12 ก.ย. 2021 เวลา 04:11 • หนังสือ
ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้านของโบฮูมิล ฮราบัล และการเปลี่ยนแปลงจากออสเตรีย-ฮังการีสู่เช็กเกีย
วันนี้เราตั้งชื่อหัวข้อยาวเหยียดเป็นพิเศษตามสไตล์การเขียนของนักเขียนที่เราจะกล่าวถึง และเขาคนนั้นก็คือ “โบฮูมิล ฮราบัล” ผู้ซึ่งแอดเอียงคออ่านชื่อเขาอยู่เป็นนานในตอนที่เห็นครั้งแรกบนหน้าปกหนังสือชื่อ “ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน” โดยในหนังสือประกอบด้วยคำนำและบทวิเคราะห์ที่เขียนถึงอย่างดิบดีว่า เขาคือชายที่ถูกยกให้เป็นที่สุดแห่งวงการวรรณกรรมของประเทศเช็กเกีย หรือสาธารณรัฐเช็ก
ซึ่งในเรื่องราวของหนังสือเล่มบางแต่ชื่อยาวนี้ ส่งผลให้แอดสงสัยใคร่รู้ในบริบทการเขียนของเขา ว่าชีวิตเขาผ่านอะไรมาถึงได้เขียนเรื่องราวที่ดูหมองหม่นสิ้นหวังให้เหมือนเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวันแสนธรรมดา แถมยังจะมีอารมณ์ตบมุกเสียดสีตัวเองได้อีก (จิตใจทำด้วยอะไร๊?) เรามาค้นหาเรื่องราวของเขาคนนั้นในวันวานกันเลยค่ะ
ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้านของโบฮูมิล ฮราบัล และการเปลี่ยนแปลงจากออสเตรีย-ฮังการีสู่เช็กเกีย
ชีวิตลุ่มๆดอนๆของฮราบัล
โบฮูมิล ฮราบัล เกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ปี 1914 ที่เมืองเบอร์โน (Brno) แคว้นโมราเวีย (Moravia) ซึ่งในตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เขาเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของแม่แท้ๆและพ่อเลี้ยงที่เป็นผู้จัดการโรงกลั่นเบียร์ (แม้แต่เรื่องนี้เขาก็เล่าแบบติดตลกว่าตอนแม่อุ้มท้องเขาโดยไม่มีพ่อ ตาของเขาโกรธจนแทบจะเอาปืนมาส่อง แต่เดชะบุญที่ยายเรียกไปกินข้าวก่อน ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่ได้ลืมตาดูโลก…)
ฮราบัลใช้ชีวิตผ่านทั้งสงครามโลกครั้งแล้วครั้งเล่า ยาวมาจนถึงสงครามเย็น ซึ่งชีวิตแกก็ลุ่มๆดอนๆไปพร้อมๆกับการโดนยึดครอง สงคราม การหั่น และการแบ่งของประเทศบ้านเกิดนี่แหละ แต่ถึงกระนั้นเขาก็เป็นผู้ที่หลงไหลในบทกวี (และการกลั่นเบียร์) มาตั้งแต่เด็ก
แม้ในวัยเด็กเขาจะไม่ค่อยสนใจเรียน (เพราะมัวแต่อินบทกวี) เขาก็สามารถเข้าศึกษาคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชาร์ลส์ในกรุงปราก อันเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ ช่วงเวลานั้นดินแดนนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นประเทศเชโกสวาเกีย โดยแยกออกจากจักรววรดิออสเตรีย-ฮังการีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
แต่เรื่องราววุ่นวายของประเทศนี้ยังไม่จบง่ายๆ เพราะช่วงที่ฮราบัลเรียนอยู่นี่เอง สงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น เหล่านาซีไหลบ่าเข้ายึดประเทศในปี 1939 ภายใต้การต่อรองระหว่างเยอรมันและฝ่ายพันธมิตร (ซึ่งเชโกสวาเกียที่ถูกยึดฝั่งตะวันตกไปมองว่าตัวเองถูกหักหลัง) ทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆต้องปิดทำการ ฮราบัลใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไปแบบนั้นและไปเรียนจบเอาปี 1946 หลังสงครามสงบลง (เรียนพร้อมเพื่อนจบหลังแพทย์ไปเลยค่ะ)
