17 ก.ย. 2021 เวลา 02:50 • ความคิดเห็น
ความท้าทายหลังโควิด-19
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
วิกฤติโควิด-19 ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ต้องเข้าไปดูแลประชาชนมากขึ้น บางประเทศถึงขนาดรัฐต้องขอร้องให้คนอยู่แต่ในบ้านโดยมอบค่าใช้จ่ายให้เป็นรายหัว บางประเทศ รัฐจ่ายให้พลเมืองทุกคนด้วยเงินที่เป็นเงินไทยก็ประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน
https://www.openglobalrights.org/our-post-covid-future-should-be-as-much-about-welfare-as-it-is-about-tech/
มีการทำนายทายว่า หลังจากโควิด-19 เบาบางจางลงแล้ว คนอาจจะไม่อยากกลับไปทำงานตามสำนักงาน เพราะเคยชินกับการอยู่บ้าน รวมทั้งชินต่อการได้รับการดูแลจากรัฐบาล
ระบบรัฐสวัสดิการอาจจะกลับมาฮิต แล้วแต่ประเทศไหนจะเลือกใช้รูปแบบรัฐสวัสดิการแบบใด บางประเทศใช้ Universalism หรือเป็นรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า พลเมืองทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการบริการและสิทธิประโยชน์ พลเมืองมีมาตรฐานความเป็นอยู่สูงอย่างเท่าเทียมกัน
ประเทศที่ทำระบบรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าอยู่แล้ว (ก่อนโควิด-19) ก็เป็นประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย มีเดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ และสวีเดน
บางคนเรียกรัฐสวัสดิการแบบในกลุ่มประเทศย่อหน้าที่แล้วว่า แบบนอร์ดิก รัฐบาลหลายประเทศเริ่มสนใจการให้รัฐสวัสดิการแบบนี้ แต่ประชาชนคนเสียภาษีต้องทำใจ เพราะประเทศพวกนี้ รัฐเก็บภาษีสูงมาก คนส่วนใหญ่มีรายได้เท่ากัน ไม่ค่อยมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ถ้าเป็นแบบออสเตรีย เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ มอลตา อิตาลี ไซปรัส ตุรกี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ สเปน และโปรตุเกส ประเทศเหล่านี้จะมีโครงการประกันสังคมและสนับสนุนช่วยเหลือเป็นครอบครัว รัฐไม่เอาเงินภาษีมาแจกผู้คน แต่จะเอามาจากการมีส่วนร่วมอุดหนุนทางการเงินจากสังคม มีการกระจายรายได้ของผู้คนปานกลาง มีอัตราการว่างงานสูง
ถ้าเป็นพวกอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ หรือไอร์แลนด์ รัฐจะเข้ามาช่วยเรื่องความจำเป็นขั้นพื้นฐาน แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าตนอยู่ในข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือจริงหรือเปล่า รัฐช่วยตามความจำเป็นเท่านั้น รัฐใช้เงินด้านสวัสดิการไม่มาก พลเมืองมีระดับความไม่เท่าเทียมกันทางความเป็นอยู่สูง มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาก
เดิมสหภาพโซเวียตและรัฐเครือข่ายประเทศสังคมนิยมดูแลประชาชนเท่าเทียมกัน แต่หลังจากที่โซเวียตล่มแล้ว แต่ละประเทศก็ดูแลประชาชนอย่างแตกต่างกัน เบลารุส เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย รัสเซีย อูเครน ดูแลประชาชนคล้ายกับกลุ่มออสเตรียหรือฝรั่งเศส เงินที่ช่วยประชาชนไม่ได้มาจากภาษี แต่มาจากการอุดหนุนทางการเงินจากสังคมเช่นกัน
ส่วนรัฐของบัลแกเรีย โครเอเชีย เชค ฮังการี โปแลนด์ และสโลวะเกีย ดูแลประชาชนได้ดีกว่าในกลุ่มประเทศย่อหน้าที่แล้ว มีระบบการสร้างความเท่าเทียมกันมากกว่า ส่วนพวกที่สวัสดิการสังคมต่ำย่ำแย่ และรัฐแทบทิ้งประชาชนไปเลยก็เป็นพวกจอร์เจีย โรมาเนีย และมอลดาเวีย คุณภาพชีวิตของคนใน  3 ประเทศนี่ไม่ค่อยดี ผู้คนอยู่กันอย่างตัวใครตัวมัน
โควิด-19 ทำให้คนบางประเทศติดการรอรับความช่วยเหลือจากรัฐ ทำให้คนไม่อยากทำงาน ความกระตือรือร้นไม่มี บางกลุ่มตั้งหน้าตั้งตารอแต่สิทธิประโยชน์จากรัฐ ติดการพึ่งพารัฐ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก บางประเทศมีมาตรการล็อกดาวน์ ผู้คนออกทำมาหากินไม่ได้ รัฐบาลต้องกู้เงินมาใส่มือประชาชน
คณะบุคคลที่มาเป็นรัฐบาลในยุคต่อจากโควิด-19 จะเผชิญกับความยุ่งยากจากหนี้สาธารณะก้อนโต ในขณะที่จะเก็บภาษีได้น้อยลง เพราะคนจะสร้างผลผลิตน้อยลง ถ้ารัฐบาลใดให้ผลประโยชน์น้อยกว่าหรือตัดสิ่งที่รัฐบาลในยุคโควิด-19 เคยให้ ก็จะถูกเปรียบเทียบและขาดความนิยมง่าย การประท้วงรัฐของประชาชนจะมีมากขึ้น
ก่อนหน้ายุคโควิด-19 การให้ความช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุนของรัฐของประเทศต่างๆ มักจะให้กับคนป่วย คนพิการ คนลาคลอดบุตร ผู้สูงวัย คนตกงาน คนบาดเจ็บจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ฯลฯ
แต่หลังจากยุคโควิด-19 ไม่ใช่แล้วครับ
ถึงแม้คนที่ไม่ได้อยู่ในข่ายข้างต้น ก็ยังเรียกร้องเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุนเช่นเดียวกัน.
1
โฆษณา