16 ก.ย. 2021 เวลา 14:02 • หนังสือ
Think like a freak : คิดพิลึกแบบนักเศรษฐศาสตร์
จากชื่อหนังสือแน่นอนคิดแบบธรรมดาโลกไม่จำ เล่มนี้จะพาคุณมาลองคิดแบบขวางโลก! เมื่อได้อ่านแล้วคุณจะพบว่าความคิดประหลาดเหล่านี้สามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างน่าทึ่ง
ผู้แต่งจะพาคุณไปสำรวจวิธีคิดที่คนส่วนใหญ่มองว่าไร้เหตุผล ไม่เข้าท่า หรือถึงขั้นพิลึกแต่ดันให้ผลลัพธ์ที่น่าอัศจรรย์ เพราะวิธีคิดเหล่านั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานเศรษฐศาสตร์
ก่อนอื่น อยากให้ลองตอบคำถามเหล่านี้ดู
ภาพจากหนังสือ Think like a freak
และแน่นอนเฉลยคำตอบของข้อหนึ่งคือสีแดง ข้อสองคือไม่ใช่ และ คำตอบสำหรับข้อสามและข้อสี่ไม่ใช่คำถามที่เราจะสามารถตอบได้เพราะข้อมูลมีไม่มากพอ แต่เด็กๆชาวอังกฤษวัย 5-9 ขวบ จำนวน 76% กลับตอบคำถามสองข้อนี้โดยบอกว่าใช่หรือไม่ใช่
หากเป็นการแสร้งรู้คำตอบของคำถามเหล่านี้ก็น่าเป็นกังวลเพราะเด็กๆเหล่านี้อาจจะโตไปทำงานอยู่ในแวดวงธุรกิจ หรือนักการเมืองในอนาคต อย่างการที่นักการเมืองมั่นใจในคำตอบผิดๆอาจทำประเทศหายนะเลยนะ (ต่อมาได้มีการทดลองต่อยอดโดยสอนว่าหากไม่รู้คำตอบให้ตอบว่าไม่รู้ พบว่าเด็กสามารถตอบคำถามได้ดีขึ้นหลังจากนั้น)
ปัญหาในโลกความจริงนั้นตอบยากยิ่งกว่า จากงานวิจัยโดยคำถามง่ายๆนี้ให้คำตอบกับเราว่า มีอีกหลายคนที่ตัดสินไปเลยว่าสิ่งนี้ถูก สิ่งนี้ผิด (กับเรื่องที่ยังไม่มี fact) ซึ่งหากเราตัดสินใจว่าเรื่องนี้มันถูกหรือผิดไปแล้วแน่นอนส่วนมากก็มักจะไม่หาข้อมูลเพิ่มต่อ
และความคิดสามารถโน้มน้าวได้ง่าย หากคนนึงบอกว่าสิ่งนี้ใช่ ก็มีแนวโน้มที่คนต่อๆมาจะตอบว่าใช่ตามกันมา
ดังนั้นการที่เรารู้จักว่าตนเองว่าไม่รู้จะช่วยให้เราพยายามค้นหาคำตอบและลองคิดอย่างมีเหตุผล (หากรู้ว่าตน"ไม่รู้"แล้วต้องพยายามหาคำตอบด้วยนะ อย่าใช้คำว่าไม่รู้เพื่อหนีปัญหา 555)
เอาล่ะ ในเล่มนี้จะให้คำตอบพิลึกๆกับคุณ เช่น
- เราควรจะซื้อหุ้นตามบทวิเคราะห์คาดการณ์ราคาหุ้นหรือไม่
- การอนุญาตให้ทำแท้งโดยถูกกฎหมายช่วยลดอาชญากรรมได้อย่างไร
- รอยแผลจากการล่าอาณานิคมส่งผลกระทบระยะยาวมาจนถึงปัจจุบันอย่างไร
- รัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่ดีจริงๆหรือไม่
- ทำไมการเลิกตั้งเป้าหมายทำให้คุณประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น
เล่มนี้ไม่ได้ยกแต่ประเด็นต่างๆมาเล่าให้ฟัง แต่ยังค่อยๆแสดงให้เห็นว่าการคิดเล็ก(คิดแบบเด็กมีความช่างสงสัย)ดีกว่าการคิดใหญ่อย่างไร เพราะว่าปัญหาใหญ่มักเกิดจากปัญหาเล็กๆรวมกัน ดังนั้นหากเราโฟกัสเริ่มต้นแก้ไขปัญหาเล็กๆมักจะประสบความสำเร็จมากกว่า
อีกบทนึงที่ชอบมากๆ คือการกล่าวถึง ข้อดีของการการยอมแพ้
หลายๆคนกลัวที่จะยอมแพ้ เพราะการยอมแพ้เป็นเรื่องยาก
ปัจจัยอย่างน้อย 3 อย่างที่ทำให้เรามีอคติต่อการยอมแพ้ ประกอบด้วย
1. กลัวถูกมองว่าล้มเหลว
2. กลัวว่าสิ่งที่ทุ่มเทไปจะเสียเปล่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าต้นทุนจม (sunk-cost fallacy)
3. ให้ความสำคัญกับต้นทุนที่เป็นรูปธรรมมากกว่าต้นทุนค่าเสียโอกาส
ต้นทุนค่าเสียโอกาสคือการที่เราทุ่มเทไปกับสิ่งหนึ่งโดยใช้ทั้งเงิน แรงกาย แรงใจ คุณย่อมพลาดโอกาสที่จะนำมันไปใช้กับสิ่งอื่นที่อาจทำให้เราประสบความสำเร็จมากกว่า
การยอมแพ้คือแก่นแท้ของการคิดพิลึก อย่ากลัวที่จะยอมแพ้เพราะต้นทุนค่าเสียโอกาสอาจสูงกว่านั้น หากไม่ชอบคำว่ายอมแพ้ลองมองว่ามันคือการปล่อยวางจากสิ่งที่เหนี่ยวรั้งเรา เพื่อให้เราได้เริ่มต้นใหม่
หนังสือเล่มนี้จะพาเราเปิดมุมมอง สิ่งที่เราคิดว่ามันถูกต้องมาโดยตลอดบางทีเราอาจจะคิดผิดไป..
โฆษณา