17 ก.ย. 2021 เวลา 03:21 • ธุรกิจ
Insider Trading ในหุ้นของบริษัทที่สามก็ได้หรือ?
เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา SEC ได้ฟ้องจำเลยฐาน Insider Trading ด้วยการเอาข้อมูลบริษัท A จะซื้อกิจการบริษัท B ที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน แต่ตัวจำเลยเอาข้อมูลนั้นไปซื้อหุ้นของบริษัท C ทำกำไร อ้าว! แบบนี้ก็เป็นความผิดด้วยหรือ?
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก blog.olymptrade
ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจก่อนว่า กฎหมายหลักทรัพย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่มีเรื่องของ Insider Trading โดยตรง คดีเกี่ยวกับ Insider Trading ทั้งหมดเป็นผลจากการตีความกฎหมายที่ห้ามไม่ให้มีการหลอกลวงกันในการซื้อขายหุ้นหรือที่เรียกว่า Anti-fruad เพราะฉะนั้น จึงมีการสร้างหลักต่าง ๆโดยคำพิพากษาขึ้นมา
กฎหมายที่ใช้คือ Rule 10b-5 ซึ่งออกตามมากกว่า 10(b) the Securities Exchange Act 1934 ซึ่งบัญญัติว่า
“17 CFR § 240.10b-5 Employment of manipulative and deceptive devices.
It shall be unlawful for any person, directly or indirectly, by the use of any means or instrumentality of interstate commerce, or of the mails or of any facility of any national securities exchange,
(a) To employ any device, scheme, or artifice to defraud,
(b) To make any untrue statement of a material fact or to omit to state a material fact necessary in order to make the statements made, in the light of the circumstances under which they were made, not misleading, or
(c) To engage in any act, practice, or course of business which operates or would operate as a fraud or deceit upon any person,
in connection with the purchase or sale of any security.”
ก็จะเห็นว่า Rule 10b-5 ไม่ได้พูดถึง Insider Trading ไว้เลย คดีที่เป็นบรรทัดฐานคือคดี SEC v. Texas Gulf Sulphur Co. ซึ่งเป็นเรื่องของบริษัท Texas Gulf Sulphur ได้สำรวจพบแหล่งแร่กำมะถันจำนวนมหาศาล โดยในขณะที่ยังไม่เปิดเผยผลการสำรวจนี้ กรรมการและพนักงานของบริษัทได้แอบไปซื้อหุ้นไว้ เมื่อประกาศผลการค้นพบแหล่งแร่ดังกล่าวออกมา ราคาหุ้นของบริษัท Texas Gulf Sulphur ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้กรรมการและพนักงานที่ไปซื้อหุ้นต่างทำกำไรได้ไปตาม ๆ กัน SEC จึงได้ฟ้องร้องบุคคลเหล่านี้ต่อศาล
ศาลได้วินิจฉัยว่า บุคคลใดที่ได้ครอบครองข้อมูลภายในอันเป็นสาระสำคัญต่อราคาของหลักทรัพย์ มีทางเลือกคือ เปิดเผยข้อมูลนั้นต่อสาธารณชน หรืองดเว้นการที่จะซื้อขายหุ้นดังกล่าวไว้จนกว่าข้อมูลนั้นจะเปิดเผยต่อสาธารณชน หลักนี้กลายเป็นหลักที่เรียกกันว่า “disclose or abstain”
ข้อมูลที่จะต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนหรืองดเว้นการที่จะซื้อขายหุ้นดังกล่าววันนั้นต้องเป็นข้อมูลที่เป็น “สาระสำคัญ” (material) คือข้อมูลที่เปิดเผยไปแล้วจะมีผลต่อราคาของหุ้น ข้อมูลเกี่ยวกับการค้นพบแหล่งแร่ของบริษัทเป็นข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญการค้นพบแหล่งแร่ขนาดใหญ่ย่อมจะมีผลกระทบต่อราคาซื้อขายหุ้นของบริษัท ดังนั้น การซื้อขายหุ้นของบุคคลที่ล่วงรู้ข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นการซื้อขายหุ้นที่ฝ่าฝืน Rule 10b-5 ส่วนจำเลยที่ได้ซื้อหุ้นหลังจากที่ข่าวดังกล่าวได้ประกาศอย่างเป็นทางการออกไปแล้วจึงไม่มีความผิด
คราวนี้ก็เกิดมีปัญหาว่า ถ้า Insider Trading มิใช่เป็นคนภายในของบริษัท(กรรมการ ผู้ถือหุ้น) อย่างเช่น ถ้ากรรมการไม่ได้ซื้อหุ้นเอง แต่เอาข้อมูลภายในไปบอกนายเพชร แล้วนายเพชรพ่อไปซื้อขายหุ้นได้กำไรอย่างนี้ นายเพชรจะมีความผิดหรือไม่?
