17 ก.ย. 2021 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“Digital Nomad” กับความหวังของภาคท่องเที่ยว หลังรัฐออกเกณฑ์วีซ่าใหม่
3
Digital Nomad กับความหวังของภาคท่องเที่ยว
📌 ท่องเที่ยวไทยน่าเป็นห่วงและคงไม่ฟื้นอีกสักพัก
โควิดกระทบตลาดท่องเที่ยวอย่างมากในปีที่ผ่านมา ยอดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลดลงจาก 40 ล้านคน ในปี 2019 เป็น 6.7 ล้านคน ในปี 2020 และรายได้จากภาคการท่องเที่ยวลดลงจาก 3 ล้านล้านบาท เป็น 3.3 แสนล้านบาท โรงแรมจำนวนมากทุกทิ้งร้างว่างเปล่า มีห้องพักโรงแรม 4-5 ดาว ที่ปกติราคาหลักหมื่นขายอยู่ในราคาพันต้นๆ จำนวนมาก ไม่น่าแปลกใจที่โรงแรมขนาดเล็กจะทยอยปิดตัวลง โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ยากจะแข่งขันกับโรงแรมใหญ่ๆ ที่ลดราคาลงมา
2
📌 การกลับมาของนักท่องเที่ยว
1
ขณะนี้ แม้ภูเก็ต Sandbox เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของภาคการท่องเที่ยว แต่หนทางที่ต้องเดินจนถึงปลายอุโมงค์นั้นยังอีกยาวไกลนัก จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมมีนักท่องเที่ยวสะสมรวม 26,400 คน หรือเฉลี่ยราว 400 กว่าคนต่อวัน เทียบเป็นเพียง 1% ของอัตรานักท่องเที่ยวที่เข้ามาเดิมที่ระดับ 43,000 ต่อวัน
ในช่วงก่อนโควิด ซึ่งหากเมืองหลักอย่างภูเก็ตยังมี Capacity เท่านี้คงไม่ต้องพูดถึงจังหวัดเมืองรองอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในแผนที่เดินทางหลักของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ล่าสุดกระทรวงการคลังได้คาดการณ์ว่าจนถึงสิ้นปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้จะมี 300,000 ราย จากเดิมที่ประมาณการไว้ 2 ล้านราย ซึ่งตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้คิดเป็นไม่ถึง 1% ของยอดนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านรายในปี 2562
นอกจากนี้ แม้ตัวเลขการติดเชื้อรายวันของประเทศไทยจะเริ่มหักหัวลง หากดูในภาพรวมของตัวเลขการติดเชื้อทั่วโลกแล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมรายวันยังคงไม่ลดลง แต่อย่างใดหลังจากหลายประเทศประสบปัญหาจาก Delta Variant และปัจจุบันก็มี MU Variant ที่เริ่มมีผู้ติดเชื้อในประเทศต่างๆ จากเดิมที่แพร่ระบาดในอเมริกาใต้ ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักโดยเร็ว
โรงแรมในปัจจุบันมีอัตราการเข้าพักน้อยกว่า 8% ซึ่งยังห่างไกลกับระดับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ 65% ในช่วงก่อนโควิดอีกมาก และจากตัวเลขการประมาณการของ ททท. ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในกรณีดีที่สุดจะอยู่ที่ 18 ล้านคน และในกรณีเลวร้ายอาจอยู่ที่ 10 ล้านคน ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 4 หรืออย่างดีที่สุดจะเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 2562 ในช่วงปี 2565 คำถามที่น่าสนใจ คือ แล้วหากเราอยู่ในภาคท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเราจะทำอย่างไร การทำธุรกิจเพื่อบริการ Digital Nomad อาจเป็นหนึ่งในคำตอบ
📌 ดิจิทัลโนแมด คือใคร
