12 ก.ย. 2021 เวลา 06:38 • ท่องเที่ยว
อารามนามมงคล (EP.๒/๕)
“วัดชัยพระเกียรติ” ยอยศ ยอเกียรติ ชื่อลือนาม
ฐานข้อมูลจารึกบนแผ่นศิลาหน้าพระวิหารของวัด บันทึกไว้ว่าเป็นอารามเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของนครเชียง ใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพระเมกุฎิวิสุทธิวงค์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ลำดับสุดท้ายของราชวงศ์มังราย มีนามเรียกเดิมว่า “วัดผาเกียรติ” และ “วัดชัยผาเกียรติ์” ปูชนียสถานสำคัญภายในวัดได้รับการทำนุบำรุงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยตามกาลเวลามีบางส่วนผุพังและทรุดโทรม จึงได้บูรณะขึ้นใหม่เพื่อความสง่างามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
พระพุทธรูปเมืองราย หนึ่งในประจักษ์สำคัญบ่งชี้ความเป็นอารามเก่าแก่ อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มาหลายร้อยปี พระมหาจิรประภา กษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ ๑๖ สร้างถวายแด่สมเด็จพระชัยราชาธิราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา พุทธลักษณะเป็นองค์พระพุทธรูปทองสำริด ปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะผสมทองหนัก ๕ ตื้อ (ตื้อ ในความหมายของล้านนาหมายถึงน้ำหนัก (๑ ตื้อเท่ากับ ๑,๐๐๐กิโลกรัม) จึงเป็นที่มาอีกนามหนึ่งของพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระเจ้าห้าตื้อ” บริเวณฐานองค์พระด้านหน้าจารึกอักษรพม่า ฐานด้านหลังเป็นอักษรธรรมล้านนา ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายในซุ้มโขงพระวิหาร เชื่อกันว่าผู้ใดได้กราบไว้พระเจ้าห้าตื้อ จะรอดพ้นจากภัยอันตรายต่างๆ และมีชัยในสิ่งที่สมหวัง
วิหาร รูปทรงศิลปะล้านนา หลังคาลดหลั่นซ้อนชั้นประดับช่อฟ้า ใบระกา และ หางหงส์ หน้าบันไม้แกะ สลักรูปเทพพนมรายล้อมด้วยลวดลายพรรณพฤกษา ซุ้มโขงประตู-หน้าต่างประติมากรรมปูนปั้นลงรักปิดทองบนพื้นกระจกสีน้ำเงิน จิตรกรรมฝาผนังเรื่องเล่าพระเวสสันดรชาดก
อุโบสถ อาคารก่ออิฐถือปูนรูปทรงศิลปะล้านนา หลังคาลดหลั่นซ้อนชั้น หน้าบรรณไม้แกะสลักรูปกระต่ายและลวดลายพรรณพฤกษาก้านขด ซุ้มประตูหน้าต่างปูนปั้นประดับกระจกสีและไม้แกะสลัก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นองค์พระประธาน
เจดีย์ รูปทรงศิลปะลังกา ฐานเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมสูง เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นห้าชั้น รองรับองค์ระฆังทรงกลมสีทอง ส่วนยอดประดับฉัตรสีทอง องค์เจดีย์ตั้งอยู่ด้านข้างวิหารทางทิศตะวันออก (ไม่ได้ตั้งอยู่ด้านหลังวิหารตามคติการสร้างวัดแบบล้านนา)
วัดชัยพระเกียติ เป็นหนึ่งในวัดนามมงคลของเชียงใหม่ ด้วยเชื่อว่าจะช่วยเสริมเกียรติยศชื่อเสียงให้ขจรขจายราวกับนามของวัด จึงมีผู้คนเข้ามาสักการะพระเจ้าห้าตื้ออย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมๆกับเที่ยวชมความงดงามมรดกทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่เก่าแก่
ร้อยเรียง เพื่อบอกเล่า : "ปริญญ์ทิพย์ "
แนะนำข้อมูลการปรับปรุงเพิ่มเติมได้ที่ email:harnggoon@gmail.com
มือถือ/ไอดีไลน์: 089 956 8234
โฆษณา