12 ก.ย. 2021 เวลา 07:33 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เงินเฟ้อ และ การล่มสลายของสกุลเงิน
2
เงิน 1 บาทในวันนี้ กับเงิน 1 บาทในอนาคต มีมูลค่าเท่ากันไหมครับ? หากใครคุ้นเคยกับคำว่า “Time value of money” ก็น่าจะตอบคำถามนี้ได้ ว่าเงินในแต่ละช่วงเวลานั้นมีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งโดยปกติแล้วเงินในปัจจุบันจะมีค่ามากกว่าเงินในอนาคต
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? คำถามนี้อาจจะตอบได้ว่า เพราะโลกมีสิ่งที่เรียกว่า “เงินเฟ้อ” (Inflation) นั่นเอง เงินเฟ้อนั้นทำให้อำนาจการซื้อ (Purchasing power) ของสกุลเงินนั้นลดลง หรือพูดง่ายๆว่าทำให้เงินเสื่อมค่าไปตามกาลเวลานั่นเอง
อัตราเงินเฟ้อในระดับปกติเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกับมันและมองว่ามันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วครับ แต่ก็มีหลายกรณีที่อัตราเงินเฟ้อนั้นพุ่งสูงจนเกินควบคุม จนทำให้เกิดภาวะ “Hyperinflation” ซึ่งทำให้เงินเสื่อมค่าอย่างรวดเร็วเกินไปและมักจะนำไปสู่การล่มสลายของสกุลเงินนั้น
บทความนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และสกุลเงินที่ “เคยมีอยู่” แต่มันพังไปแล้วเนื่องจาก Hyperinflation ผมจะเล่าให้ฟังภายใน 5 นาทีครับ
📌ทำไมถึงมีเงินเฟ้อ?
สมมติว่ามีหมู่บ้านบนเกาะแห่งหนึ่งที่ใช้ “เปลือกหอย” ไว้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแทนเงิน แต่ละบ้านต่างก็ซื้อขายของด้วยเปลือกหอย มีการเก็บออมด้วยเปลือกหอยกัน
โดยทุกๆวันจะมีคลื่นซัดเศษเปลือกหอยขึ้นมาบนชายหาดอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งนั่นทำให้หมู่บ้านนี้มีปริมาณเปลือกหอยรวมเพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน การที่มี money supply เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดนั้นทำให้เปลือกหอยแต่ละชิ้นมีมูลค่าลดลง
ในภาวะแบบนี้คนในหมู่บ้านก็ได้แต่ขึ้นราคาสินค้ากันไปเรื่อยๆให้สอดคล้องกับปริมาณเปลือกหอยรวมของทั้งหมู่บ้าน แต่ละบ้านก็เก็บออมเปลือกหอยกันได้เยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะรวย เพราะมูลค่าเปลือกหอยแต่ละชิ้นนั้นลดลง
สถานการณ์แบบนี้เทียบได้กับโลกปัจจุบัน ที่มีการพิมพ์เงินเข้ามาในระบบเรื่อยๆ จึงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเมื่อ 20 ปีที่แล้วก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ 15 บาท และเงิน 1 บาทในอนาคต มีค่าน้อยกว่าเงิน 1 บาทในปัจจุบันนั่นเอง
📌ทำไมถึงเกิดภาวะ Hyperinflation?
การที่มีเงินเฟ้อในระดับอ่อนๆ อาจยังไม่ได้ส่งผลร้ายสักเท่าไร แต่ในความเป็นจริง การควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับพอเหมาะก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้าหากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมากๆ หายนะทางการเงินก็จะเกิดได้
ลองย้อนกลับไปที่หมู่บ้านบนเกาะ สมมติว่าอยู่มาวันหนึ่งเกิดภัยธรรมชาติอย่างสึนามิ แล้วมีเปลือกหอยจำนวนมหาศาลถูกซัดขึ้นมาที่หมู่บ้านนี้ เหตุการณ์แบบนี้จะทำให้เปลือกหอยเป็นสิ่งไร้ค่าไปพริบตา
เพราะมันเท่ากับการอัดฉีดเงินอย่างบ้าคลั่งเข้าไปในระบบ จนมูลค่าของเงินแทบไม่เหลือ ภาวะนี้เรียกว่า Hyperinflation นั่นเอง ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็เคยเกิดมาแล้วในหลายประเทศ ตลอดประวัติศาสตร์ คราวนี้มาลองดูเหตุการณ์จริงกันบ้างนะครับ
📌สกุลเงิน Zimbabwean dollar (ZWD) ประเทศซิมบับเว (1987-2009)
หลังจากหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี 1980 ซิมบับเวก็กลายเป็นประเทศที่ต้องปกครองตนเอง แรกเริ่มนั้นทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้ดี ประชาชนเริ่มยกระดับคุณภาพชีวิตกันได้