ดิจิทัลโนแมด คือ กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตเดินทางท่องเที่ยวและทำงานไปพร้อมๆ กัน โดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือหลักในการหารายได้ โดยอาจมีธุรกิจออนไลน์ของตน เป็นฟรีแลนซ์ หรือ ทำงานโปรเจคต่างๆ ของบริษัทที่สามารถทำงานผ่านทางออนไลน์ได้ เช่น เขียนโปรแกรม งานการตลาด งานออกแบบ เป็นต้น
1
กลุ่มโนแมดเหล่านี้ อาจเดินทางและไปทำงานในประเทศต่างๆ ไปเรื่อยๆ จนอาจเลิกเช่าและขายบ้านในประเทศของตน และอาจเลือกประเทศที่ตัวเองชอบ เพื่อเป็นฐานหลักในการทำงานผ่านทางออนไลน์และท่องเที่ยวไปในพื้นที่ใกล้เคียงที่สนใจ โดยในแต่ละสถานที่ ที่ทางโนแมดได้ตัดสินใจไปอยู่เพื่อพักระยะยาวนั้นอาจจะเริ่มจากหลักการพักหลายสัปดาห์จนกระทั่งเกิน 6 เดือนไป และในการใช้ชีวิตแบบโนแมดที่เปลี่ยนสถานที่และทำงานไปเรื่อยๆในเมืองต่างๆ นั้น ก็จะมีโนแมดที่ใช้ชีวิตในลักษณะนี้เพียงปีสองปี ไปจนถึงมากกว่า 10 ปี โดยโนแมดส่วนใหญ่มาจากประเทศมาจากประเทศพัฒนาแล้วในแถบตะวันตก และอยู่ในช่วงวัย Millenials ตั้งแต่ 20 ต้นๆ ถึง 30 ปลายๆ
1
📌 ทำไมการให้บริการ Digital Nomad ถึงน่าสนใจ
ดิจิทัลโนแมดส่วนมากมาจากประเทศแถบตะวันตก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้จากผล Survey ของ MBO Partners นั้นคาดการณ์ว่าจะมี Digital Nomad เฉพาะในสหรัฐอเมริกาจำนวน 10.9 ล้านคนเพิ่มขึ้นเกือบ 50% จาก 7.3 ล้านคน ในขณะที่มีประชากรอีก 19 ล้าน ที่กำลังวางแผนที่จะเป็น Digital Nomad ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า และหากเรานำตัวเลขกำลังแรงงานสหรัฐอเมริกานั้น มีสัดส่วนแรงงานราว 27% ของประเทศรายได้สูงทั่วโลก ไปประมาณจำนวนดิจิทัลโนแมดทั่วโลกด้วยสัดส่วนเดียวกัน โนแมดทั่วโลกจะมีประมาณ 40 ล้านคนในปัจจุบัน ซึ่ง Digital Nomad ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์โควิด
3
ด้วยสถานการณ์โควิดที่ทำให้หลายๆ ประเทศจำเป็นต้องล็อคดาวน์เป็นระยะเวลายาวนานหลายเดือนและต้องรักษาห่างในพื้นที่สาธารณะ บริษัทหลายบริษัทก็ได้อนุญาตให้พนักงาน Work From Home หรือแม้การที่พนักงานจะทำงานผ่าน Staycation จากที่พักในโรงแรมต่างๆ การจองที่พัก ซึ่งจากศึกษาของทาง Airbnb เองก็เริ่มแสดงให้เห็นเทรนด์ของความต้องการของการพักระยะยาวมากขึ้น ซึ่งความต้องการของการพักระยะยาวมากกว่า 28 วันนั้นเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในไตรมาสแรกของปี 2021 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2020
3
ด้วยความสามารถของดิจิทัลและเทคโนโลยี ในปัจจุบันทำให้ผู้คนสามารถสื่อสารและประชุมผ่านทางออนไลน์กับเพื่อนร่วมงานและลูกค้าได้ด้วยประสบการณ์ที่เสมือนอยู่ในห้องประชุมเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ และสำหรับหลายคนก็เริ่มมีความคิดที่ว่าการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอาจไม่จำเป็นอีกต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะเทรนด์การจ้างงานในสายไอทีและดิจิทัล ที่ในปัจจุบันมีหลายบริษัทก็ระบุ ในประกาศหางานว่าที่ไม่ต้องให้พนักงานต้องเข้าออฟฟิศ โดย Facebook เองก็ได้อนุญาตให้พนักงานของประจำของบริษัทสามารถเลือกที่จะทำงานจากที่บ้านได้และ Mark Zuckerburg เองก็เตรียมที่จะใช้เวลากว่าครึ่งหนึ่งในปี 2022 ทำงานจากภายนอกออฟฟิศ
