17 ก.ย. 2021 เวลา 06:00 • ธุรกิจ
“เอเวอร์แกรนด์” ยักษ์ใหญ่อสังหาจีน เสี่ยงล้มพร้อมหนี้ 10 ล้านล้าน ลามวิกฤตซับไพรม์เอเชีย
เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ประชาชนจีนกว่าร้อยคนบุกเข้าอาคารสำนักงานใหญ่ของกลุ่มบริษัท "เหิงต้า" หรือ "ไชน่าเอเวอร์แกรนด์" พร้อมเรียกร้องให้บริษัทคืนเงินลงทุน หุ้นกู้ และเงินดาวน์โครงการต่างๆ หลังมีข่าวแพร่สะพัดว่า บริษัทกำลังประสบ "ปัญหาทางการเงิน" มีหนี้สินสูงถึง 1.97 ล้านล้านหยวน (ราว 10 ล้านล้านบาท หรือราว 3.56 แสนล้านดอลลาร์) ถือเป็นธุรกิจเอกชนที่มีหนี้มากที่สุดในโลก
เอเวอร์แกรนด์ เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของจีนและเป็นหนี้สินมากที่สุดในโลก บริษัทนี้กำลังเผชิญภาวะล้มละลายหลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และการไล่ซื้อกิจการต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
วิกฤติสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องของเอเวอร์แกรนด์ ทำให้เกิดความกลัวว่า บริษัทจะผิดนัดชำระหนี้ และก่อให้เกิดความเสี่ยงในวงกว้างต่อระบบการเงินของจีน
เอเวอร์แกรนด์นั้นใหญ่แกรนด์แค่ไหน ว่ากันว่าก็คงขนาดที่ว่าหากล้มละลาย จะเกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของประเทศ และอาจรวมถึงโลกด้วย เป็นเหตุให้หลายฝ่ายจับตามองว่ารัฐบาลจีนจะยื่นมือเข้าอุ้มธุรกิจหรือไม่
1
Xu Jiayin บิ๊กบอสเอเวอร์แกรนด์ (Photo: Feature China/Barcroft Media ,Getty Images)
>>> 1.เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) คือใคร? <<<
เอเวอร์แกรนด์ หรือ ไชน่าเอเวอร์แกรนด์ เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำอันดับ 2 ของแดนมังกร มีการดำเนินธุรกิจมากกว่า 1,300 โครงการในกว่า 280 เมือง เมื่อพิจารณาจากรายได้ จากข้อมูลของ Fortune 500 บริษัทมีพนักงานมากกว่า 123,000 คน และมีรายได้รวม 7.35 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020
ไชน่าเอเวอร์แกรนด์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1996 โดยนักธุรกิจมหาเศรษฐี "สวี่เจียหยิ่น" ปัจจุบันเขาได้รับการจัดอันดับจากฟอร์บส์ ให้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 3 ในประเทศจีน และเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดอันดับที่ 31 ของโลก
สวี่เจียหยิ่น วัย 62 ปี มหาเศรษฐีที่สร้างฐานะด้วยตัวเอง เขาเติบโตจากความยากจนในชนบท มาเป็นเจ้าของอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์
ที่ผ่านมาเขาพยายามต่อสู้เพื่อกอบกู้กลุ่มบริษัทของเขาจากหนี้มหาศาล แต่ในที่สุด การประกาศลาออกจากตำแหน่งประธาน เอเวอร์แกรนด์ เรียลเอสเตท กรุ๊ป (Evergrande Real Estate Group) เมื่อวันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ของสวี่ ก็ยิ่งย้ำให้เห็นภาพของต้นหนที่สละเรือซึ่งกำลังใกล้จะจม
(Photo : Shutterstock)
>>> 2. เอเวอร์แกรนด์ ทำอะไร-ที่ไหน? <<<
ในขณะที่กิจการส่วนใหญ่ของเอเวอร์แกรนด์เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทได้เริ่มดำเนินการกระจายความเสี่ยงไปยังกิจการนอกกลุ่ม
โดยเอเวอร์แกรนด์เข้าซื้อสโมสรฟุตบอลกว่างโจว เอฟซี (เดิมคือกวางโจว เอเวอร์แกรนด์)
และยังเข้าไปในอุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่ม มีทั้งกิจการน้ำแร่และอาหารที่กำลังเฟื่องฟูด้วยแบรนด์ Evergrande Spring
