13 ก.ย. 2021 เวลา 06:00 • บ้าน & สวน
แนะ 9 วิธีเลือกผู้รับเหมา
🏠 Tambaan.co วันนี้จะมาแนะนำวิธีเลือกผู้รับเหมา เลือกอย่างไรไม่ให้เจ็บใจและเจ็บนาน
ผมขอเตือนเลยว่าผู้รับเหมาคือคีย์แมนคนสำคัญว่าบ้านของเราจะออกมาปังปุริเย่ หรือปังปินาศ❗
แน่นอนว่าผู้รับเหมาดีๆ มีอยู่จริง เพียงแค่เราอาจจะหาไม่ดีพอเองหรือเปล่า ดังนั้น เจ้าของบ้านควรทำการบ้านให้ดี
“ของดีมักจะไม่ถูก ของถูกมักจะไม่ดี” อย่าหาว่าแอดไม่เตือนนะ ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย
👉 1. ดูผลงานที่ผ่านมาในอดีต
อันดับแรกเลยเช็คผลงานในอดีตของผรม. โดยเจ้าของบ้านสามารถขอให้ผรม.ส่ง portfolio ให้ดูได้ หรือจะดูจากเพจ หรือจากเวปไซต์ของผรม. เพื่อดูว่าสไตล์บ้านที่เราอยากได้ ผรม.คนนี้เคยมีประสบการณ์สร้างมาหรือไม่ เช่น เราอยากได้บ้านแนวมินิมอล หรือบ้านไม้ มีบ้านหลังไหนที่ผรม. เคยสร้างแบบที่เราชอบบ้างมั้ย
👉2. สอบถามลูกค้าเก่า
หลังจากสกรีนผลงานแล้ว ต่อไปคือลองหาข้อมูลของคนที่เคยจ้างผรม.คนนี้ แนะนำให้เจ้าของบ้านโทรไปคุยเลย เพื่อถามถึงนิสัยและวินัยการทำงาน เช่น
- ผรม.คนนี้ขยันมาไซต์งานมั้ย
- ใส่ใจลูกค้าหรือเปล่า เช่น รับโทรศัพท์ตลอด ขยันมาไซต์งาน ขยันอัพเดตความก้าวหน้าของบ้านให้เจ้าของบ้านดีมาก หรือโทรไปไม่ค่อยรับ โผล่หน้ามาเฉพาะช่วงจ่ายเงิน เป็นต้น
- เมื่อหน้างานมีปัญหาแก้ปัญหารวดเร็วมั้ย เช่น ช่างฝีมือไม่ถึง ผรม.หาทีมใหม่มาลงมั้ย หรือช่างมาบ้าง ไม่มาบ้าง หยุดบ่อย งานไม่เดิน ผรม.จะแก้ปัญหาอย่างไร เป็นต้น
- หลังเข้าอยู่ บ้านมีปัญหามั้ย ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว บ้านต้องมีปัญหาเล็กๆน้อยๆบ้าง แต่ผรม.ที่ดี จะรีบมาแก้งานให้ ส่วนผรม.ที่ควรหนีให้ไกลๆ คือผรม.ที่หายหัวไปเลย
👉3. ขอไปดูไซต์งานปัจจุบัน และที่ตั้งบริษัท
จุดประสงค์ก็เพื่อดูความเรียบร้อยของไซต์งาน เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่าผรม.คนนี้มีการจัดการหน้างานที่ดีมั้ย คุมลูกทีมดีหรือเปล่า ลองพูดคุยกับช่างดู อุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างได้มาตรฐานหรือไม่ และที่สำคัญทำงานได้เนี้ยบจริงมั้ย "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น" ดูภาพจาก portfolio ไม่พอ สู้ไปดูของจริงเลยดีกว่า
👉4. ดูฝีมือของช่าง
เช่น ถ้าจะสร้างบ้านไม้ ก็ดูฝีมือช่างไม้ให้ละเอียดๆ ยิ่งถ้าต้องทำ built-in ด้วยแล้ว ดูว่าฝีมือถึงมั้ย หรือช่างกระเบื้อง ช่างก่ออิฐเป็นยังไง บางทีผรม.ตีราคามาแพง โดยอ้างว่า เพราะทีมช่างเก่ง แต่พอเห็นผลงานแล้ว อาจจะธรรมดามากก็ได้