1
จนในปี 1987 โรเบิร์ต มูกาเบ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาได้รวบอำนาจเข้าสู่ตัวเอง แต่มีการออกนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดอย่างการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจและการเกษตรของประเทศเริ่มจะพัง ผลผลิตมวลรวมลดลง เศรษฐกิจซบเซา
ซิมบับเวเริ่มมีการกู้หนี้ IMF เพื่อมาบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ทุกอย่างก็ยังไม่ดีขึ้น หลังจากนั้นธนาคารกลางซิมบับเวได้เลือกใช้การพิมพ์เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และใช้หนี้ IMF
การพิมพ์เงินแต่ละครั้งนั้นมีปริมาณมหาศาล และเกิดครั้งแล้วครั้งเล่าเหมือนสึนามิที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุด
จนมาในปี 2007 อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปถึงหลักพันถึงหลักหมื่นเปอร์เซ็นต์ แต่ธนาคารกลางก็ยังคงไม่หยุดพิมพ์เงิน จนในช่วงพีคสุดๆในปี 2008 อัตราเงินเฟ้อพุ่งไปแตะหลัก “ร้อยล้านเปอร์เซ็นต์”
1
จนในที่สุดคนก็ไม่สนใจมูลค่าของเศษกระดาษที่ชื่อว่า Zimbabwean dollar กันแล้ว เริ่มมีการใช้ถั่วลิสงแทนเงิน สุดท้ายแล้วรัฐบาลก็ต้องประกาศยกเลิกการใช้สกุลเงินนี้ไป ยอมรับการใช้สกุลเงินของต่างประเทศ แล้วปล่อยให้เศรษฐกิจซ่อมแซมตัวเอง
2
📌สกุลเงิน Bolivar (VEF) ประเทศเวเนซูเอลา (2003-2017)
1
เวเนซูเอลาเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมัน ในยุคอุตสาหกรรมเข้มข้นในช่วงทศวรรษก่อนๆ น้ำมันเป็นสิ่งล้ำค่ายิ่งกว่าอะไร และนั่นทำให้เวเนซูเอลาร่ำรวยขึ้นมาได้ เศรษฐกิจของประเทศกว่า 95% ขึ้นอยู่กับน้ำมัน
1
นอกจากนั้นเวเนซูเอลายังเป็นประเทศสังคมนิยมเต็มขั้น มีนโยบายประชานิยมอย่างการสนับสนุนราคาสินค้าอุปโภคบริโภค การแจกเงินและสวัสดิการที่เกินพอดี
และเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ราคาน้ำมันตกต่ำอย่างรุนแรงในปี 2016 รายได้ของประเทศก็ลดฮวบทันที แต่ค่าใช้จ่ายเพื่อนโยบายประชานิยมไม่ได้ลดลงตาม เวเนซูเอลาจึงเลือกที่จะพิมพ์เงินเข้ามาใช้จ่ายเพิ่ม
1
ผลที่เกิดคือเงินเฟ้อที่เริ่มจะรุนแรง เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้น แต่รัฐก็ยังแก้ปัญหาด้วยการแจกเงินให้ประชาชนไปเรื่อยๆ ทำให้ปัญหาเป็นเหมือนงูกินหาง ที่ขยายผลกระทบไปอย่างไม่รู้จบ
ในช่วงพีคๆอัตราเงินเฟ้อของ Bolivar ขึ้นไปถึง 18000% และเช่นเคย เงินก็กลายเป็นแค่เศษกระดาษ ประชาชนเริ่มเปลี่ยนมาใช้การแลกเปลี่ยนสิ่งของกันโดยตรงแทน
1
การ Spoil ประเทศมาอย่างยาวนานด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่ฝืนธรรมชาติของรัฐบาล ทำให้เมื่อเกิด Economic shock แรงๆ แล้วประชาชนต้องตื่นจากฝันเพื่อมาพบว่าเงินของพวกเขาไร้ค่า และประเทศของพวกเขาไม่มีความสามารถในการสร้าง productivity อะไรอื่นเลย
📌คำเตือน : ห้ามใช้ยาเกินขนาด
การพิมพ์เงินเป็นเหมือนยาวิเศษที่ช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจได้หลายอย่างครับ ทั้งสร้างความเชื่อมั่น พยุงราคาสินทรัพย์ กระตุ้นการใช้จ่าย การจ้างงาน บรรเทาปัญหาหนี้ ป้องกันวิกฤตทางสังคม
1
แต่ยาวิเศษนี้ก็มีผลข้างเคียงเช่นกัน หากมีการพิมพ์เงินอย่างต่อเนื่อง เหมือนที่ประเทศใหญ่ๆกำลังทำอยู่ทุกวันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเงินจะเฟ้อไปเรื่อยๆ สินค้าจะค่อยๆแพงขึ้น ความเหลื่อมล้ำจะมากขึ้น
แต่ถ้าถึงจุดหนึ่ง หากมีการพิมพ์เงินมากเกินไป เทียบได้กับการใช้ยาเกินขนาด ผลที่เกิดขึ้นก็คงหนีไม่พ้นภาวะ Hyperinflation และตามมาด้วยการล่มสลายของสกุลเงินและระบบเศรษฐกิจ อย่างที่เราเคยได้เห็นกันแล้วในหลายประเทศนั่นเอง
2
โฆษณา