ศาลได้ตัดสินไว้หลายคดีว่า การเอาข้อมูลภายในไปบอกคนอื่น ทั้งสองคนนั้น(คือคนบอกกับคนฟัง ภาษากฎหมายฝรั่งเรียกว่า Tipper-Tipee) มีหน้าที่ต้องไม่ไปซื้อขายหุ้นเพราะข้อมูลนั้นเช่น
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  securitiesfrauddefense
คดี Dirks v. SEC., Dirks เป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้รับข้อมูลจากคนภายในบริษัทให้วิเคราะห์ข้อมูลว่า สินทรัพย์ของบริษัทได้มีการบันทึกไว้ในราคาเกินจริงหรือไม่ โดยที่ผู้ให้ข้อมูลไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะซื้อขายหุ้นแต่อย่างใด แต่ต้องการหาความจริงเพื่อไปพิสูจน์ว่ามีการทุจริตหรือไม่ ฝ่าย Dirks วิเคราะห์แล้วเห็นว่าราคาของสินทรัพย์เกินจริงก็แจ้งกับผู้ให้ข้อมูลนั้นมาไป แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไปขายหุ้นของบริษัทนั้นเสียเพราะตอนนี้รู้แล้วว่าบริษัทบันทึกราคาสินทรัพย์เกินจริง ศาลตัดสินว่า Dirks มีความผิดฐาน Insider Trading เพราะไปขายหลักทรัพย์โดยได้รับข้อมูลจากบุคคลภายใน
คดี Shapiro v. Merrill Lynch, Pierce, Fenner & Smith, Inc. บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นผลร้ายต่อบริษัทมา ก่อนที่ข้อมูลนั้นจะประกาศต่อสาธารณชน บริษัทหลักทรัพย์แห่งนั้นก็เอาข้อมูลนั้นไปบอกลูกค้าบางคนของตนให้ขายหลักทรัพย์นั้นเสียก่อน ศาลตัดสินว่า บริษัทหลักทรัพย์มีความผิดฐาน Insider Trading
ปัญหามีต่อไปว่า ถ้าคนที่ได้รับทราบข้อมูลนั้นไม่ได้เป็นคนภายใน คือไม่ได้มีคนไปบอกข้อมูลให้โดยตรง แต่บังเอิญได้ยินหรือได้ฟังมาแล้วไปซื้อหุ้น อย่างนี้จะมีความผิดหรือไม่?
ศาลได้ตัดสินไว้ในคดี United States v. O'Hagan ซึ่งเรื่องของสำนักงานกฎหมาย Dorsey & Whitney ได้มอบหมายจากบริษัท Grand Metropolitan ให้เป็นที่ปรึกษากฎหมายในการทำคำเสนอซื้อหุ้นของบริษัท Pillsbury ต่อประชาชน (Tender Offer) O'Hagan ซึ่งเป็นทนายความคนหนึ่งของสำนักงานนี้และไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานเสนอซื้อหุ้นครั้งนี้ได้ทราบเรื่องเข้าจึงแอบไปซื้อหุ้นของบริษัท Pillsbury เอาไว้และขายได้กำไรเมื่อการเสนอซื้อหุ้นได้ประกาศต่อสาธารณชนแล้ว ศาลตัดสินว่า O'Hagan มีความผิดตามกฎหมายเพราะมีการใช้ข้อมูลที่ได้มาโดยมิชอบแม้จะมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานที่สำนักงานทำก็ตาม
หลักที่ศาลใช้ในการตัดสินคดีนี้เป็นหลักที่เรียกว่า Misappropriation Theory คือการใช้ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญอันมีผลต่อราคาหุ้นหาผลประโยชน์ ซึ่งตามหลักของ Insider Trading เมื่อผู้ใดได้ข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญที่มีผลต่อราคาหุ้นมาก็จะต้องงดเว้นไม่ซื้อขายหุ้นดังกล่าวหรือรอจนกระทั่งได้มีการเปิดเผยข้อมูลนั้นต่อสาธารณชนแล้ว
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก corporatefinanceinstitute
ตามกฎหมายไทยคือพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ. 2535 ก็ได้นำหลักเหล่านี้มาบัญญัติไว้ ในมาตรา 242 ก็ห้ามมิให้บุคคลใดซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในที่เกี่ยวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์กระทำการดังต่อไปนี้
(1) ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น และ
(2) เปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมและไม่ว่าด้วยวิธีใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าผู้รับข้อมูลอาจนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น
ในมาตรา 243 กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา 242
(1) กรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมกิจการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์
(2) พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งหรือสายงานที่รับผิดชอบข้อมูลภายในหรือที่สามารถเข้าถึงข้อมูลภายใน
(3) บุคคลซึ่งอยู่ในฐานะที่สามารถรู้ข้อมูลภายในอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษากฎหมาย ผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน หรือบุคคลอื่นใดที่ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายใน และให้รวมถึงพนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ร่วมงานของบุคคลดังกล่าว ที่อยู่ในตำแหน่งหรือสายงานที่มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายในนั้น
(4) กรรมการ อนุกรรมการ ผู้แทนนิติบุคคล ตัวแทน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษา หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ สำนักงาน ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ หรือศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งอยู่ในตำแหน่งหรือฐานะที่สามารถรู้ข้อมูลภายในอันได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน
(5) นิติบุคคลซึ่งบุคคลตาม (1) (2) (3) หรือ (4) มีอำนาจควบคุมกิจการ
จะเห็นว่าในกฎหมายไทยก็ได้ยอมรับหลักที่กล่าวมาโดยนำมาบัญญัติรวมกันไว้ แต่ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบกฎหมาย Civil Law ดังนั้น จึงมิได้มีการอธิบายไว้ว่าหลักที่นำมาเขียนเป็นกฎหมายนั้นมีเหตุผลที่มาอย่างไร
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก amny
คราวนี้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม SEC ได้กล่าวหานาย Matthew Panuwat ด้วยข้อหา Insider Trading กล่าวคือ บริษัท Pfizer กำลังเตรียมการเพื่อเข้าซื้อบริษัท Medivation นาย Matthew ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ Medivation ได้ทราบเรื่องนี้เข้า แต่แทนที่จะไปซื้อหุ้นของ Medivation เหมือนอย่างคดี Insider Trading อื่น ๆ กลับไปซื้อหุ้นของบริษัท Incyte แทน
ที่นาย Matthew ไปซื้อหุ้นบริษัท Incyte ก็เพราะว่าบริษัท Incyte จะได้รับประโยชน์จากการซื้อกิจการในครั้งนี้ และก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เมื่อข่าวเรื่องการซื้อกิจการได้มีการประกาศต่อสาธารณชน หุ้นของ Incyte ก็มีราคาสูงขึ้น 8% นาย Matthew ก็เลยขายทำกำไรไป
SEC ก็เลยฟ้องนาย Matthew ฐาน Insider Trading ในฐานะที่นาย Matthew เป็นลูกจ้างของบริษัท Medivation จึงมีหน้าที่ที่จะต้องไม่ใช้ข้อมูลของบริษัทเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
การที่ SEC เอาเรื่องกับนาย Matthew ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ได้ข้อมูลซึ่งเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับการซื้อกิจการของ 2 บริษัท แต่จำเลยไปทำกำไรจากบริษัทที่ 3 แทน อย่างนี้ยังจะถือว่าทฤษฎี Misappropriation จะถูกตีความขยายไปยังบริษัทที่ 3 หรือเปล่า? ก็รอติดตามผลของคดีกันต่อไป
"กฎหมายบริษัทและหลักทรัพย์"
ข่าว ความเห็น และข้อสังเกตเกี่ยวกับกฎหมายบริษัท(Corporate Law)และกฎหมายหลักทรัพย์(Securities Law)
ติดตามได้ที่
โฆษณา