นอกจากนี้ พยายามเช็คว่าผรม.ใช้ทีมช่างที่ตรงกับงานหรือเปล่า เช่น ไม่ใช่ทั้งไซต์งานมีช่างอยู่สองสามคน แล้วทำทุกอย่างหมดเลย บริษัทที่ดีจะมีหลายทีมมาอยู่หน้างาน เพื่อความ specialised ตามเนื้องาน เช่น ช่างเหล็ก ช่างหลังคา ช่างไม้ ช่างประปา เป็นต้น
👉5. ดูสถานะทางการเงิน
ลองดูว่าผรม.ของเราดูพอมีอันจะกินมั้ย ถ้าดูชักหน้าไม่ถึงหลัง ระวังไว้ให้ดี อาจจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องได้ ดังนั้น สืบได้สืบ เช่น บ้านอยู่แถวไหน ขับรถอะไร มีชื่อเสียในวงการมั้ย เป็นต้น
👉6. ดูเงื่อนไขสัญญา
แนะนำให้ปริ้นท์ออกมาอ่านทีละบรรทัดเลยว่า
- สัญญาเป็นธรรมกับเจ้าของบ้านหรือไม่
- มีตรงไหนไม่ชัดควรเขียนให้ชัดขึ้น
- ประเด็นไหนไม่เคลียร์หรือสงสัยควรถามให้กระจ่าง
- หากเกิดการผิดสัญญาต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง
- หลังเข้าอยู่ มีประกันกี่ปี เป็นต้น
อยากให้เจ้าของบ้านลองนึกถึง worst case ดูว่า ถ้าสร้างบ้านไป แล้วเกิดปัญหา เราอยากจะให้สัญญาระบุเรื่องอะไรบ้าง ที่เจ้าของบ้านจะไม่โดนเอารัดเอาเปรียบ
👉7. ดูงบประมาณหรือราคา
ปริ้นท์ออกมานั่งดูเลยว่าผรม.ตีราคาได้สมเหตุสมผลหรือไม่ วัสดุอุปกรณ์โก่งราคาหรือเปล่า อาจจะสุ่มเช็คดู นอกจากนี้ดูเรื่องการเบิกเงินแต่ละงวดด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ อาจจะให้เพื่อนที่เคยสร้างบ้าน หรือเป็นวิศวกร หรือสถาปนิกช่วยดูอีกตา
-ทำไมเบิกตรงนี้เยอะ หรือตรงนี้น้อย
-ทำไมค่าแรงช่างถึงแพงกว่าเจ้าอื่น
-ตรวจ BOQ ละเอียดๆ ว่าตรงตามที่เราต้องการหรือไม่ เช่น มีการยกเลิกตรงนี้ไปแล้ว แต่ใน BOQ ยังใส่มา หรือ BOQ ลืมใส่อะไรไปหรือเปล่า
ขอย้ำว่า ราคาไม่ใช่ทุกสิ่ง อย่าดูแค่ราคาที่ถูกที่สุด แต่ให้ดูราคาที่เหมาะสมที่สุด จะได้ไม่มาเสียใจในภายหลัง
👉8. เช็คประวัติจากอินเตอร์เน็ต
เพื่อกันเหนียว แนะนำให้เสิร์จดูประวัติผรม.ในเน็ตดูว่ามีประวัติเคยโกง ทิ้งงาน หรือขึ้นโรงขึ้นศาลหรือไม่
👉9. เปรียบเทียบผู้รับเหมาอย่างน้อย 2 - 3 เจ้า
เจ้าของบ้านควรจะทำการเทียบราคาเพื่อดูว่าเจ้าไหนให้ราคาที่เหมาะสมที่สุด แล้วค่อยตัดสินใจว่าจ้าง
อีกวิธีนึงคือให้สถาปนิกทำราคากลางขึ้นมา แล้วดูว่าราคาที่ผรม.เสนอมาสมเหตุสมผลหรือไม่ ถ้าบวก-ลบแล้ว ไม่ต่างกันมากนัก ถือว่าโอเค
สุดท้ายนี้ อยากให้เจ้าของบ้านดูด้วยว่าผรม.และสถาปนิกคุยกันรู้เรื่องมั้ย เพราะคนที่จะต้อง co งานด้วยหลักๆ จะเป็นสถาปนิก ถ้าสองคนนี้คุยกันรู้เรื่อง เข้ากันได้ ก็จะทำให้การทำงานราบรื่น บ้านออกมาสวยงาม สมบูรณ์ตรงตามแบบ ⭐
โฆษณา