1
นอกจากนี้ ยังสร้างสวนสนุกสำหรับเด็ก ซึ่ง “มโหฬาร” กว่าของค่ายดิสนีย์ คู่แข่ง
เอเวอร์แกรนด์ ยังลงทุนในภาคการท่องเที่ยว ดิจิทัล อินเทอร์เน็ต ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ และกิจการประกันภัย รวมทั้งกิจการรถยนต์ไฟฟ้า (Evergrande Auto) ทั้งที่ไม่เคยทำการตลาดยานพาหนะใดๆ เลย
1
>>> 3. เอเวอร์แกรนด์ มีปัญหาอะไร? <<<
ปัญหาของเอเวอร์แกรนด์ คือ "หนี้สิน" กลุ่มบริษัทกล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ หนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.97 ล้านล้านหยวน (ราว 10 ล้านล้านบาท) และเตือนถึง “ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หากบริษัทผิดนัดไม่สามารถชำระหนี้”
ขณะที่ผู้รับเหมาและซัพพลายเออร์หลายรายบ่นว่าไม่ได้รับเงินตรงเวลา มีข่าวเจ้าหนี้ต่าง ๆ ของยักษ์ใหญ่รายนี้พากันฟ้องผิดนัดชำระหนี้ตลอดมา
ปีที่แล้ว มีจดหมายภายในรั่วไหลระบุว่า สวี่ เจียหยิ่น ประธานบริษัท กำลังขออนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อปรับโครงสร้างใหม่ จนตลาดตื่นตระหนก แม้ว่าภายหลัง บริษัทจะบอกว่าเป็นข่าวเท็จก็ตาม
1
(Photo: Shutterstock)
>>> 4. การล่มสลายของเอเวอร์แกรนด์ จะก่อให้เกิดวิกฤตในเอเชียหรือไม่? <<<
ปกติรัฐบาลจีนจะมีการตั้งฉายาเรียกกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีหนี้สินและความเสี่ยงทางการเงินมหาศาล แต่ผู้รับผิดชอบมองไม่เห็นสัญญาณ หรือเห็นแต่คิดว่าไม่สำคัญ ว่าเป็นบริษัทประเภท “แรดสีเทา” และ “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์” เคยถูกพูดถึงหลายครั้งว่าเป็น “แรดสีเทาตัวยักษ์ของจีน”
ผู้เชี่ยวชาญเคยเตือนเรื่องหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลกรายนี้เสมอ และถกเถียงคาดการณ์กันว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคหรือไม่หากบริษัทนี้ล่มสลาย
1
วิกฤตหนี้สินทั่วโลกของ เอเวอร์แกรนด์ มีมากกว่า 3.56 แสนล้านดอลลาร์ บริษัทเป็นผู้ออกพันธบัตรในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐรายใหญ่ที่สุด แต่ปัจจุบันพันธบัตรเอเวอร์แกรนด์กลายเป็นพันธบัตรขยะที่นักลงทุนเพียงไม่กี่รายต้องการถือในตอนนี้
1
ฮิลลาร์ด แม็คเบธ ผู้เขียน When the Bubble Bursts ได้โพสต์ไว้ในบล็อกของ Richardson Wealth ว่า “พันธบัตรเอเวอร์แกรนด์ที่จะครบกำหนดในปี 2568 ปัจจุบันราคาซื้อขายต่ำกว่า 40 เซนต์ ซึ่งหมายความว่าตลาดเชื่อว่ามีโอกาสน้อยที่เอเวอร์แกรนด์จะสามารถชำระหนี้ได้”
(Photo : Shutterstock)
ปัญหาหนี้ที่พอกพูนมหาศาลทำให้หน่วยงานจัดอันดับเครดิต ลดความน่าเชื่อถือเอเวอร์แกรนด์ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจาก B- เป็น CCC (สองระดับ) ในวันที่ 5 สิงหาคม ขณะเดียวกันก็ลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของธนบัตรดอลลาร์สหรัฐที่ออกโดยเอเวอร์แกรนด์ จาก CCC+ เป็น CC-
S&P กล่าวว่า สถานะสภาพคล่องของเอเวอร์แกรนด์ลดลงอย่างรวดเร็วและมากกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้
“ความเสี่ยงจากการไม่ชำระเงินของบริษัทกำลังทวีความรุนแรงขึ้น ไม่เพียงแต่สำหรับพันธบัตรสาธารณะที่จะถึงครบกำหนดในปี 2565 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินเชื่อธนาคารและทรัสต์ และหนี้สินอื่นๆ ในอีก 12 เดือนข้างหน้าด้วย”
(Photo: Shutterstock)