ด้วยกระแสการทำงานจากภายนอกออฟฟิศที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ และความเคยชินของพนักงานหลายๆ คน ที่ได้ทำงานจากที่บ้านในช่วงโควิด ในปัจจุบันกลุ่มดิจิทัลโนแมดส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นเจ้าของธุรกิจทางออนไลน์ แต่หลังโควิดน่าจะมีพนักงานประจำของบริษัทหลายแห่งที่เริ่มมาใช้ชีวิตเป็นดิจิทัลโนแมด และทำให้จำนวนดิจิทัลโนแมดน่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากและตลาดการให้บริการกลุ่มโนแมดเหล่านี้จะเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจ
2
📌 ดิจิทัลโนแมด มองหาอะไร
นอกจากบรรยากาศและของเมืองที่สวยงามและวัฒนธรรมที่น่าสนใจแล้ว ตวามต้องการหลักของโนแมด คือการสร้างสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวพร้อมกับการทำงานผ่านทางออนไลน์ในระยะยาว
2
เพื่อตอบโจทย์การทำงาน โนแมดมองหาสถานที่ทำงานที่มีอินเตอร์เน็ท WiFi ที่ดี โดยการมีพื้นที่ Co-Working Space และ Coffeeshop ต่างๆ ที่มี WIFi ที่มีสัญญานที่แรงและครอบคลุมตลอดเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะ Digital Nomad นั้นต้องพึ่งอินเตอร์เน็ตในการทำงานและหารายได้ของพวกเค้า
3
การควบคุมค่าใช้จ่ายรายเดือนก็เป็นอีกเรื่องที่โนแมดให้จึงความสำคัญอย่างมาก ค่าที่พัก ค่าอาหารและบริการต่างๆ จึงต้องไม่แพงจนเกินไป
 
การสร้างสังคมโดยเฉพาะกับกลุ่มชาวต่างชาติ โดยเฉพาะดิจิทัลโนแมดด้วยกันก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะในระหว่างการท่องเที่ยวและเดินทางโนแมดก็ต้องการที่สร้างเพื่อน พบปะสังสรรค์ และหาเพื่อนในการร่วมเดินทางหรือทำงานไปด้วยกัน ดังนั้นหลายๆ ที่จึงมีกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทริปการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม หรือกิจกรรมผจญภัยต่างๆ การเดินป่า หรือการดำน้ำ รวมทั้งการจัดกลุ่มคลาสโยคะ เป็นต้น
1
นอกจากนี้ ดิจิทัลโนแมด ยังมักเลือกประเทศที่ตัวเองชอบที่จะอยู่อาศัยเป็นฐานที่จะพักในระยะยาวและอาจเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มเติมไปในจังหวัดและประเทศรอบๆ การที่มีกิจกรรมต่างๆ และการแนะนำสถานที่อื่นๆไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้นก็จะช่วยให้ดิจิทัลโนแมดตัดสินใจอยู่พักอาศัยยาวขึ้น
ความสะดวกในการขอวีซ่าและการจัดการด้านความปลอดภัย ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญสำหรับโนแมด ระบบความปลอดภัยบริเวณรอบที่พักและการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ รวมทั้งหากมีบริการในการอำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าต่างๆ ก็จะช่วยให้ Digital Nomad สะดวกที่จะใช้เมืองไทยเป็นฐานมากขึ้น
📌 ประเทศไทย...สวรรค์โดยธรรมชาติของ Digital Nomad
1
ไม่ว่าจะทำงานไป จิบกาแฟชมทิวหมอกไปที่เชียงใหม่ หรือทำงานไปชมทะเลสวยๆ ริมหาดไปที่เกาะพะงัน เสน่ห์และภูมิทัศน์ของประเทศไทยนั้นเป็นสวรรค์ของเหล่าโนแมด โดยประเทศไทยมีหลายเมืองที่เป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ของชาวโนแมดทั่วโลก เช่น
จังหวัดกรุงเทพ...ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นเมืองใหญ่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมาก เป็นฮับในการเดินทางในภูมิภาค และค่าครองชีพที่ยังไม่สูงมากจนเกินไปแล้ว
1