หลังจากเรียนจบได้ 2 ปี สถานการณ์หลังจากนาซีถอยออกไปจากประเทศเชโกสวาเกียแล้ว ความโชคดีก็ยังคงไม่มาหาประเทศนี้ โดนสหภาพโซเวียตเข้าควบคุมพร้อมกับการเข้ามาของลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อค่ะ ซึ่งเชโกสวาเกียจะต้องอยู่ในสภาพนี้ไปอีก 20 ปี แม้จะเกิดการต่อต้านสตาลินในช่วงปี 1953 แต่รัฐบาลที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมก็ยังคงความเป็นคอมมิวนิสต์ไว้
ทีนี้ฮราบัลของเรานอกจากสกิลด้านกฎหมายที่เรียนมาจะไม่ค่อยได้ใช้แล้ว งานนักเขียนที่ชอบก็ไม่ได้มีโอกาสตีพิมพ์อีก เพราะนโยบายการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็มาแนวคล้ายๆประเทศจีนในตอนนี้ เนื่องด้วยงานเขียนของฮราบัลถูกมองว่าใช้คำอย่างรุ่มรวยฟุ่มเฟือยเกินไปและดูไม่เรียลในแบบคอมมิวนิสต์มากพอ (ก็เรื่องแต่งที่แอบแซะความเป็นจริงอ่ะเนอะ)
แล้วฮราบัลใช้ชีวิตยังไงละนี่ ? ไม่เลือกงานไม่ยากจนค่ะ คุณเขารับงานแบบสากกะเบือยันเรือรบ งานที่พอจะตรงสายที่เรียนมาบ้างคงจะมีแค่งานผู้รับรองเอกสาร นอกจากงานนี้ เขาเคยเป็นทั้งพนักงานประกัน ผู้ดูแลโรงเก็บสินค้า พนักงานควบคุมรางรถไฟ พนักงานขายแพคเกจท่องเที่ยว ผู้ควบคุมการผลิตและหลอมโลหะ คนทำงานหลังเวที ไปจนถึงพนักงานโรงรีไซเคิลกระดาษ ซึ่งหลายๆอาชีพในนี้ เราจะได้เห็นเขานำมาใส่ในงานเขียนของเขา
ความโด่งดังของฮราบัลในฐานะนักเขียน
ถึงชีวิตเขาจะดูหมองหม่นเกินต้าน แต่หนึ่งแสงสว่างแห่งความบันเทิงคือการไปผับ สถานที่ซึ่งรวมสิ่งที่เขาชอบสองอย่างไว้ด้วยกัน การเล่าเรื่องราวและเบียร์
เช่นเดียวกับตัวเอกในเรื่อง ฮราบัลชอบไปผับ โดยเฉพาะผับที่มีชื่อว่า the Golden Tiger แต่เขาไปเพื่ออ่านเรื่องราวที่เขาแอบแต่งและตีพิมพ์ขึ้นเอง โดยฮราบัลเพิ่งเริ่มมาเป็นนักเขียนเต็มตัวในปี 1962 แม้ตีพิมพ์เผยแพร่ปกติไม่ได้ก็มาเล่ากันตามผับประกาศตนเป็นนักเขียนใต้ดินนี่แหละ เรื่องราวของเขาเป็นที่ชื่นชอบของเหล่านักงานเขียนใต้ดินที่มารวมตัวกันเล่าเรื่อง จนวันหนึ่งมีเพื่อนร่วมชาติอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ต่างประเทศได้หอบหิ้วงานเขียนเขาออกไปด้วย จนเรื่อง Closely Watched Trains ดังเปรี้ยงในต่างประเทศ จนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศในปี 1968
ภาพที่ 1 โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Closely Watched Trains กำกับโดย ยิชืเม็นเซ็ล ปี 1966
ในปีเดียวกันนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ Prague Spring ฮราบัลซึ่งสนับสนุน Prague Spring และต่อต้านการเข้ามาแทรกแซงของสหภาพโซเวียต โดยในครั้งนั้นโซเวียตได้เข้ามาแทรกแซงรอบที่สอง เพราะรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเชโกสโลวาเกียเริ่มมีท่าทีผ่อนปรนมาตรการเซ็นเซอร์ ส่งผลให้ประชาชนเริ่มกลับมาแสดงความคิดเห็นได้อิสระมากขึ้น นั้นทำให้โซเวียตกลัวว่าประเทศอื่นที่ยังอยู่ใต้ปีกจะแข็งข้อตามหากเชโกสโลวาเกียเดินไปในทิศทางนี้ เหตุการณ์นี้ทำให้งานของฮราบัลยิ่งต้องลงไปใต้ดิน จนอีกเกือบทศวรรษถัดมา ในปี 1976 ที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น งานของฮราบัล(ที่ถูกเลือกบางงาน) จึงได้เฉิดฉายในประเทศ ดื่มด่ำกับความรู้สึกนั้นก่อนจะเสียชีวิตจากการพลัดตกลงมาจากหน้าต่างชั้น 5 ขณะกำลังพยายามให้อาหารนกในปี 1997 ขณะที่ประเทศเชโกสโลวาเกียแยกออกเป็นสองประเทศ คือเช็กเกีย และสโลวาเกียมาได้ 3 ปี
ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน
ภาพที่ 2 หนังสือความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน
คราวนี้เรามาป้ายยางานของฮราบัลกันดีกว่า ในเรื่องความเปลี่ยวดายอันกึกก้องกินต้านที่แอดได้อ่าน แอบให้กลิ่นแบบงานของจอร์จ ออร์เวลล์นิดๆ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับพาให้อารมณ์ตึงจนขาดผึงท้ายเรื่องนะ กลับออกแนวเล่าเนิบๆเหมือนพูดถึงชีวิตประจำวันมากกว่า
ชีวิตของตัวละครหลักก็ช่างหมองหม่น ความสุขเดียวคงเป็นการไปดื่มเบียร์พินใหญ่หลังเลิกงาน การไปเยี่ยมลุงที่เป็นญาติเพียงคนเดียว และการแอบขโมยหนังสือที่กำลังจะถูกนำไปบดอัดเป็นกองขยะรีไซเคิลกลับบ้าน ซึ่งการขโมยกลับบ้านนี้ เป็นการช่วยชีวิตหนังสือล้ำค่าที่ถูกนำมาทำลายตามนโยบายของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ขโมยกลับมาเยอะจนถึงขั้นที่ตัวละครรำพึงว่า หลายครั้งเขาเก็บไปฝันว่าชั้นวางที่โอนเอนนั้นคงรับน้ำหนักไม่ไหวจนกองหนังสือหนักหลายตันนี่คงหล่นมาทับเขาตายขณะที่นอนหลับ
นอกจากนี้ตัวละครของเขายังพยายามหาความสวยงามและสีสันในความโสมม (โสมมถึงขั้นที่แอดแนะนำว่าอย่าอ่านตอนกำลังกินข้าวเลยค่ะ เป็นห่วง 5555) เขามักจะจินตนาการว่าเขากำลังสร้างงานศิลปะจากการอัดก้อนกระดาษ บางครั้งเขาใส่ภาพพิมพ์เลียนแบบของศิลปินชื่อดังไว้เป็นลวดลายข้างนอก สอดไส้หนังสือประวัติศาสตร์ไว้ด้านในสุด สร้างให้แต่ละก้อนมีเรื่องราวของตัวเอง จนเจ้านายด่าว่าทำงานช้า
ฮราบัลสอดแทรกประสบการณ์ของตัวเองที่มองการเปลี่ยนแปลงของดินแดนบ้านเกิดลงไปในนิยาย เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นขณะนั้นๆอย่างคลุมเครือผ่านสายตาของตัวละครที่เป็นปุถุชนคนธรรมดาที่ถูดซัดสาดไปตามคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง แม้เนื้อเรื่องของเขาจะเสียดสีการใช้ชีวิตแต่ก็ไม่เคยเขียนวิจารณ์รัฐบาลตรงๆลงในงาน (เขาบอกว่าเขาไม่ขอแสดงออกอย่างชัดเจน เพราะเขารักจะเป็นนักเขียนต่อไปอย่างสงบ) แต่รัฐบาลที่แสนอ่อนไหวก็ไม่ค่อยให้เขาได้เขียนอย่างสงบเท่าไหร่ เพราะมองว่างานที่ฮราบัลเขียน แม้จะดูไม่มีอะไร แต่จริงๆแล้วแอบซ่อนความนัยอะไรไว้หรือเปล่านะ แบนไว้ก่อนแล้วกัน (แบนกันดื้อๆแบบนั้นเลย)
อย่างที่ได้อ่านกันไปแล้ว ชีวิตจริงของฮราบัลก็หม่นพอกับนิยายของเขา หรือจะบอกว่าเป็นสีหม่นๆของชีวิตจริงที่เผลอทำหกลงมาแต่งแต้มในนิยายก็ได้ หากอยากอ่านนิยายแนว Distopia ที่เต็มไปด้วยความร่วงโรยและความเปลี่ยวเหงาของสิ่งที่กำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง บอกเล่าด้วยสำนวนเสียดสี ตลกร้าย แถมได้กลิ่นและรสชาติประวัติศาสตร์แบบคลุมเครือชวนให้ไปคุ้ยอ่านต่อ เล่มนี้ตอบโจทย์ค่ะ
คำเตือนอย่างจริงจังข้อเดียวคือ ห้ามอ่านตอนกินข้าวหรือหลังกินข้าวใหม่ๆเด็ดขาดถ้าใจไม่แข็งพอ และไม่เหมาะกับคนที่เกลียดหนู หรือความสกปรกอย่างสิ้นเชิง เนื้อเรื่องมันวนเวียนอยู่กับขยะและสิ่งที่ถูกทิ้งให้ลืมอลือนอ่ะนะทุกคน เพื่อคงธีมเรื่องมันจำเป็น 555
หรือใครคิดว่าไม่ไหวกับเรื่องนี้เรามีลิสมาแปะอีกเช่นเคย ตามไปได้เลยค่ะ https://www.goodreads.com/author/show/50071.Bohumil_Hrabal
สำหรับวันนี้แอดลาไปก่อน ถ้าชอบบทความฝากกดติดตามมาเป็นเพื่อนและมาให้กำลังใจกันได้นะคะ สวัสดีค่า
โฆษณา