9 ก.ย. 2021 เวลา 08:20 • สิ่งแวดล้อม
✴️ ทำความรู้จักกับ...พื้นที่สงวนชีวมณฑล
พื้นที่สงวนชีวมณฑลเป็นพื้นที่สาธิตภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑล (Man and the Biosphere Programme) ของยูเนสโก (UNESCO) มีความเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ในการศึกษา วิจัยเชิงประจักษ์ เพื่อหาคำตอบของความสมดุลย์ระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความเจริญของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
🌲พื้นที่สงวนชีวมณฑลถูกกำหนดให้มีบทบาทหน้าที่หลัก ๓ ประการ คือ
๑. การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม
๒. การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น บนฐานของความยั่งยืน
๓. โลจิสติกส์ สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ การศึกษาวิจัย การบริหารจัดการที่มี รวมถึงการเผยแพร่ตัวอย่างและบทเรียนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของพื้นที่สงวนชีวมณฑล
ด้วยกิจกรรมมีเป้าหมายที่ "ธรรมชาติ" และ "มนุษย์" พื้นที่สงวนชีวมณฑลจึงประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ชุมชน ไม่แต่เพียงชุมชนภายในหรือประชิดพื้นที่อนุรักษ์ แต่ขยายไปถึงชุมชนเมืองที่ได้รับประโยชน์จากการคงอยู่ยั่งยืนของบริการจากระบบนิเวศในพื้นที่อนุรักษ์ด้วย
🌳พื้นที่สงวนชีวมณฑลเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมีบทบาทในระดับนานาชาติ โครงการมนุษย์และชีวมณฑล มีส่วนร่วมอย่างชัดเจนในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกเป้าหมายบนเวทีสหประชาชาติ
💥ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ๔ แห่ง
๑.พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา ประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ปัจจุบันรับผิดชอบกิจกรรมโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
๒. พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ ปัจจุบันรับผิดชอบกิจกรรมโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
๓. พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก จังหวัดลำปาง ประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ ปัจจุบันรับผิดชอบกิจกรรมโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
๔. พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง ประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ ปัจจุบันรับผิดชอบกิจกรรมโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
และพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่ได้นำเสนอขึ้นทะเบียนต่อองค์การยูเนสโกล่าสุด ได้แก่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว และอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ คือ ยอดดอยหลวงเชียงดาว ระบบนิเวศภูเขาหินปูนที่สำคัญของประเทศไทย และวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของผู้คน ความเข้มแข็งของชุมชน ที่มีศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนของอัตลักษณ์ความเป็นเชียงดาวต่อไปในอนาคตอันใกล้
#พื้นที่สงวนชีวมณฑล #ยูเนสโก # UNESCO #กรมอุทยาน # UNESCO #prdnp #dnp
โฆษณา