จังหวัดเชียงใหม่...ก็เป็นอีกจังหวัดที่มีทั้งชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย (Expat) อยู่จำนวนมากจึงมีบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของชาวต่างชาติอยู่แล้วเป็นทุนเดิม จึงเป็นอีกหนึ่งเมืองเป้าหมายของกลุ่มดิจิทัลโนแมดที่ชอบเที่ยว ภูเขา น้ำตกและสนใจวัฒนธรรมของวัดวาอาราม
ขณะที่ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาอีกสถานที่ ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากโนแมด คือ เกาะพะงันและเกาะลันตา โดย เกาะลันตา นอกจากจะอยู่ใกล้ หินแดง หินม่วง หนึ่งในจุดดำน้ำอันดับต้นๆ ของเอเชียแล้ว Kohub Co-Working บนเกาะก็มีชื่อเสียงอย่างมากเช่นกัน ด้วยความสำเร็จในการจัดบรรยากาศการทำงาน และ สร้างคอมมิวนิตี้ให้กับกลุ่มดิจิทัลโนแมดผ่านกิจกรรมต่างๆ ในขณะที่เกาะพะงัน ก็มี Co-working Space อย่าง Beach hub ที่สามารถให้โนแมดทำงานจากริมชายหาดได้เลย
3
📌 โอกาสในธุรกิจจาก Digital Nomad
การที่โนแมดเข้ามาพักอาศัยเป็นระยะเวลาหลายเดือนต่อปี จะทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจจำนวนมากทั้งในทางตรงและทางอ้อม แม้โนแมดให้ความสำคัญอย่างมากในการบริหารค่าใช้จ่ายต่างๆ
โดยเฉพาะกลุ่มโนแมดที่รายได้ไม่มากซึ่งจาก Survey ของ MBO Partners โนแมดจากสหรัฐ 26% มีรายได้น้อยกว่า 25,000 เหรียญสหรัฐต่อปี แต่ขณะเดียวกันก็มีโนแมดกลุ่มใหญ่ๆ ที่มีรายได้และกำลังซื้อ โดย 38% ของโนแมดนั้นมีรายได้มากกว่า 75,000 เหรียญสหรัฐต่อปี หรือกว่า 2 แสนบาทต่อเดือน และน่าจะมีกำลังในการจ่ายค่าอยู่อาศัยและกิจกรรมต่างๆ ของตัวเอง รวมหลายหมื่นบาทหรือแสนบาทต่อเดือน
การที่โนแมดเข้าใช้ชีวิตเป็นระยะเวลาหลายเดือนก็จะเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในด้านต่างๆ เช่น
1) ธุรกิจการให้บริการที่พักและ Co-working Space รวมทั้งบริการอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ
2) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในการสร้าง Community ต่างๆ เช่น การจัดกรุ๊ปทัวร์ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรมและเชิงแอดเวนเจอร์ เช่น เดินป่า ปีนเขา หรือดำน้ำ การจัดคลาสเรียนต่างๆ เช่น การทำอาหาร คลาสออกกำลังกาย โยคะ รวมถึงการจัดอีเวนต์ต่างๆ เพื่อให้โนแมดสามารถ สังสรรค์ ปาร์ตี้ และสร้างเครือข่ายร่วมกัน
3) ธุรกิจที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขนส่งและเดินทาง เช่น การให้เช่ารถ การทำเอกสารขออนุญาตต่างๆ หรือการต่ออายุวีซ่า เป็นต้น
📌 ตัวอย่างของ Estonia กับความสำเร็จในการดึงโนแมด สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล และสตาร์ทอัพ
เอสโตเนีย ประเทศเล็กๆ ในทวีปยุโรปที่มีประชากรเพียงกว่า 1.3 ล้านคน ได้เริ่มการดึงดูดบุคลากรและบริษัทด้านดิจิทัลเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้วโดยได้จัดตั้งโครงการ E-Residency เพื่อดึงดูดให้บริษัทต่างๆ เข้าไปตั้งบริษัทในเอสโตเนีย ได้โดยสามารถสมัครผ่านทางออนไลน์และตั้งบริษัทผ่านทางออนไลน์และเนื่องจากเอสโตเนีย นั้นอยู่ในประเทศ Schengen ของ EU ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถขยายตลาดไปในกลุ่มประเทศยุโรปได้ ซึ่งกลุ่มดิจิทัลโนแมดที่เป็นเจ้าของธุรกิจของตนเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย และเมื่อปีที่แล้ว เอสโตเนียเองก็เพิ่งได้ออกโครงการ Digital Nomad Visa เพื่อให้อำนวยความสะดวกให้กับ Digital Nomad เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถทำงานในเอสโตเนีย ได้โดยไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตทำงานเป็นระยะเวลา 1 ปี
