Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Sarakadee Lite
•
ติดตาม
18 ก.ย. 2021 เวลา 03:04 • ข่าว
UNESCO ขึ้นทะเบียน "พื้นที่ดอยเชียงดาว" จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก
ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับการขึ้นทะเบียนพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกและนับเป็นแห่งที่ 5 ในเมืองไทย นั่นก็คือพื้นที่ดอยเชียงดาว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวสายแทรคกิ้งและเป็นที่ตั้งของ “ดอยหลวงเชียงดาว”
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2021 สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก- UNESCO) ได้ประกาศให้พื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย เป็น 1 ใน 22 พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ประจำปี 2021 ตามมติของที่ประชุมสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Co-ordinating Council on the Man and the Biosphere Programme: MAB-ICC) ครั้งที่ 33 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน 2564 ณ เมืองอาบูจา สาธารณรัฐไนจีเรีย
พื้นที่ดอยเชียงดาว มีเนื้อที่รวมกว่า 536,931 ไร่ เป็นที่ตั้งของ “ดอยหลวงเชียงดาว” หนึ่งในยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวมีระบบนิเวศที่โดดเด่น คือ ป่าเปิดระดับสูง (Subalpine vegetation) ซึ่งพบได้ไม่กี่แห่งในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นระบบนิเวศที่บ่งชี้ความเชื่อมต่อทางระบบนิเวศในแนวเทือกเขาหิมาลัยและจีนตอนใต้ ทำให้พื้นที่นำเสนอนี้เป็นถิ่นอาศัยของชนิดพันธุ์พืชเฉพาะถิ่นจำนวนมาก
จุดเด่นด้านงานอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ดอยเชียงดาวคือการจัดการพื้นที่คุ้มครองเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า ทั้งนี้การจัดตั้งพื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere) ของ UNESCO ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นการพิจารณารับรอง “ความสำคัญ” ของพื้นที่และการจัดการพื้นที่ที่ยังคงรักษาความหลากหลายของระบบนิเวศ ทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ การสร้างความภาคภูมิใจในถิ่นฐาน จากการได้รับการยอมรับความสำคัญในระดับสากล หวังผลประโยชน์สูงสุดทั้งต่อ มนุษย์ และธรรมชาติ โดยยึดแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งการอนุรักษ์ระบบนิเวศ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน โดยเฉพาะ “ชุมชนท้องถิ่น” การส่งเสริมด้านการศึกษาในฐานะแหล่งเรียนรู้ด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม และส่งต่อความรู้ไปสู่เครือข่ายพื้นที่สงวนชีวมณฑลอื่นๆ ทั่วโลก
อีกจุดเด่นของดอยเชียงดาวที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ภูมิทัศน์ที่เป็นภูเขาหินปูน ระบบนิเวศดั้งเดิมที่ยังคงความสมบูรณ์ และระบบนิเวศป่าไม้ที่ได้รับการฟื้นฟูมาอย่างต่อเนื่อง โดยมี “ดอยหลวงเชียงดาว” เป็นยอดเขาสูง อันดับ 3 ของ ประเทศไทย และเป็นภูเขาหินปูนที่สูงที่สุดในประเทศไทยด้วย อีกทั้งดอยเชียงดาวยังเป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตการส่งเสริมการจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืน และได้รับการดูแลตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
การจัดการพื้นที่คุ้มครองเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า นอกจากกวางผา สัตว์ป่าท้องถิ่น แล้ว ดอยเชียงดาวยังถูกยกให้เป็น สวรรค์ของนักดูนก ในประเทศไทย เพราะมีพบนกนานาชนิด มากกว่า 200 ชนิด รวมถึง “นกไต่ไม้ใหญ่ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” เป็นนกประจำถิ่น ที่อาศัยป่าสนสามใบเป็นถิ่นที่อยู่ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า จำนวน 672 ชนิด จาก 358 สกุล ใน 91 วงศ์ และเป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ กวางผา และเลียงผา
ด้านสภาพทางธรณีวิทยาเป็นหินปูนตั้งอยู่บนพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 2,000 เมตร (จุดสูงสุดของยอดเขาดอยหลวงเชียงดาว สูง 2,225 เมตร) เป็นที่มาของสังคมพืชลักษณะพิเศษไม่เหมือนที่อื่นใด พืชที่เกิดตามสันเขาและบนยอดดอย มีดอกไม้ที่พบที่เดียวในโลก อย่าง “ศรีเชียงดาว” พันธุ์พืช ท้องถิ่นอีกหนึ่งความพิเศษที่รอการค้นพบไม่จบสิ้น ส่วนเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยหลวงเชียงดาวมี ป่าสนสามใบ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การเปิดใช้สถานที่เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ยังคงรักษาสมดุลทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อมไว้ได้
ภาพ : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
อ้างอิง
• กองข่าวกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
• นิตยสารสารคดี ฉบับเดือนธันวาคม 2544 และ ฉบับกรกฎาคม 2547
บันทึก
4
1
4
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย