยู่ดี
แต่ในอนาคตถ้าหากเทคโนโลยีมีการพัฒนาให้ล้ำสมัยมากยิ่งขึ้นและสามารถลดต้นทุนการเดินทางให้ต่ำลงกว่าในปัจจุบันได้ เราก็อาจจะมีเที่ยวบินไปอวกาศในราคาที่จับต้องได้ให้ได้ลองใช้บริการกัน
1
#SpaceTourism #SpaceRace #JeffBezos #ElonMusk #RichardBranson
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา