13 ก.ย. 2021 เวลา 04:07 • การศึกษา
“สถานที่พำนักของแสตมป์ทั่วโลก”
1
สวัสดีครับ วันนี้จะพาไปเยี่ยมทิพย์ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน (Philatelic Museum)
อาคารพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงนิทรรศการ “ปลากัดไทย ใจนักสู้”
ตั้งอยู่ชั้น 2 อาคารด้านหลังที่ทำการไปรษณีย์ สามเสนใน เปิดวันพุธ - อาทิตย์ 08:30 - 16:30 (หยุด จันทร์ และอังคาร) มีที่จอดรถรอบๆ อาคาร และใต้อาคาร 2 ชั้นครับ
ถ้าไปวันเสาร์ - อาทิตย์ ด้านล่างจะมีตลาดนัดแสตมป์ ให้เลือกชม เลือกซื้อด้วยครับ
1
📌📌 หากบอกว่าเป็นเพื่อน “อาม เด็กคอน” เข้าฟรีครับ😉
1
ตู้ไปรษณีย์ใหญ่บิ๊กบึ้ม ตรงบันไดทางขึ้นพิพิธภัณฑ์
ภายในพิพิธภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
1) พื้นที่แสดงนิทรรศการถาวรและคอลเลกชันสะสม
2) พื้นที่แสดงนิทรรศการหมุนเวียน
3) พื้นที่จำหน่ายของที่ระลึก
4) ห้องสมุด ซึ่งเป็นพื้นที่พบปะระหว่างนักสะสมและผู้ที่ชื่นชอบแสตมป์ นักสะสมมือใหม่ หรือแม้แต่ ‘นักออกแบบตราไปรษณียากร’ ก็จะมามอบลายเซ็นลงบนสิ่งสะสมในวันแรกที่จำหน่ายให้กับแฟนๆ นอกจากนี้ยังมีห้องสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทยฯ ด้วยครับ
ภายในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน โดยปกติเป็นแหล่งชุมนุมของคนรักแสตมป์ คึกคักมากเป็นพิเศษในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่มีตลาดนัดแสตมป์ แม้จะดูเงียบเหงาในช่วงสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด แต่ทว่าชุมชนคนรักแสตมป์กลับใกล้ชิดและเหนียวแน่นมากกว่าเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ
กลุ่มของคนรักแสตมป์เติบโตอย่างรวดเร็วใน LINE OpenChat ที่เปิดเพียง 2 วันก็รวมคนได้ 200 กว่าคน
รวมถึงทางสื่อโซเชียลมีเดีย Facebook ที่โพสต์ข้อความ เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าที่มาพร้อมกับแสตมป์แต่ละดวง ซึ่งได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไปและกลุ่มนักสะสมหน้าใหม่ไปไม่น้อย
โดยมากแล้วนักสะสมแสตมป์จะมีอายุสี่สิบถึงห้าสิบปีขึ้นไป อีกหนึ่งภารกิจของพิพิธภัณฑ์คือการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ทำอย่างไรให้หันมาสนใจ เอาแค่สนใจก่อน ยังไม่ถึงกับต้องสะสมก็ได้
ความเป็นไปได้นี้แขวนอยู่กับชุมชนในโลกออนไลน์ขนาดใหญ่อย่าง Postcrossing (https://www.postcrossing.com) เป็นเว็บไซต์ซึ่งกระตุ้นให้ผู้คนในยุคดิจิทัลหันกลับมาส่งข้อความหากันด้วยระบบไปรษณีย์อีกครั้ง ด้วยการสุ่มหาเพื่อนทั่วโลกที่มีความชอบโปสการ์ดและเก็บสะสมแสตมป์
1
นอกจากเราจะได้เพื่อนใหม่แล้ว เรายังได้รับโปสการ์ดและแสตมป์จากเพื่อนๆ ในประเทศอื่น ในรูปแบบและลวดลายที่เราชื่นชอบหรือกำลังสะสมอยู่ โดยการเขียนบอกเล่าในหน้าแนะนำตัว เช่น เราชอบดอกไม้ เราชอบแมว เพื่อนจากต่างประเทศก็อาจจะไปตามหาโปสการ์ดรูปดอกไม้ แสตมป์รูปแมว และส่งมาให้เรา และเราก็ส่งโปสการ์ดแบบที่อีกฝ่ายหนึ่งชอบ นำมาแลกเปลี่ยนกัน เราว่ามันเป็นการเก็บความรู้สึกในรูปแบบพิเศษมากที่เกือบจะหายไปแล้วในโลกปัจจุบัน
นิทรรศการถาวร ที่เป็นไฮไลท์ คือ แสตมป์ The Penny Black เรียกว่าเป็นไฮไลต์ที่ควรค่าแก่มาชม เช่นเดียวกับ ‘ตู้ทิ้งหนังสือ’ หรือตู้ไปรษณีย์สีแดงเก่าแก่ ทรงสี่เหลี่ยม หล่อด้วยเหล็กทั้งชิ้น เป็นของขวัญจากประเทศเยอรมนีที่ส่งมอบให้ประเทศไทยใน พ.ศ. 2426 และที่พลาดไม่ได้คือ ‘แสตมป์โสฬศ’ แสตมป์ดวงแรกของไทย ปรากฏภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) นำออกใช้งานในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 เป็นวันเดียวกันกับการเปิดกิจการไปรษณีย์ขึ้นเป็นครั้งแรก
แสตมป์ชุดแรกของไทย และของโลก
ตู้ทิ้งหนังสือ ของขวัญจากเยอรมนี
ภายในพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน ยังรวบรวมตราไปรษณียากรที่จัดพิมพ์ด้วยเทคนิคพิเศษ เช่น การผนึกผิวผ้าถักโครเชต์ลงบนแสตมป์ที่พิมพ์ไว้แล้ว หรือการพิมพ์เคลือบสารเคมีเทอร์โมโครมิก ที่มีคุณสมบัติเปลี่ยนสีได้เมื่ออุณหภูมิของสารเปลี่ยนไป
ในส่วนนี้ที่นำมาจัดแสดงให้ชม คือ ชุดแสตมป์สุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อใช้นิ้วกดลงไปที่แสตมป์ ภาพเงาทึบจะเปลี่ยนให้เห็นพื้นผิวของดวงจันทร์ หรือจะเป็นแสตมป์พิมพ์ปั๊มนูนเป็นอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา และแสตมป์รูปทรงอื่นๆ ที่ไม่ได้จำกัดหรือจำเจอยู่ที่สี่เหลี่ยม เราจะได้พบกับแสตมป์วงกลม รูปหัวใจ สามเหลี่ยม หกเหลี่ยม เจ็ดเหลี่ยม!
1
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงตราไปรษณียากรกว่า 200 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งหมวดหมู่ออกเป็นทวีปต่างๆให้เราก้มลงมองที่พื้นภายในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ จะพบ “เส้นสี” นำทางให้ผู้ชมเดินไปยังแผนที่โลก ซึ่งกางออกเป็นแนวระนาบ จากนั้นเมื่อเดินไปตามเส้นทางต่างๆ ก็จะพบกับตู้เก็บแสตมป์ของแต่ละทวีป เมื่อดึงออกมาจะเจอกับข้อมูลเบื้องต้นของประเทศ และแสตมป์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
“อะไรก็ตามที่มีน้อย ย่อมเป็นที่ต้องการมากของผู้คน แสตมป์ถูกผลิตขึ้นมาในช่วงเวลาหนึ่ง หมดแล้วหมดเลย ทำเพิ่มไม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไปยิ่งมีคุณค่า ถ้าได้ศึกษาลึกซึ้งจะรู้ว่าแสตมป์เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ และสะท้อนความนิยมในแต่ละช่วงเวลา เราแยกประวัติศาตร์ออกจากแสตมป์ไม่ได้เลย”
1
“เรื่องเล่าของแสตมป์ เล่าร้อยปีก็ไม่หมด”
ไม่ว่าจะเป็นแสตมป์ในฐานะภาพบันทึกประวัติศาสตร์ แสตมป์ในฐานะทูตวัฒนธรรม หรือเรื่องที่คาดไม่ถึงอย่างแสตมป์ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่มีถึง 3 สกุลเงินในแสตมป์ชุดเดียว ได้แก่ สกุลเงินฟรังก์สวิส ดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโร นำไปสู่การออกแบบแสตมป์ที่ผูกโยงประเด็นสำคัญระดับโลก ทั้งเรื่องสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ การเรียกร้องสิทธิมนุษยชน เรียกได้ว่าแสตมป์กำลังย้ำเตือนคำมั่นสัญญาที่เหล่าประเทศสมาชิกมีร่วมกัน เป็นต้น
