17 ก.ย. 2021 เวลา 02:06 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วิทยาศาสตร์ของไม้ด่าง
#สู่พิ้งค์คองโกไม้ด่างลวงโลก
(เรียบเรียงโดย ยิ่งยศ ลาภวงศ์)
เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ตลาดไม้ประดับได้ต้อนรับไม้ตัวใหม่ ชื่อ ฟิโลเดนดรอน พิ้งค์คองโก (Philodendron Pink Congo) จากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถูกจัดหมวดหมู่ในกลุ่มไม้ด่าง แม้ไม่มีการเปิดเผยชื่อวิทยาศาสตร์ของพิ้งค์คองโก แต่คนก็คาดกันว่ามันคือต้นด่างของ 𝑃ℎ𝑖𝑙𝑜𝑑𝑒𝑛𝑑𝑟𝑜𝑛𝑒𝑟𝑢𝑏𝑒𝑠𝑐𝑒𝑛𝑠 K.Koch& Augustin หรืออย่างน้อยก็เป็นลูกผสม
1
พิ้งค์คองโกนั้นมีใบอ่อนสีชมพูสดใส ในขณะที่ใบแก่มีสีเขียว ไม้ชนิดนี้เข้ามาตีตลาดได้อย่างง่ายดายด้วยความสวยงามโดดเด่น และกลายเป็นคู่แข่งของ ฟิโลเดนดรอน พิ้งค์ปริ๊นเซส (Philodendron Pink Princess) ที่อยู่ในตลาดมานานกว่า พิ้งค์ปริ๊นเซสนั้นมีลักษณะคล้ายพิ้งค์คองโก แต่มีด่างสีชมพูเป็นหย่อม ๆ บนใบสีเขียว แทนที่จะเป็นสีชมพูทั้งใบ
ฟิโลเดนดรอน พิ้งค์ปริ๊นเซส (Philodendron Pink Princess) ที่มา : https://www.ohiotropics.com/2019/04/19/philodendron-pink-princess/
แต่! ความโป๊ะแตกก็เกิดขึ้นหลังจากที่เหล่าผู้รักต้นไม้ซื้อพิ้งค์คองโกไปเลี้ยงเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ใบที่เคยมีสีชมพูสดใสนั้นได้ค่อย ๆ กลายเปลี่ยนเป็นสีเขียว และใบใหม่ที่ออกมาก็ไม่ได้เป็นสีชมพูแต่อย่างใด ไม้ด่างราคาแพงแปลงร่างเป็นไม้สีเขียวธรรมดาราคาถูก ปรากฏการณ์พิ้งค์คองโกกลายเป็นการ “ย้อมแมวขาย”ที่โด่งดังที่สุดของวงการไม้ประดับ และนำไปสู่การสืบสวนหาที่มาของพิ้งค์คองโก
ก่อนไปตามหาว่าอะไรกันที่ทำให้พิ้งค์คองโกกลายร่างเป็นต้นไม้สีเขียวธรรมดา ลองมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าไม้ด่าง เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
ลักษณะด่างของต้นไม้นั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ต้นไม้บางชนิดมีลักษณะด่างที่ตายตัว อันเนื่องมากจากการควบคุมพันธุกรรมปกติ เช่น ลายด่างของพืชจำพวกคล้า , ต้นไม้บางต้นเกิดอาการด่างอันเป็นผลมาจากการติดเชื้อไวรัส แต่ลักษณะด่างที่เราเห็นในไม้ประดับราคาแพงส่วนใหญ่นั้นเป็นลายด่างที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมของเซลล์บางเซลล์ที่ไม่สามารถสร้างเม็ดสีได้ โดยเฉพาะคลอโรพลาสต์ ทำให้ลักษณะด่างมีลักษณะเฉพาะตัวในแต่ละต้น อาการด่างแบบนี้เรียกว่า ไคมีร่า (Chimeral Variegation)
ใบไม้ที่เกิดอาการด่างไคมีร่า ที่มา : https://propg.ifas.ufl.edu/03-genetic-selection/04-genetic-chimera.html
อาการด่างไคมีร่านั้น เริ่มต้นจากการที่เซลล์เนื้อเยื่อเจริญส่วนยอดบางส่วนมีการกลายพันธุ์ และเมื่อยอดนั้นเจริญต่อไปเป็นใบ เราก็จะเห็นใบปรากฏเป็นด่าง การกลายพันธุ์นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อย และอาจไม่เสถียร นั่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม้ด่างไคมีร่ามีราคาแพง
