13 ก.ย. 2021 เวลา 01:31 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เลือดแข็งตัวได้อย่างไร ?
(เรียบเรียงโดย ดร.มิติ เจียรพันธุ์)
เลือดของมนุษย์เป็นของเหลวสีแดงที่ประกอบด้วยเซลล์และสารหลายชนิด
- บ้างทำหน้าที่เป็นผู้ส่งออกซิเจนไปให้เซลล์ต่างๆ
-บ้างเป็นกองกำลังที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคจากภายนอก
- และมีบางส่วนเป็นเหมือนหมอพยาบาลที่คอยสมานแผลด้วยการแข็งตัวของเลือด (Blood Clotting) ซึ่งการทำงานส่วนนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอย่างอื่น เพราะมันช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายเสียเลือดมากเกินไป และป้องกันมิให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย กลไกการแข็งตัวของเลือดนี้พบได้ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและไม่มีกระดูกสันหลัง
ในเลือดของมนุษย์มีเซลล์อยู่ 3 ชนิด
คือ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งเกล็ดเลือดนี้เองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
2
กระบวนการสร้างร่างแหเพื่อห้ามเลือด ที่มา : https://www.merckmanuals.com/home/blood-disorders/blood-clotting-process/how-blood-clots
เมื่อเกิดแผล เกล็ดเลือดจะทำหน้าที่ไปกระตุ้นโปรตีนที่เกี่ยวข้องเป็นทอดๆ ทั้งทรอมบิน (thrombin) ไฟบริน (fibrin) และแฟคเตอร์ซึ่งทั้งหมดจะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างร่างแหขึ้นมาห้ามเลือด
Giulio Bizzozero ที่มา : Wikipedia
ในปี ค.ศ. 1882 แพทย์ชาวอิตาเลียนชื่อ Giulio Bizzozero เป็นคนแรกที่กล่าวถึงหน้าที่ของเกล็ดเลือด ถัดมาในปี ค.ศ. 1905 Paul Morawitz นักสรีรศาสตร์ศึกษาและเชื่อมโยงกลไกการแข็งตัวของเลือด รวมทั้งค้นพบแฟคเตอร์ในกระบวนการนี้
โรคเลือดไหลไม่หยุดหรือฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) ที่มา : Wikipedia
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีแฟคเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดถึง 13 ชนิด แฟคเตอร์เหล่านี้จะใช้เลขโรมันระบุในชื่อ เช่น แฟคเตอร์ตัวที่ 9 ก็เป็น Factor IX
แฟคเตอร์ 9 นี้เรียกอีกชื่อว่า คริสต์มาสแฟคเตอร์ (Christmas factor) ค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1962 ตั้งชื่อตาม Stephen Christmas ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ขาดแฟคเตอร์ดังกล่าว
โรคเลือดไหลไม่หยุดหรือฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) ที่มา : Wikipedia
โรคเลือดไหลไม่หยุดหรือฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) เป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมซึ่งเกิดจากการขาดแฟคเตอร์บางตัวไป สำหรับผู้ที่ขาดแฟคเตอร์ 9 จัดเป็นฮีโมฟีเลีย บี (Hemophilia B)
กลไกการแข็งตัวของเลือดจะเกิดขึ้นเมื่อมีเลือดไหล แล้วสัตว์กินเลือดอย่างยุง ปลิง และค้างคาวดูดเลือดจะทำอย่างไร?
ยุงลาย ที่มา : Wikipedia
น้ำลายยุงจะมีฤทธิ์ยับยั้งทรอมบินและแฟคเตอร์ 10a (Factor Xa) เลือดจึงไม่จับตัวจนอุดตันที่ปากยุง ส่วนปลิงดูดเลือดก็ทำให้เลือดไม่จับตัวด้วยสาร hirudin ยับยั้งทรอมบิน
ค้างคาวดูดเลือด หรือค้างคาวแวมไพร์ (Vampire bat) ที่มา : Wikipedia
ส่วนค้างคาวดูดเลือด หรือค้างคาวแวมไพร์ (Vampire bat) ที่กัดเหยื่อแล้วเลียเลือดที่หยดออกมา (ไม่ได้ดูดเลือดอย่างแวมไพร์ในนิยายหรือภาพยนตร์) น้ำลายของค้างคาวนี้มีโปรตีนชื่อ ดราคูลิน (Draculin) ที่ยับยั้งการทำงานของแฟคเตอร์ 10 (Factor X) ทำให้เลือดไม่หยุดไหล
สารป้องกันการแข็งตัวของเลือดเหล่านี้ไม่ได้เป็นประโยชน์กับสัตว์เท่านั้น แต่เราสามารถนำความรู้เกี่ยวกับกลไกการแข็งตัวของเลือดและการยับยั้ง รวมทั้งสารจากสัตว์เหล่านี้มาเป็นกุญแจในการช่วยเหลือผู้ป่วยจากโรคบางโรค เช่น หลอดเลือดสมองอุดตัน ได้ด้วย
โฆษณา