18 ก.ย. 2021 เวลา 06:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
สวัสดีค่ะ! วันนี้เราจะมาแนะนำ กึ่งตีความหนังเรื่องPortrait of a lady on fire ภาพฝันของฉันคือเธอ
Portrait of a lady on fire
ในงานศิลปะ เรามักจะเสพความงามภายนอกด้วยตา แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปแล้ว งานศิลปะทุกชิ้นย่อมมีความหมายที่ลึกซึ้งแอบแฝงไว้ภายใน ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำ ความในใจ อารมณ์ ความรู้สึก ที่ไม่สามารถสื่อออกมาเป็นคำพูดได้ซ่อนไว้ในงานศิลปะชิ้นนั้นๆ โดยเฉพาะงานภาพportrait ที่คนที่จะสามารถรู้ถึงความหมายเบื้องหลังภาพ ก็คงมีแค่เพียงตัวศิลปิน และคนที่เป็นต้นแบบให้รูปภาพ
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวความรักของผู้หญิงสองคนในช่วงปลายยุคศตวรรษที่สิบแปด ณ เกาะอันเดียวดายแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส จิตรกรหญิง มารียาน ถูกว่าจ้างให้เดินทางมาแอบวาดภาพ เอลูอิส เพื่อให้แม่ของเธอเตรียมเป็นข้อเสนอ ส่งให้ว่าที่เจ้าบ่าวในอิตาลีดูตัว เพราะสมัยก่อนไม่มีการถ่ายรูป จึงต้องพึ่งการวาดภาพเสมือนแทน
Portrait of a lady on fire
แต่ใจจริงเอลูอิสไม่ได้อยากแต่งงาน จึงปั่นป่วนจิตรกรคนอื่นๆ ทำให้วาดภาพออกมาไม่ได้ มารียานเลยต้องแสร้งว่ามาอยู่เป็นเพื่อน เดินเล่นด้วยกัน และจดจำรายละเอียดของเอลูอิสไว้ เพื่อนำไปวาดภาพเสมือน
แม้ว่าตัวละครหลักในเรื่องล้วนเป็นผู้หญิง แต่ก็หนีพ้นอิทธิพลของผู้ชาย หนังเรื่องนี้ยังตีแผ่เรื่องราวของภาวะสังคมชายเป็นใหญ่
ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ เอลูอิส หญิงสาวที่ต้องถูกคลุมถุงชน แต่งงานกับชายที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ทั้งๆที่เธอก็ไม่เต็มใจ แต่ก็ต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ของลูกสาวของตระกูล
มารียาน จิตรกรหญิงที่มีขีดจำกัดในการสร้างสรรค์ผลงาน เพียงเพราะเธอเกิดมาเป็นผู้หญิง และมักจะได้รับคำดูถูก เพราะเป็นจิตรกรหญิงอยู่บ่อยๆ ทุกสิ่งอย่างถูกกำหนดไว้ในกรอบของเพศสภาพ โดยที่ผู้หญิงตกอยู่ใต้อำนาจปิตาธิปไตยมาโดยตลอด
ผู้กำกับหนังหญิง เซลีน เซียมมา ถ่ายทอดเรื่องราวความรักนี้ได้อย่างอ่อนโยน แต่งดงามเหมือนบทกวี เนื่องจากหนังถูกดำเนินเรื่องด้วยมุมมองของจิตรกรหญิงเป็นส่วนใหญ่ จึงมีการบรรยายภาพแบบเรียบง่าย ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เราได้ดื่มด่ำถึงความสัมพันธ์ของตัวละคร ตั้งแต่สายตาที่มองกัน การแตะเนื้อต้องตัว รอยยิ้ม ก่อให้เกิดเป็นความรักที่แสนบริสุทธิ์ และงดงามเหมือนงานศิลปะที่งดงานชิ้นหนึ่ง
Portrait of a lady on fire
ส่วนตัวอยากแนะนำให้ดูเรื่องนี้จริงๆค่ะ นอกจากจะมีเนื้อเรื่องที่ตราตรึงหัวใจ นักแสดงยังถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครออกมาได้ดีมากอีกด้วย พร้อมทิวทัศน์ของเกาะในฝรั่งเศส ดนตรีประกอบสื่ออารมณ์ การใช้ตำนานร่วมในการดำเนินเรื่อง โทนสีที่สว่างอ่อนโยน เป็นภาพยนตร์ที่นิยามคำว่า“ผู้หญิง” ได้อย่างสวยงาม เหมือนกับได้เสพงานศิลปะชั้นดีเลยค่ะ
ต่อไปนี้จะมีเนื้อหาสปอยล์นะคะ!
สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของการบรรยายเนื้อเรื่อง คือ การหยิบยกเรื่องราวโศกนาฏกรรมกรีกมาเล่าเรื่องด้วย
ตำนานเล่าเกี่ยวกับ ออฟีอุส กับหญิงคนรัก ยูรีไดซ์ ที่ได้ตายจากไป ออฟีอุสสามารถอ้อนวอนจนทวยเทพยอมคืนชีพหญิงรักให้ โดยมีข้อแม้ว่าออฟีอุสห้ามหันไปมองยูรีไดซ์ขณะเธอเดินตามหลังเขาขึ้นสู่โลกคนเป็น แต่แล้ว ขณะใกล้สู่ผืนดินโลกมนุษย์ ออฟีอุสกลับหันไปมอง จนวิญญาณของยูรีไดซ์ถูกดึงกลับโลกเบื้องล่างอีกครั้ง
มารียานให้ความเห็นว่า ที่ออฟีอุสเลือกที่จะหันมา เพราะเป็นทางเลือกในฐานะนักกวี(poet's choice) เขาหันเพื่อเลือกความทรงจำล่าสุดของยูรีไดซ์ไว้แทน
ความรักโศกนาฏกรรมนี้เป็นเหมือนภาพสะท้อนความรักของมารียาน และเอลูอิส
ในตอนจบที่ทั้งสองต้องแยกจากกันไปตามเส้นทางของตนเอง มารียานได้พบเอลูอิสอีกครั้งในงานแสดงดนตรีวงออเครสตร้า แต่มีเพียงแค่มารียานที่เฝ้ามองเอลูอิสจากที่ไกลๆ ในฐานะจิตรกรหญิงแน่นอนว่ามารียานเลือกที่จะมองในฐานะนักกวี(poet's choice) ที่จะหันกลับมามองเอลูอิสอยู่เสมอ
มองอีกมุมหนึ่ง เอลูอิสอาจจะไม่ได้มองไม่เห็นมารียาน แต่อาจจะเป็นความประสงค์ของเอลูอิสเอง ที่เลือกจะมองในฐานะคนรัก(lover's choice)ตรงข้ามกับออฟีอุส ที่ไม่ยอมหัน แต่มองตรงไปข้างหน้า โดยยึดจับภาพจำของมารียานบนเกาะแห่งนั้นไว้ข้างหลังเธอเสมอ ให้เสมือนเป็นดั่งวิญญาณยูรีไดซ์ในแบบของเธอเอง ที่จะคอยเก็บติดในใจไว้ตามหลังไปจนปลายทางชีวิต เพื่อรอพบกันอีกครั้งบนผืนดินใหม่เบื้องบนที่จะไม่มีกฏอะไรมาขวางกั้นอีกต่อไป
Portrait of a lady on fire
โฆษณา