13 ก.ย. 2021 เวลา 07:22 • สุขภาพ
การศึกษาไทยยืนยัน ประหยัดวัคซีนได้ 5-10 เท่า ถ้าฉีดเข้าผิวหนังแทนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยได้ภูมิคุ้มกันเท่าเทียมกัน
จากสถานการณ์ขาดแคลนวัคซีนโควิดทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่สามารถผลิตวัคซีนเป็นของตนเองได้
ส่วนใหญ่จะมีวัคซีนไม่พอให้ฉีด แต่หลายประเทศมีวัคซีนในภาพรวมเพียงพอ แต่ประชาชนไม่ต้องการฉีดแต่อยากฉีดวัคซีนของอีกบริษัทหนึ่งที่มีไม่เพียงพอแทน
ทำให้เกิดปัญหา ในการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรโดยเร็ว
การแก้ปัญหาดังกล่าว นอกจากจะเร่งผลิตหรือจัดซื้อจัดหาวัคซีนมาให้เพียงพอกับความต้องการโดยเร็วแล้ว การใช้เข็มชนิดพิเศษที่ทำให้ฉีดวัคซีนได้จำนวนมากขึ้นก็เป็นวิธีที่น่าสนใจ
รวมทั้งวิธีการฉีดวัคซีนเข้าผิวหนัง (ID : Intradermal) แทนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IM : Intramuscular) ก็จะทำให้สามารถครอบคลุมการฉีดวัคซีนได้ดีขึ้นมาก
เพราะใช้วัคซีนน้อยกว่า 5-10 เท่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ วัคซีนปริมาณเท่ากัน แต่ฉีดให้ประชาชนได้มากขึ้น 5-10 เท่าตัว
มีรายงานในต่างประเทศ ถึงการศึกษาการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังว่า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ขึ้นสูง ได้เทียบเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เช่น ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ใช้วัคซีนเทคโนโลยี mRNA ของ Moderna
1
หลายภาคส่วน อยากทราบว่าถ้าเป็นการฉีดในคนไทย โดยบุคลากรไทยเป็นผู้ฉีด และเป็นวัคซีนที่ไทยใช้เป็นหลักอยู่ในปัจจุบัน จะยังได้ผลดีเหมือนการศึกษาในต่างประเทศหรือไม่
ขณะนี้ได้มีรายงานการศึกษาของไทยเราเอง ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
พบว่าการฉีดกระตุ้นเข็มที่สามด้วยวัคซีนไวรัสเป็นพาหะ (AstraZeneca) ตามหลังการฉีดวัคซีนเชื้อตาย (Sinovac) สองเข็ม
1
โดยเปรียบเทียบวิธีการฉีดตามมาตรฐานเดิมคือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ กับวิธีการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง พบว่าได้ภูมิคุ้มกันสูงเท่ากัน
1
แต่ประหยัดวัคซีนได้มาก 5-10 เท่า และการฉีดแบบใหม่เข้าชั้นผิวหนังจะพบผลข้างเคียงแบบทั่วไปลดลงอย่างมาก โดยมีผื่นหรือการเจ็บปวดเฉพาะตำแหน่งที่ฉีดมากกว่า
การวิจัยเก็บข้อมูลครั้งนี้ ใช้อาสาสมัคร 242 คน โดยทั้งหมดได้ผ่านการฉีดวัคซีน Sinovac สองเข็มมาแล้วมากกว่าสี่สัปดาห์ และได้ทำการตรวจก่อนฉีดเข็มสามว่าไม่มีการติดเชื้อ
โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มที่หนึ่ง ฉีดด้วยวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ พบว่าระดับภูมิคุ้มกันขึ้นจาก 330 เป็น 17,214 AU/ml
ในขณะที่วิธีฉีดแบบใหม่คือ ฉีดเข้าผิวหนัง ภูมิคุ้มกันขึ้นจาก 366 เป็น 17,662 AU/ml ซึ่งถือว่าระดับภูมิคุ้มกันสูงเทียบเท่ากัน
2
และยังพบต่อไปว่า การฉีดแบบใหม่คือ เข้าชั้นผิวหนัง จะพบผลข้างเคียงแบบทั่วไปน้อยกว่า คือพบเพียง 70 ราย เมื่อเทียบกับฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 98 ราย
แต่จะพบผลข้างเคียงเฉพาะที่
มากกว่าคือ 39 รายต่อ 13 ราย โดยอาการที่พบเฉพาะที่ได้แก่ ปวดบวมแดง หรือมีผื่นตำแหน่งที่ฉีด
จึงเป็นการศึกษาของไทยเราเอง ที่ยืนยันการศึกษาของต่างประเทศว่า การฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนัง ได้ระดับภูมิคุ้มกันเทียบเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่ประหยัดวัคซีนมากกว่า 5-10 เท่า
ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญ นำไปใช้ประกอบการวางนโยบายการฉีดวัคซีนในระดับประเทศ ให้เกิดการครอบคลุมที่เร็วที่สุด ภายใต้สถานการณ์วัคซีนที่มีจำกัดยังไม่เพียงพอในปัจจุบัน
2
Reference
โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
โฆษณา