2
โครงการ E-Residence ของเอสโตเนีย ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยจนถึงปัจจุบันเอสโตเนียมี E-Residence กว่า 70,000 รายและมีบริษัทที่จัดตั้งผ่านโครงการกว่า 15,000 บริษัท ซึ่งความสำเร็จในการดึงดูดบุคลากรและบริษัทด้านดิจิทัลของเอสโตเนียก็ทำให้ประเทศเอสโตเนีย สามารถต่อยอดการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศ รวมทั้งเกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะระหว่างบริษัทที่มาจดทะเบียนและจัดตั้งที่ Estonia และบุคลากรภายในประเทศจนปัจจุบันเอสโตเนียมีสตาร์ทอัพมากกว่า 1,000 บริษัท
สำหรับประเทศไทยเอง เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาทางครม. ได้เห็นชอบแพ็คเกจดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย โดยหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่ม Digital Nomad โดยให้สิทธิ์วีซ่าอายุ 10 ปี และใบอนุญาตการทำงานอัตโนมัติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย สำหรับชาวต่างชาติที่มีรายได้ปีละ 80,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือ 40,000 ดอลล่าร์ต่อปีหากจบปริญญาโท โดยเกณฑ์ใหม่นี้จะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับกลุ่มโนแมดที่ต้องการเข้ามาทำงานจากประเทศไทยมากขึ้น
1
📌 Agoda หนึ่งในความสำเร็จของประเทศไทย
Agoda ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำในตลาดการจองห้องพักในเอเชียแปซิฟิก นั้นก็มีจุดเริ่มต้นจากการที่ CEO และ ผู้ก่อตั้งของบริษัท เข้ามาท่องเที่ยวพร้อมกับทำงานในประเทศไทยและถูกใจในประเทศไทย จนได้ก่อตั้งบริษัท ที่ปัจจุบันแม้จะเป็นบริษัทระดับนานาชาติแล้วออฟฟิศที่ใหญ่ที่สุดของ Agoda ที่มีพื้นที่กว่า 13,000 ตรม. ก็ยังอยู่ในประเทศไทย และมีจ้างงานหลายพันตำแหน่ง ซึ่งการจ้างงานก็เป็นโอกาสที่บุคลากรไทยจะได้มีโอกาสร่วมงานและเรียนรู้กับบุคลากรจากทั่วโลกที่เข้ามาทำงานที่ Agoda
4
ในอนาคตหากประเทศไทยสำเร็จในการดึงดูดดิจิทัลโนแมดให้เข้ามามากขึ้น กลุ่มโนแมดเหล่านี้ที่มักจะพักอาศัยในแต่ละที่เป็นระยะเวลาหลายเดือน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ท่องเที่ยวจำนวนมากให้กับประเทศ (ในเรื่องนี้ หากลองคิดเร็วๆ ว่า ปกตินักท่องเที่ยวอยู่กันประมาณคนละ 3.5 คืน แต่ถ้าโนแมด 1 คนมาอยู่ทั้งปี ก็เท่ากับนักท่องเที่ยว 100 คน หมายความว่า ถ้าเรามีโนแมดมาอยู่ไทย 1 แสนคน ก็จะสามารถทดแทนนักท่องเที่ยวไปได้ 10 ล้านคน!!)
1
สำหรับ Startup บางรายที่ประสบความสำเร็จจนสามารถตั้งและบริษัทได้อย่างกรณีของ Agoda ก็จะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพและช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลให้กับประเทศได้อย่างดียิ่ง
1
#DigitalNomad #Nomad #เกณฑ์วีซ่าใหม่ #Agoda #Estonia #DigitalNomadVisa
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
1
ผู้เขียน : ธนวัฒน์ พฤกษานานนท์ Tech & Innovation Advisor, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา