17 ก.ย. 2021 เวลา 02:14 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ “เอทีเอ็ม (ATM)”
1
“เอทีเอ็ม (ATM)” หรือภาษาไทยคือ “เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ” คือสิ่งที่หลายคนน่าจะต้องคุ้นเคยและใช้เป็นประจำทุกวัน
อันที่จริง เอทีเอ็มนี้เป็นประดิษฐกรรมที่เกิดจากการจับสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ มาผสมกัน
ในทุกวันนี้ เอทีเอ็มสามารถทำได้เกือบทุกอย่าง และเป็นสิ่งที่แทบทุกคนต้องใช้ในทุกๆ วัน
หลายคนเชื่อว่าเอทีเอ็มเครื่องแรก คือประดิษฐกรรมฝีมือของนักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวอเมริกันที่ชื่อ “ลูเทอร์ ซิมเจี้ยน (Luther Simjian)”
ซิมเจี้ยนนั้นมีสิ่งประดิษฐ์ที่จดสิทธิบัตรหลายชิ้น หากแต่สิ่งประดิษฐ์ที่โด่งดังของเขาคือ “Bankograph” ซึ่งเป็นเครื่องที่สามารถรับเงินและเช็คเงินฝากได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ลูเทอร์ ซิมเจี้ยน (Luther Simjian)
ในปีค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) ซิมเจี้ยนได้โน้มน้าวให้ธนาคารในนิวยอร์กลองใช้เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติของตน และเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าเงินของตนนั้นปลอดภัย ในเครื่อง Bankograph จะมีกล้องไมโครฟิล์มติดอยู่ภายใน และถ่ายภาพเงินฝากของลูกค้า และลูกค้าก็จะได้รับภาพถ่ายนั้นในฐานะของใบเสร็จ หรือหลักฐานการเงิน
1
แต่ในช่วงแรก Bankograph ก็ไม่ได้รับความนิยม โดยซิมเจี้ยนได้อธิบายว่า ในช่วงแรก กลุ่มคนที่ใช้เครื่องนี้คือเหล่าโสเภณีและนักพนัน ซึ่งไม่ต้องการจะจ่ายเงินหรือรับเงินต่อหน้าผู้อื่น และลูกค้ากลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีมากพอที่จะทำให้เครื่องรับจ่ายเงินนี้แพร่หลาย
แต่ในปลายยุค 60 (พ.ศ.2503-2512) โลกก็ได้เปลี่ยนไป เทคโนโลยีกำลังขยายตัวและได้รับความนิยม จำนวนประชากรก็เพิ่มมากขึ้น และต่างก็ต้องการความสะดวกสบาย
เมื่อเป็นอย่างนี้ เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติจึงเริ่มเป็นที่สนใจ
ในปีค.ศ.1967 (พ.ศ.2510) “จอห์น เชพเพิร์ด-แบร์รอน (John Shepherd-Barron)” นักประดิษฐ์ชาวสก็อตแลนด์ กำลังนอนแช่ในอ่างอาบน้ำ และเกิดปิ๊งไอเดียบางอย่างขึ้นมา
“หากว่าตู้หยอดเหรียญสามารถแจกจ่ายช็อกโกแลตให้ลูกค้าที่หยอดเหรียญได้ แล้วทำไมจะมีเครื่องจ่ายเงินบ้างไม่ได้ล่ะ?”
ธนาคารบาร์เคลย์ส (Barclays) ในประเทศอังกฤษสนใจไอเดียนี้ และตู้เอทีเอ็มจากไอเดียของแบร์รอนเครื่องแรกก็ถูกติดตั้งในประเทศอังกฤษ
จอห์น เชพเพิร์ด-แบร์รอน (John Shepherd-Barron)
เอทีเอ็มเครื่องแรกนี้ไม่ได้รับบัตรเอทีเอ็มที่ทำจากพลาสติก หากแต่รับใบเสร็จที่ลงด้วยหมึกกัมมันตรังสี เพื่อให้เครื่องอ่านค่าบนใบเสร็จ
1
ลูกค้าต้องกรอกรหัส และเครื่องจะจ่ายเงิน โดยจะจ่ายได้แค่ครั้งละไม่เกิน 10 ปอนด์
ต่อมา เครื่องเอทีเอ็มนี้ก็ถูกนำมาติดตั้งในสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) และใช้บัตรเอทีเอ็มพลาสติกเหมือนบัตรเอทีเอ็มในปัจจุบัน
ในปีค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) ธนาคารในสหรัฐอเมริกาแทบจะทั้งประเทศ ต่างสนใจในเอทีเอ็ม และได้ทำการโหมโฆษณาอย่างหนักเพื่อให้ผู้คนสนใจเอทีเอ็ม
2
ในปีค.ศ.1977 (พ.ศ.2520) ธนาคารซิตี้แบงค์ (Citibank) ได้ตัดสินใจเดิมพันครั้งใหญ่ ด้วยการลงทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) เพื่อติดตั้งเครื่องเอทีเอ็มทั่วเมืองนิวยอร์ก
ปรากฎว่าการลงทุนครั้งนี้คุ้มค่า เนื่องจากในเดือนมกราคมปีต่อมา ได้เกิดพายุหิมะใหญ่เข้านิวยอร์ก ทำให้ธนาคารต้องปิดทำการเป็นเวลาหลายวัน ทำให้ยอดการใช้เอทีเอ็มสูงขึ้นถึง 20%
หลังจากนั้น เอทีเอ็มก็แพร่หลายไปทั่วสหรัฐอเมริกา
ในทุกวันนี้มีเอทีเอ็มอยู่ทั่วโลกเกือบสองล้านเครื่อง ถึงแม้ว่าในช่วงหลัง การใช้เอทีเอ็มจะลดลง เนื่องจากการเข้ามาของอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง หรือการทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์ หากแต่เอทีเอ็มก็ยังคงอยู่ และยังเป็นสิ่งที่หลายคนจำเป็นต้องใช้ในทุกๆ วัน
โฆษณา