ก่อนหน้านี้ นักลงทุนได้เคยพูดเรื่องฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของจีนมานานแล้ว และหากเอเวอร์แกรนด์ล่มสลายจริง … ตลาดโลกก็ย่อมตกต่ำเช่นกัน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม "ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน" และ "คณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารและการประกันภัยแห่งประเทศจีน" ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ไม่ปกติ ในการกระตุ้นให้เอเวอร์แกรนด์ลดความเสี่ยงด้านหนี้สิน โดยแถลงการณ์ระบุให้เอเวอร์แกรนด์ต้อง "กระจายความเสี่ยงด้านหนี้สินอย่างแข็งขัน และรักษาเสถียรภาพของอสังหาริมทรัพย์ และตลาดการเงิน”
ฝ่ายบริหารของเอเวอร์แกรนด์ตอบรับคำสั่งรัฐ โดยมีความคืบหน้าบางประการในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไชน่าเอเวอร์แกรนด์ กำลังเจรจากับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเสี่ยวหมี่ เพื่อขายหุ้นในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่ประสบผลสำเร็จกับการเจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่เพื่อขยายสินเชื่อ แต่ขนาดของหนี้สินมีมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องดำเนินการอีกมากเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่หลายคนกลัวว่าจะเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อตลาดโลก
>>> 5. เลห์แมน บราเธอร์ส ของจีน? <<<
ตำนานวิปโยค "เลห์แมน บราเธอร์ส" (Lehman Brother) วาณิชธนกิจระดับโลก ที่ประกาศล้มละลายครั้งใหญ่หลวงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ก่อให้เกิกวิกฤตซับไพรม์ปี 2008 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเลห์แมนขาดทุนมหาศาลจากการลงทุนในสินเชื่ออสังหาฯ
คำถามคือ กำลังจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับประเทศจีนหรือไม่?
1
นักวิเคราะห์มองว่า มีสาเหตุที่คล้ายๆ กันเกิดขึ้นกับเอเวอร์แกรนด์ คือ การกู้มาลงทุน เติบโตด้วยหนี้ล้วนๆ นี่คือต้นเหตุที่นำพาไปสู่หายนะอย่างแท้จริง ทุกอย่างเริ่มต้นในช่วงเวลาตลาดขาขึ้น ความโลภเริ่มเข้าครอบงำ จึงก่อหนี้ท่วมจนสภาพคล่องต่ำ โดยเฉพาะการใช้เงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ซึ่งมักได้มาจากการกู้ยืมโดยใช้เครดิตความน่าเชื่อถือ
การขาดความระมัดระวังต่อแผนการลงทุน ประมาทเพราะช่วงแรกคือช่วงที่อะไรๆ ก็ดูดีไปหมด จนเมื่อขาดทุน ขาดสภาพคล่อง เงินสดยังแทบไม่มี
การขยายตัวอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างบ้าคลั่งด้วยหนี้จำนวนมาก เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เอเวอร์แกรนด์อยู่ในสถานะอันตรายเช่นนี้
เดวิด ลิลเวล-สมิธ ผู้เขียนร่วมของ The Great Crash of 2008 ที่กำลังจับตาดูบริษัทจีนรายนี้ กล่าวว่า
“เอเวอร์แกรนด์เคยเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของจีน ตอนนี้เป็นอาคารที่โยกเยกอย่างไม่น่าเชื่อ และมีพันธมิตรธุรกิจน้อยลง”
ลิลเวล-สมิธ ยังเน้นย้ำถึงบางสิ่งที่คนวงในของอุตสาหกรรมหลายคนสงสัยมานาน โดยเขากล่าวเป็นนัยว่า
“หนี้ 3 แสนล้านเหรียญนี้ อาจทำให้เอเวอร์แกรนด์เป็นวิปโยคเลห์แมน บราเธอร์สของจีน เป็นหนี้ขยะใต้ดินให้กับคู่สัญญาจีนและทั่วโลก ซึ่งอาจรวมถึงตลาดคริปโตเคอร์เรนซี หนี้มหาศาลเช่นนี้ มีแต่รัฐบาลจีนเท่านั้นที่สามารถอุ้มทนความเจ็บปวดได้”
1
ที่มา: MGRonline
โฆษณา