สำหรับพิ้งค์คองโกนั้นไม่สามารถเรียกได้ว่า “ด่าง” ซะทีเดียว เนื่องจากใบอ่อนของมันไม่ได้มีสีเขียวแซมอยู่เลย อันที่จริงลักษณะใบที่ปราศจากสีเขียวเลย ในภาษาคนเล่นต้นไม้เรียกว่า “เผือก” ซึ่งเป็นลักษณะไม่พึงประสงค์ เนื่องจากใบที่ไม่มีสีเขียวเลยจะไม่สามารถสร้างอาหารได้ สุดท้ายต้นไม้ก็จะอ่อนแอและตาย ไม่สามารถนำมาการขยายพันธุ์ต่อได้ นั่นทำให้นักเล่นต้นไม้หลาย ๆ คนเอะใจตั้งแต่แรกแล้ว ว่าพิ้งค์คองโกดูไม่น่าจะเกิดจากการกลายพันธุ์เหมือนไม้ด่างอื่น ๆ
ในที่สุด เมื่อปี ค.ศ. 2020 นิตยสารออนไลน์ wired.com ได้เผยแพร่บทความเปิดเผยเบื้องหลังของพิ้งค์คองโก โดยพบว่าใบอ่อนสีชมพูนี้เกิดการการเหนี่ยวนำโดยสารเคมีชนิดหนึ่ง (ซึ่งถูกปิดชื่อเป็นความลับเนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบทางการค้า) ที่ทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างเอทิลีน(Ethylene)ในต้นไม้ และเอทิลีนนี้เองที่ไปกระตุ้นการสลายคลอโรฟิลล์ในใบพืชอีกที โดยไปเปลี่ยนใบสีเขียวให้กลายเป็นสีชมพู จุดประสงค์เริ่มแรกในการสร้างต้นไม้ที่มีใบสีชมพูนี้ก็เพื่อประดับตกแต่งสถานที่ชั่วคราวเท่านั้น
1
เอทิลีน(Ethylene) ที่มา : Wikipedia
แม้การเปลี่ยนสีใบของต้นฟิโลเดนดรอนด้วยเอทิลีนนั้นจะไม่ได้ถูกศึกษาและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ แต่กระบวนการนี้ถูกถ่ายทอดกันภายในกลุ่มผู้ผลิตต้นไม้ อย่างไรก็ตาม ความสามารถของเอทิลีนในการเปลี่ยนสีพืชนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เลย แต่มันถูกค้นพบมานานกว่า 30 ปีแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น Woltering (1987) พบว่าเอทีลีนสามารถทำให้ใบของไม้ประดับหลายชนิดเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองได้ หรือการที่ Purvis และ Barmore(1981) พบว่าเอทีลีนที่ถูกผลิตโดยผลส้มที่กำลังสุกนั้น ทำให้ผิวส้มเปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีส้ม เป็นต้น
เอทิลีนทำให้ผิวส้มเปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีส้ม ที่มา : https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0925521410002644
ปัจจุบันเรายังพบพิ้งค์คองโกได้ในตลาดต้นไม้ทั่วไปและเมื่อผู้ซื้อมือใหม่ที่ไม่รู้รายละเอียดพบว่าใบสีชมพูเปลี่ยนเป็นสีเขียวหลังผ่านไป 6 เดือน ถึง 1 ปี ก็อาจมานั่งเสียใจและเสียความรู้สึกในภายหลัง ดังนั้นหากใครมีเพื่อนหรือคนรู้จักที่เริ่มสนใจซื้อไม้ประดับ ก็ช่วยกันบอกต่อเรื่องราวของพิ้งค์คองโกนี้ เพื่อที่จะได้ไม่มีใครพลาดท่าซื้อมาโดยไม่รู้
อย่างไรก็ตามผู้ค้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็มักจะแจ้งลูกค้าก่อนซื้อ ซึ่งเป็นจรรยาบรรณพื้นฐานที่จะทำให้วงการไม้ประดับมีความยั่งยืนต่อไป
อ้างอิง
Frank, M. H., and D. H. Chitwood. 2016. Plant chimeras: The good, the bad, and the ‘Bizzaria’. Developmental Biology 419:41-53. https://doi.org/10.1016/j.ydbio.2016.07.003
Purvis, A. C., and C. R. Barmore. 1981. Involvement of Ethylene in Chlorophyll Degradation in Peel of Citrus Fruits. Plant Physiology 68:854-856.
Woltering, E. J. 1987. Effects of ethylene on ornamental pot plants: A classification. Scientia Horticulturae31:283-294. https://doi.org/10.1016/0304-4238(87)90054-9
โฆษณา