1
เครื่องไม้เครื่องมือในกิจการไปรษณีย์
ส่วนด้านหลังของห้องจัดแสดง มีการจัดแสดงอุปกรณ์ในกิจการไปรษณีย์ อาทิ ตราชั่งโบราณ เครื่องปรุฟันแสตมป์ ตู้ไปรษณีย์แบบแขวนในสมัยรัชกาลที่ 5 และตู้ไปรษณีย์โลหะผลิตจากประเทศฝรั่งเศส หากเดินอ้อมย้อนกลับมายังด้านหน้า ริมผนังรอบห้องจัดแสดงเรื่องราวกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทย นับแต่ไทยยังต้องพึ่งพิงสถานกงสุลอังกฤษเป็นหลัก กระทั่งปฐมบทแห่งการเริ่มต้นจัดตั้งไปรษณีย์แห่งสยาม ต่อเนื่องมาถึงการเปิด ‘ไปรสนียาคาร’ หรือ ที่ทำการไปรษณีย์ที่ 1
โมเดลจำลอง “ไปรสนียาคาร”
ภาพไปรสนียาคารในอดีต และปัจจุบัน
ไฮไลต์อีกอย่างคือ ทางพิพิธภัณฑ์ได้รับมอบโมเดลจำลองไปรสนียาคารในมาตราส่วน 1 : 75 จาก กสทช. ให้นำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ นับเป็นอนุสรณ์สถานแห่งกาลเวลาที่จะพาเราย้อนกลับไปชื่นชมที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของสยาม ปัจจุบันอาคารดังกล่าวถูกทุบทิ้งเพื่อเปิดทางสร้างสะพานพระปกเกล้า เชื่อว่าน้อยคนที่จะทราบประวัติในเรื่องนี้ โมเดลจำลองจึงเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด
“นักเดินทางตัวเบา”
ถ้าเปรียบแสตมป์เป็นนักเดินทาง เขาคงแบกสัมภาระของดีจากบ้านเกิดมาแบบเกินน้ำหนักที่จะขนขึ้นเครื่องบิน เพราะมีทั้งสถานที่สำคัญ รูปเขียนวิวทิวทัศน์ ภาพเหมือนของบุคคลสำคัญ ดอกไม้นานาชนิด อาหารท้องถิ่น เครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี สิ่งประดิษฐ์ เรียกว่าถ้านักเดินทางผู้นี้ได้เจอกับเพื่อนใหม่ เขาคงอยากแนะนำตัวด้วยภาษาภาพที่ไม่ต้องการคำพูดมากนัก แต่บรรยายเรื่องราวได้ร้อยพัน นักเดินทางกระดาษใบเล็กๆ เหล่านี้ไม่ได้ปลิวไปไหน แต่กำลังรอให้ผู้คนเดินทางมาสัมผัส เรียนรู้ และมองเห็นด้วยสายตาของคุณเอง
มุมจำหน่ายสิ่งสะสม (แวะทุกครั้งที่ไปเยือน)
หากมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียนพิพิธภัณฑ์ อย่าลืมแวะมุมจำหน่ายสิ่งสะสม นอกจากแสตมป์ ยังมีของที่ระลึกเกี่ยวกับการไปรษณีย์ให้ติดไม้ติดมือกลับด้วยครับ
ตู้ไปรษณีย์จำลอง
ตลาดนัดแสตมป์ ชั้นล่างพิพิธภัณฑ์ มีวันเสาร์ อาทิตย์
“แสตมป์” รับบทเป็นตัวแทนความรู้สึก เป็นของที่ระลึกจากแดนไกล ต่างจากอดีตที่มีบทบาทเป็นเพียงแค่การชำระค่าธรรมเนียมในการส่งจดหมาย หากแต่ตอนนี้แสตมป์กลายเป็นงานศิลปะขนาดเล็ก เป็นสารานุกรมขนาดจิ๋ว เป็นบานหน้าต่างเปิดสู่โลกกว้าง ที่โอบกอดความรู้สึกของผู้ส่ง จากอดีตที่ทิ้งห้วงระยะเวลา จนกระทั่งซองจดหมายหรือโปสการ์ดจะเดินทางมาถึงมือผู้รับ
แม้ว่าหน้าที่การใช้งานจะน้อยลง แต่ยังมีคนรุ่นหลังที่ยังนิยมการสะสมแสตมป์ แสตมป์เลยยังไม่หายไป แค่เปลี่ยนหน้าที่ บทบาท ไปตามยุคสมัย แนวคิดคือ การเอาแสตมป์กลับมาอยู่ในชีวิตประจำวัน คงคุณค่าในการใช้งานและในการสะสมได้ด้วย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา