17 ก.ย. 2021 เวลา 14:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
"คู่กรรม" บาดแผลของสงครามโลก ต่อ เศรษฐกิจและชีวิตคน
2
คู่กรรม บาดแผลของสงครามโลก ต่อ เศรษฐกิจและชีวิตคน
คู่กรรม เป็นหนึ่งในนิยายชื่อดังของคุณทมยันตี ที่ถูกสร้างเป็นละครและหนังอยู่หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักของอังศุมาลิน กับนายทหารญี่ปุ่นโกโบริ โดยมีฉากหลัง คือ สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กำลังปะทุอยู่
แม้ว่าคู่กรรมจะพยายามสร้างภาพจำต่อทหารญี่ปุ่นและสงครามไปในแง่ดีกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ยังมีความจริงอีกด้านหนึ่งที่ไม่ควรถูกลบลืมไป นั่นคือ บาดแผล และความสูญเสียที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งยังคงเหลือร่องรอยให้เราได้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้
2
วันนี้ Bnomics จึงอยากจะเล่าเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ในยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เผื่อใครที่กลับไปดูคู่กรรมอีกครั้ง อาจจะได้รับมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม
📌 การเข้ามาของกองทัพญี่ปุ่นและเงินเฟ้อ
เดือนเมษายนปี 1942 กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 6 ประเทศ ประกอบด้วย พม่า ไทย มาลายา (รวมสิงคโปร์) อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้เป็นฐานสนับสนุนที่สำคัญ ทั้งด้านเสบียง วัตถุดิบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปิโตรเลียม
กฎหมายแรกของญี่ปุ่นที่ตราขึ้นหลังจากยึดครองประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ คือ การปรับค่าเงินเยนใหม่ รวมทั้งควบคุมระบบการธนาคาร
โดยกระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้ผูกค่าเงิน 1 หน่วยของประเทศนั้นๆ ให้เท่ากับ 1 เยน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนปี 1937 ทำให้เงินเยนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 35% - 101% เมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมส่งผลให้สินค้าในประเทศเหล่านี้ดูมีราคาถูกสำหรับญี่ปุ่น
สำหรับไทย เมื่อยอมตกลงเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นแล้ว ก็ได้ถูกตัดขาดความสัมพันธ์จากประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ และมีอำนาจการต่อรองต่ำเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น ทางญี่ปุ่นจึงได้บังคับให้ไทยลดค่าเงินบาทไปกว่า 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับเยน
ขณะเดียวกันก็ได้กู้เงินจากรัฐบาลไทยเพื่อไปเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในกองทัพ ตั้งแต่สงครามเริ่มต้นยันสิ้นสุด ญี่ปุ่นเป็นหนี้อยู่ที่ราวๆ 1,500 ล้านบาท ถามว่าเยอะแค่ไหน ก็สามารถเทียบดูได้จากงบประมาณไทยในปี 1943 ซึ่งยังอยู่ที่เพียง 278 ล้านบาทเท่านั้น
เมื่อญี่ปุ่นกู้เงินไทย ขณะที่ไทยมีรายได้น้อยลงพอดี เนื่องจากรายได้จากภาษีศุลกากรน้อยลง เพราะมีการค้าขายกับประเทศต่างๆ ได้น้อยลง ทำให้รัฐบาลไทยต้องพิมพ์ธนบัตรขึ้นมาเพิ่ม
ส่งผลให้ในช่วงสงครามมีเงินบาทหมุนเวียนในระบบมากกว่าปกติถึง 7 เท่า ทั้งๆ ที่ขณะนั้น สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลนและค่าเงินที่อ่อนลง ด้วยเหตุนี้ จึงยิ่งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างควบคุมไม่อยู่ จากข้อมูลพบว่าเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ค่าครองชีพของไทยสูงขึ้นกว่า 10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 1938
ผลของเงินเฟ้อและการขาดแคลนสินค้า ไม่ได้ส่งผลต่อสินค้าฟุ่มเฟือยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสินค้าจำเป็น อาทิ สบู่ ไม้ขีดไฟ ยารักษาโรค จนตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคข้าวยากหมากแพง อย่างแท้จริง
📌 ปัญหาสิทธิมนุษยชนในช่วงสงคราม
ตอนที่ญี่ปุ่นเรืองอำนาจช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีปัญหาต่างๆ ตามมาอีกหลายประการ หนึ่งในนั้น ก็คือ การปฏิบัติต่อผู้หญิงระหว่างช่วงสงคราม ในประเทศที่ญี่ปุ่นเข้าไปยึดครองดินแดน ซึ่งยังคงฝังลึกอยู่ในความทรงจำของผู้ที่ได้ผลกระทบมาจนถึงทุกวันนี้
4
ส่วนไทย แม้จะไม่ได้เป็นสมรภูมิรบเหมือนพม่าและฟิลิปปินส์ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังติดอยู่ประวัติศาสตร์ของไทยจนทุกวันนี้ คือ การที่ทางการไทยมีส่วนสนับสนุนในการสร้างทางรถไฟไทย-พม่า หรือที่ทุกวันนี้รู้จักกันในชื่อ “ทางรถไฟสายมรณะ”
4
แรงงานที่มาก่อสร้างทางรถไฟในตอนนั้นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดประมาณ 200,000 กว่าคนคือ แรงงานในท้องถิ่น มีทั้งแรงงานที่ถูกจ้างมาด้วยความสมัครใจ หรือถูกบังคับมา คนกลุ่มนี้มักจะเป็นชาวพม่า ทมิฬ รวมถึงไทยด้วย ส่วนอีกกลุ่มคือ เชลยศึกจากหลายๆ ประเทศ ทั้งอังกฤษ ออสเตรเลีย และทหารชาวดัตช์
คนเหล่านี้ได้ถูกบังคับให้ทำงาน ซึ่งด้วยเส้นทางที่ทุรกันดาร ชุกชุมด้วยเชื้อโรค และความเร่งรีบในการก่อสร้าง ทำให้แรงงานและเชลยศึกจำนวนมากเสียชีวิตลงระหว่างก่อสร้างทางรถไฟแห่งนี้ ถึงขนาดที่มีคำเปรียบเปรยว่า “ไม้หมอนรองรางรถไฟหนึ่งท่อน เท่ากับศพเชลยหนึ่งชีวิต” ซึ่งก็คงไม่เกินจริงนัก
หลังจากสงครามจบลง ผู้ที่รอดชีวิต ได้นำเรื่องราวที่เกิดขึ้นออกมาบอกกล่าวสู่โลกภายนอก ให้ทุกคนได้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากสงคราม เรื่องราวดังกล่าวจึงได้ถูกถ่ายทอดมาเป็นหนังสือและภาพยนตร์ให้คนรุ่นหลังรับรู้ จนถึงทุกวันนี้
บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ผู้ซึ่งพรางกายในฐานะพ่อค้าผู้มากับแม่น้ำ โดยได้ช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลเอาไว้
ส่วนเชลยศึกที่เสียชีวิตระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะ บางส่วนถูกนำร่างไฟฝังไว้ที่สุสานสัมพันธมิตรดอนรัก ซึ่งคุณทมยันตีได้เดินทางไปเยือนสุสานแห่งนี้ในปี 1965 กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เธอ ในการเขียนเรื่องคู่กรรมในเวลาต่อมา
สุสานสัมพันธมิตรดอนรัก
เมื่อวันเวลาผ่านไป ความรุนแรง และภาพจำของสงครามที่ถูกบอกเล่าจากมุมมองของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ในเหตุการณ์หนึ่งๆ ย่อมมีทั้งด้านดีและไม่ดีเกิดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรถูกลบลืมไปจากสงคราม คือ ชีวิตของคนนิรนามเหล่านี้ที่ต้องเสียชีวิตลงก่อนเวลาอันควรจากสงคราม ที่ทำให้เราตระหนักว่าสุดท้ายแล้วสงครามล้วนนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของทุกฝ่าย
2
เราคงไม่สามารถนำแนวคิดปัจจุบันไปตัดสินเรื่องราวในอดีตได้ว่าใครผิดใครถูก บทความนี้เองก็ไม่ได้ต้องการชี้ในเรื่องดังกล่าว แต่ต้องการนำเสนอข้อเท็จจริง เพราะสิ่งที่เราสามารถทำได้ คือ รับรู้ประวัติศาสตร์ให้ครบทุกด้าน ไม่เลือกจดจำประวัติศาสตร์แต่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง นั่นจะทำให้เราทุกคนสามารถเรียนรู้อดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน และนำไปปรับใช้กับอนาคต และจะช่วยให้เราทุกคนไม่ต้องวนกลับมาเผชิญกับสิ่งเหล่านี้อีก
2
#คู่กรรม #ทมยันตี #สงครามโลก
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference
Reynolds, E. B. (1990). Aftermath of Alliance: The Wartime Legacy in Thai-Japanese Relations. Journal of Southeast Asian Studies, 21(1), 66–87. http://www.jstor.org/stable/20071131

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา